“สวทช.”เสริมแกร่งธุรกิจเร่งแปลงงานวิจัยทำเงิน

จากหิ้งสู่ห้าง - งานวิจัยไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรืออยู่แต่บนหิ้ง อีกต่อไป ปีนี้ "สวทช." จึงโชว์ผลงานวิจัยที่นำมาสร้างรายได้ที่ 1,961 ล้านบาท สูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ที่ 1,830 ล้านบาท

“สวทช.” โชว์ผลงานวิจัยปี”60 สร้างรายได้ 1,961 ล้านบาท ย้ำแผนปีหน้าชูนวัตกรรม 5 กลุ่ม “อาหาร-ระบบขนส่ง-สุขภาพ-เคมีชีวภาพและเกษตร” สานต่อโปรแกรม ITAP พร้อมเดินหน้าผลักดัน “เศรษฐกิจชีวภาพ”

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงผลงานในปี 2560 ว่า มีการยื่นขอจดสิทธิบัตร 301 รายการ และถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่การใช้ประโยชน์ 255 โครงการ ให้กับ 311 หน่วยงาน สร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม มูลค่า 27,546 ล้านบาท และเกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของภาคการผลิตและบริการ 9,456 ล้านบาท และสร้างรายได้จากการวิจัยถึง 1,961 ล้านบาท เกินเป้าที่วางไว้ที่ 1,830 ล้านบาท

โดยมีผู้ขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีกว่า 306 รายการ ส่วนการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยี และนวัตกรรม 300% ปีนี้มีการรับรอง 385 โครงการ มูลค่า 1,299 ล้านบาท และโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP ที่ส่งผู้เชี่ยวชาญไปทำงานร่วมกับผู้ประกอบการยังเติบโตต่อเนื่องในปีนี้มี 1,551 โครงการ มูลค่าผลกระทบ 2,573 ล้านบาท และตั้งเป้าจะทำให้ได้ 3,000 โครงการต่อปี

“ภาครัฐให้โอกาส และมีกลไกด้านภาษี รวมทั้งมีการกระตุ้นจากทุกภาคส่วนให้สนใจเรื่องนวัตกรรม ทั้งโครงสร้างพื้นฐานของ สวทช.ก็ดีขึ้น ทำให้เกิดจากการร่วมวิจัย รับจ้างวิจัย และบริการด้านเทคนิค ภาคเอกชนจึงไม่ต้องใช้บริการจากต่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่แค่ค่าใช้จ่ายถูกกว่า แต่ยังลดระยะเวลา ถือเป็นผลพลอยได้ที่ยังไม่คำนวณ”

สำหรับทิศทางปีหน้า สวทช.จะนำความรู้จากศูนย์วิจัยแห่งชาติ ได้แก่ องค์ความรู้ด้านชีววิทยาศาสตร์, วัสดุศาสตร์ นาโนเทคโนโลยี และดิจิทัล เพื่อสนับสนุน 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.อาหารเพื่ออนาคต 2.ระบบขนส่งสมัยใหม่ 3.การสร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตคนไทย 4.เคมีชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ และ 5.นวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน เพื่อช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ

และปรับปรุงระบบ สวทช.ให้มีความคล่องตัวในการร่วมมือกับภาคเอกชน ชุมชน และสังคม รวมถึงเพิ่มการฝึกอบรม โดยมุ่งเน้นไปที่คนรุ่นใหม่หรือทายาทเกษตรกรเพื่อให้เกิดเกษตรกรรมสมัยใหม่ ใช้องค์ความรู้ทางดิจิทัลและการเกษตรมารวมกัน เพื่อให้เกิดความเฉพาะและยั่งยืนและกำลังหารือกับรัฐบาล ซึ่งเรื่องที่ สวทช.อยากผลักดัน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) โดยเก็บพันธุ์พืช สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ไว้เป็นธนาคาร เพื่อป้องกันเมื่อมีการเสื่อมสภาพหรือกลายพันธุ์ เป็นสิ่งพื้นฐานที่ประเทศไทยควรเริ่มลงทุน เชื่อว่าจะทำให้ไทยเป็นฐานสำคัญของโลก เช่นเดียวกับธนาคารจุลินทรีย์ที่ สวทช.ทำร่วมกับรัฐบาล ปัจจุบันเป็นอันดับ 6 ของโลก เพื่อให้เกิดการศึกษาดีเอ็นเอและจีโนม นำมาเพื่อพัฒนาปรับปรุงคุณภาพชีวิต เช่น ยาสมุนไพรไปแทนที่ยาจากสารเคมี เป็นต้น ส่วนผลตอบแทนจากการลงทุนตั้งเป้าว่าต้องมีถึง 5 เท่า โดยปีนี้ทำได้ 4 เท่า คาดว่าปีหน้าจะเป็น 4.5 เท่า

ด้าน ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) เสริมว่า สมุนไพรตอบโจทย์ประเทศได้เยอะ โดยเฉพาะนำไปใช้แทนยาปฏิชีวนะ ทำให้ไม่มีสารตกค้างในสัตว์หรือคน แต่ปัจจุบันสมุนไพรที่ทำยายังไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพหรือตรวจสอบย้อนกลับได้ จึงเป็นสิ่งที่ไบโอเทคต้องโฟกัสเพื่อสร้างเป็นฐานข้อมูลให้ได้มากที่สุด และนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น โดยดูจากแนวโน้มต่างประเทศที่สมุนไพรมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในไทยยังนำมาใช้ได้น้อยมาก และยังไม่มีมาตรฐาน

“เรามีสมุนไพรเยอะ แต่ไม่มีวิธีทำให้เสถียร ต่างประเทศ เช่น สหรัฐ, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย จดไปหมดแล้ว ดังนั้นไทยต้องพาสมุนไพรไประดับโลกให้ได้ โดยกองแพทย์แผนไทยอยากให้เราโฟกัสสมุนไพร อย่างใบบัวบก, ขมิ้นชัน เป็นต้น ปีต่อไปจะเน้นมากขึ้น ครม.กำลังพิจารณาอาจแทรกเป็นงบฯกลาง แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะได้เท่าไร เพราะต้องมีการคุยกับนาโนเทคด้วย เป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ที่ต้องร่วมมือหลายฝ่าย ปีที่ผ่านมาไบโอเทคมีงบฯ 800 ล้านบาท การจัดการทุกอย่าง เช่น มีข้าวสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เป็นต้น”