ย้อนรอย The Merge อนาคตบนทางสองแพร่งของ อีเธอเรียม

ย้อนรอย อีเธอเรียม พลิกเกมโตจากปิดฟ้าด้วยฝ่ามือสู่ “ราชาสมาร์ทคอนแทร็ค” จับตาอนาคตบนทางสองแพร่ง เมื่อบรรดานักขุดจ่อย้ายไปซบอกเครือข่ายเก่า หลัง “เดอะเมิร์จ” ทำเครื่องขุดเป็นหมัน ดันเหรียญ ETC ราคาพุ่ง 220%

วันที่ 31 กรกฎาคม 2565 “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าหลังประกาศกำหนดการอัพเกรดระบบฉันทามติของเครือข่ายหลักของอีเธอเรียม (The Merge Ethereum) ซึ่งเป็นเหรียญคริปโตเคอเรนซีอันดับสองของตลาดทำให้เหรียญสกุลต่าง ๆ บนบล็อกเชนอีเธอเรียมเติบโตอย่างคึกคัก โดยได้รับแรงสนับสนุนจากความชัดเจนกรณีธนาคารกลางสหรัฐที่ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา

ทำให้ตลาดคริปโตฯ พลิกกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง โดยบิตคอยน์ (BTC) เจ้าตลาดราคาพุ่งแตะ 24,000 เหรียญสหรัฐ เป็นครั้งแรกในรอบสัปดาห์ หรือ 9% ใน 7 วัน ขณะที่อีเธอเรียม (ETH) ราคาปัจจุบันเคลื่อนไหวที่ 1,700 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18% ใน 7 วัน อีกเหรียญที่เติบโตอย่างน่าสนใจ คือ Ethereum Classic (ETC) เติบโตกว่า 220%

การเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงของราคา และความเป็นมาของการแยกเครือข่ายอีเธอเรียม และอีเธอเรียมคลาสสิกมีที่มาที่ไปอย่างไร

ไม่ใช่ทุกคนที่ยินดีกับ “เดอะเมิร์จ”

สาเหตุที่ อีเธอเรียม (ETH) เหรียญอันดับสองของตลาดคริปโตฯ โตแรง มาจากการที่นักพัฒนาประกาศกำหนดการอัพเกรด “เดอะเมิร์จ” เมื่อต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาทำให้ ราคา ETH พุ่งจาก 1,030 เหรียญสหรัฐ ไปแตะ 1,780 เหรียญสหรัฐ หรือกว่า 76% เป็นการตอบรับข่าวดีในการพลิกโฉมระบบครั้งใหญ่ของบล็อกเชนที่ได้ชื่อว่า “ราชาแห่งสมาร์ทคอนแทร็ค” ที่สร้างฟังก์ชั่นการใช้งานและแอปพลิเคชั่นมากมาย และยังจุดพลุ Web3.0 ในช่วงปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนจะยินดีกับการอัปเกรดครั้งใหญ่นี้ โดยเฉพาะกลุ่มนักขุดเหมืองคริปโตฯที่ทำหน้าที่ขุดเหรียญอีเธอเรียมมาตลอด 7 ปี (2015-2022) ซึ่งการเปลี่ยนระบบฉันทามติ Proof of Work ไปสู่ Proof of Stake ทำให้นักขุดไม่สามารถใช้เครื่องขุดที่ลงทุนไปมหาศาลช่วยเครือข่ายอีเธอเรียมประมวลผล และยืนยันธุรกรรมได้อีก

จุดเปลี่ยนอันนำไปสู่ทางแยก

กล่าวง่าย ๆ ก็คือการเปลี่ยนระบบดังกล่าวทำให้เครื่องขุดทั้งหมดไร้ประโยชน์ ทำให้บรรดานักขุดและผู้สนันสนุนหลักการ Proof of Work หันความสนใจไปที่ Ethereum Classic (ETC) ซึ่งเป็นเครือข่ายดั้งเดิมของ Ethereum (ETH) ที่ยังยึดมั่นในฉันทามติ Proof of Work แบบเดียวกับเครือข่ายบิตคอยน์ ส่งผลให้ราคาเหรียญ ETC พุ่งขึ้นกว่า 220% นับจากวันที่มีการประกาศกำหนดการของ The Merge Ethereum หรือจาก 13 เหรียญสหรัฐ ในวันที่ 11 ก.ค. พุ่งเป็น 43 เหรียญสหรัฐ และเคลื่อนไหวที่ 39-40 เหรียญสหรัฐ

