AIS ผนึก กรุงไทย ต่อยอด เป๋าตัง เปลี่ยนแต้มเป็นเงินสด ปลุกเศรษฐกิจฐานราก

AIS ผนึก กรุงไทย

“เอไอเอส” ผนึก “กรุงไทย” เปลี่ยนคะแนนสะสมใน AIS Points มูลค่ากว่า 1,300 ล้านบาท เป็น “เงินสด” ซื้ออาหารและเครื่องดื่มในร้านค้า “ถุงเงิน” หวังแบ่งเบาภาระคนไทย-กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ

วันที่ 13 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และธนาคารกรุงไทย เดินหน้าขยายผลโครงการ “พอยท์เพย์” ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าเอไอเอสกว่า 45 ล้านราย นำคะแนน AIS Points (ลูกค้าที่อยูในโปรแกรม AIS Points มีกว่า 20 ล้านคน มีคะแนนสะสมรวมกันกว่า 2,600 ล้านคะแนน) มาเปลี่ยนเป็น “เงินสด” เพื่อใช้ซื้อสินค้ากับร้านค้าที่ใช้แอปพลิเคชั่น “ถุงเงิน” ที่มีกว่า 1.6 ล้านร้านค้า (เข้าร่วมโครงการแล้ว 4 แสนร้านค้า)

ปัจจุบันมีการนำคะแนนมาแลกเป็นเงินสดเพื่อซื้อสินค้าแล้ววกว่า 100 ล้านคะแนน คิดเป็นเงินราว 500 ล้านบาท (2 คะแนน=1บาท) โดยทั้งคู่ตั้งเป้าที่จะผลักดันให้มีการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2-3 เท่า และมีร้านค้าเข้าร่วมถึง 1 ล้านร้านค้าภายในสิ้นปี 2565

นายปรัธนา ลีพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส กล่าวว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากปัจจัยต่าง ๆ เริ่มส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการรายเล็ก และกำลังซื้อของผู้บริโภคจึงต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดการหมุนเวียนของรายได้ และแบ่งเบาภาระลูกค้าไปพร้อมกันจึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับธนาคากรุงไทยในในโครงการพอยท์เพย์ ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าใช้คะแนน AIS Points แลกรับส่วนลดเงินสดกับร้านค้าที่ใช้แอปพลิเคชั่นถุงเงินได้

โดยตั้งแต่เปิดให้ใช้มาตั้งแต่ปลายปี 2564 (เดือน ก.ย.) ที่ผ่านมาพบว่ามีการนำคะแนนไปใช้แล้วกว่า 100 ล้านแต้ม หรือคิดเป็นมูลค่าราว 50 ล้านบาท (2 คะแนนเท่ากับ 1 บาท) และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกเป็นสิบเท่า

“เรามีฐานลูกค้าทั่วประเทศกว่า 45 ล้านหมายเลข แต่เข้าร่วมในโปรแกรม AIS Points แล้ว 20 กว่าล้านคน มีคะแนนสะสมกว่า 2,600 ล้านคะแนน ที่พร้อมแปลงเป็นโอกาส และรายได้ให้กับร้านค้ารายย่อย ซึ่งเราตั้งเป้าว่าในสิ้นปียอดใช้จ่ายน่าจะเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า”

สำหรับการสะสมคะแนน AIS Points เกิดจากการซื้อสินค้า และบริการของเอไอเอส โดยทุก 25 บาท จะได้ 1 คะแนน AIS Points)

ปัจจุบันมีร้านค้ารายย่อยที่เข้าร่วมโครงการถุงเงินผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ของธนาคารกรุงไทยกว่า 1.6 ล้านร้านค้า เป็นส่วนที่เป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม 8 แสนร้านค้า และเข้าร่วมในโครงการ “พอยท์เพย์” แล้ว 4 แสนร้านค้า และในสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 1 ล้านร้านค้า

ด้านนายธวัชชัย ชีวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานจัดการทางด้านการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนใช้งานแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ราว 52 ล้านคน และมีผู้ประกอบการร้านค้าที่ใช้แพลตฟอร์มและช่องทางการรับชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน “ถุงเงิน” กว่า 1.6 ล้านร้านค้า ถือว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่มากในระบบเศรษฐกิจ

ขณะที่เอไอเอสมีฐานผู้ใช้มากสุดในประเทศ ความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นการผสานจุดแข็งเพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านร้านค้าถุงเงิน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อยให้มีโอกาสขายสินค้าเพิ่มขึ้น

“เท่าที่สัมผัสพบว่าอุปสรรคสำคัญยังเป็นเรื่องการสร้างการรับรู้ ซึ่งเราและเอไอเอสคุยกันว่าจากนี้ไปจะให้น้ำหนักกับการทำประชาสัมพันธ์ไปยังผู้บริโภค และผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศให้มากขึ้นอีก”

นายธวัชชัยกล่าวด้วยว่า ปกติการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมาจากภาครัฐ และความร่วมมือครั้งนี้จึงถือเป็นหนึ่งในโครงการแรก ๆ ที่เกิดจากเอกชนที่นำโครงการภาครัฐมาต่อยอด และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ต่อไปอาจขยายไปยังร้านขายของชำ และธุรกิจท่องเที่ยว

นายปรัธนาเสริมว่าต้องการผลักดันให้มีร้านค้าเข้าร่วมเป็น 1 ล้านร้านค้า จะทำให้การใช้แต้มเติบโตสูงขึ้นอีก 10 เท่า หรือเป็น 1,000 ล้านแต้ม ซึ่งจะไม่ใช่เป็นการนำคะแนนสะสมของเอไอเอสมาแลกเท่านั้น แต่จะมีพาร์ตเนอร์รายอื่นเข้าร่วมด้วยได้ เช่น นำคะแนนบัตรเครดิตมาแลก AIS Points เพื่อซื้อสินค้าในร้านค้าถุงเงิน เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากการร่วมลงพื้นที่ทดลองระบบและสำรวจร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการบริเวณ ตลาด อตก. พบว่าร้านค้าส่วนใหญ่อยู่บนแพลตฟอร์ม “ถุงเงิน” ที่มีระบบรับเงินจากแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” โดยร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ “AIS Points” จะใช้ถุงเงินในโครงการ “พอยท์เพย์”

สำหรับวิธีใช้ทำได้โดยการเปิดแอปพลิเคชั่น My AIS สามารถสแกนจ่ายแต้มให้ร้านค้าผ่านแอปเป๋าตังได้เลย โดยระบบจะโอนเงินให้ร้านค้าผ่าน “ถุงเงิน” ในวันถัดไปหลังการทำธุรกรรม

พนักงานประจำร้าน “ป้าแป้ว” ร้านขายอาหารแห้งในตลาด อตก. กล่าวว่าระบบใช้งานง่ายไม่มีอะไรซับซ้อน แต่เพิ่งเรามีคนเข้ามาใช้ในวันนี้เป็นวันแรก (13 มิ.ย. 2565) และเพิ่งมีการนำป้าย “เอไอเอส พอยท์” มาติดตั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงมีคนรู้จักไม่มาก

พนักงานในร้าน “อุษา” ที่จำหน่ายเครื่องดื่ม กล่าวว่า ตั้งแต่โครงการคนละครึ่งจบไปก็ไม่ค่อยมีลูกค้ามาใช้แอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” สแกนจ่ายแล้ว อาจเพราะสินค้าที่จำหน่ายในร้านมีราคาถูกเหมาะกับการใช้เงินสดมากกว่า