โดย AntPool กลุ่มเหมืองคริปโตฯ ในเครือ BitMan ที่มีพลังการขุดคริปโตฯ (Hash rate) อันดับหนึ่งของโลก ประกาศสนับสนุนการเติบโตของอีเธอเรียมคลาสสิก ในวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยสนับสนุนเงิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับนักพัฒนาแอปพลิชันให้พัฒนาโครงการต่าง ๆ บนอีเธอเรียมคลาสสิก พร้อมวางแผนที่จะรับชำระค่าเครื่องขุดอีเธอเรียม เป็นสกุล ETC อีกด้วย

ขณะที่นายวิตาลิก บูตริน ผู้ก่อตั้งอีเธอเรียมแสดงความเห็นในการสัมมนาประจำปีของอีเธอเรียม (EthCC) ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมาด้วยว่า “อีเธอเรียมคลาสสิก” เป็นเครือข่าย Proof of work ที่เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักขุด

“มันเป็นเครือข่ายบล็อกเชนที่ดีที่เป็นอีเธอเรียมแบบดั้งเดิม ถ้าคุณชอบหลักการ Proof of Work คุณควรใช้ Ethereum Classic” นายวิตาลิก ย้ำ

ย้อนรอย “ราชาแห่งสมาร์ทคอนแทร็ค”

โครงการอีเธอเรียม เริ่มพัฒนาในปี 2013 โดยโปรแกรมเมอร์ชาวรัสเซีย-แคนาดา ‘วิตาลิก บูตริน’ (Vitalik Buterin) ในปีถัดมาเริ่มระดมทุนและเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2015 ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ต้องการการเชื่อมโยงโครงข่ายคอมพิวเตอร์ให้กลายเป็น “คอมพิวเตอร์ของโลก” ซึ่งแตกต่างไปจากบิตคอยน์และคริปโตเคอเรนซีอื่นขณะนั้นที่ต้องการเป็น “เงิน” หรือตัวกลางแลกเปลี่ยนของโลก

ความต้องการที่จะเป็นคอมพิวเตอร์กระจายศูนย์ข้อมูลของโลก ทำให้โครงข่ายอีเธอเรียมรองรับโปรแกรมหรือการเขียนโค้ดกำกับให้ฝังอยู่บนบล็อกเชนได้ นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า “สัญญาอัจฉริยะ” หรือ “สมาร์ทคอนแทร็ค” ที่นำไปสู่การสร้างโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันต่างๆ มากมาย ที่เรียกว่า Dapp หรือแอปกระจายศูนย์ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนตัวอย่างโปรแกรมในปัจจุบันที่ข้อมูลทั้งหมดอยู่ที่เจ้าของเซิร์ฟเวอร์ คลาวด์ หรือเอกชนที่มีดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม การจะสนับสนุนให้นักพัฒนามาใช้งานอีเธอเรียมต้องมีการระดมทุน ในระหว่างปี 2016 มีการระดมทุนเพื่อสนับสนุนนักพัฒนา Dapp ผ่านโครงการที่ชื่อว่า Ethereum DAO โดยใช้สมาร์ทคอนแทร็คออกโทเค่นเพื่อยืนยันการมีส่วนร่วมในโครงการ Ethereum DAO ระดมทุนได้ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ จากนักลงทุนกว่าหมื่นคน

ต่อมาเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า Ethereum DAO Hack เป็นการโจมตีระบบอีเธอเรียมครั้งใหญ่ และขโมยเงินจากโครงการ Ethereum DAO ไปราว 60 ล้านเหรียญสหรัฐ เหตุการณ์นี้นำมาสู่จุดเปลี่ยนสำคัญ กล่าวคือ เพื่อแก้ไขปัญหา และนำเงินมาคืนนักลงทุน ชุมชนอีเธอเรียมเสนอให้แยกเครือข่ายบล็อกเชน โดยย้อนกลับไปแยกข้อมูลจากบล็อกก่อนหน้าการโดนโจมตีเพื่อนำข้อมูลธุรกรรมหรือนำเงินที่เป็นคริปโตเคอเรนซีกลับคืนมา

นั่นทำให้ชุมชนอีเธอเรียมเสียงแตกเป็นสองฝั่ง โดยมีการระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ดั้งเดิมของบล็อกเชนและวิสัยทัศน์ของอีเธอเรียมที่ต้องการกระจายอำนาจ ไม่ให้มนุษย์แทรกแซงโปรแกรมหรือโค้ดที่วางไว้ การแยกเครือข่ายเพื่อเอาเงินคืนคือการย้อนกลับไปแก้ไขอดีต ทำเหมือนว่าเหตุการณ์โจมตีไม่เคยเกิดขึ้น บิดเบือนความจริง เปรียบได้กับการ “ปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ”

จุดแตกหักเกิดขึ้นเมื่อทีมผู้ก่อตั้งอย่างนายวิตาลิก บูตริน, นายเกวิน วู้ด และนายชาร์ล ฮอร์กินสัน ผู้ร่วมก่อตั้งอีเธอเรียมขณะนั้นได้เดินหน้าแยกเครือข่าย (Hard Fork) โดยใช้ชื่อ Ethereum ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยยังใช้โครงสร้างเดิม ที่เรียกว่า Ethereum Classic

‘อีเธอเรียม’ จึงแยกเป็นสองบล็อกเชนตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา นั่นเป็นครั้งแรกที่ทุกคนเห็นว่าแม้การแก้ข้อมูลบนบล็อกเชนจะทำไม่ได้ แต่การ “แยกเชนใหม่” หรือ “สร้างใหม่” ทำได้ง่าย ด้วยเงินลงทุนที่ได้คืนทำให้อีเธอเรียมมีศักยภาพในการพัฒนาโครงข่ายและแอปพลิเคชั่น ในช่วง 2017 จึงเกิดโครงการต่างๆ จำนวนมากและระดมทุนมหาศาล หรือที่เรียกว่ายุค ICO (Initial Coin Offering) โดยการออก Coins หรือ Tokens-โทเค่นให้กับผู้สนใจบริษัท หรือสตาร์ตอัพที่ต้องการนำไปลงทุนในโครงการ หรือบริการใหม่ ๆ ซึ่งมีทั้งเรื่องจริงและเรื่องหลอกลวง (Scammer) จำนวนมาก

การเติบโตของ ICO ตรงกับวัฏจักรสี่ปีของบิตคอยน์ (Bitcoin Halving) ที่เป็นขาขึ้นใหญ่ปี 2016 ถึงต้นปี 2017 ทำให้เกิดการเก็งกำไรมหาศาล กระทั่งในปลายปี 2017 ฟองสบู่ ICO แตก
คงเหลือแต่บางโครงการที่ยังดำเนินอยู่ถึงปัจจุบัน แต่กระนั้นศักยภาพสมาร์ทคอนแทร็คของอีเธอเรียมได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถพัฒนาต่อและใช้งานได้ดี

ต้นกำเนิด “เดอะเมิร์จ”

ในราวปี 2019-2020 นักพัฒนาอีเธอเรียมได้สร้าง Dapp จำนวนมากและที่ทำให้เกิดการตื่นตัวรอบใหญ่ คือการพัฒนาแพลตฟอร์ม Defi (Decentralized Financial) โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม Uniswap ที่กลายเป็นต้นแบบให้นักพัฒนาหลายคนคัดลอกโค้ดไปพัฒนาแอป Defi จนมีหลายร้อยแพลตฟอร์มในหลายสิบบล็อกเชน

นอกจากนี้ อีเธอเรียมยังได้ให้กำเนิดเทคโนโลยี NFT สำหรับใช้ในด้านต่าง ๆ จนเป็นการจุดพลุ Metavese ผ่านแพลตฟอร์มโลกเสมือน และเกม play to earn ตลอดจนสร้างกระแส Web3 ถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาที่เกิดขึ้นจำนวนมากบนอีเธอเรียมทำให้บล็อกเชนมีปัญหา 3 เรื่องที่เป็นคอขวดและไม่สามารถแก้ไขได้ (Blockchain trilemma ) 1.ความแออัดของธุรกรรม 2. ค่าธรรมเนียมแพง จากการแย่งกันประมวลผลของเครือข่ายและราคาของเหรียญ ETH ที่ใช้เป็นค่าแก๊สหรือค่าธรรมเนียมสูงขึ้นมาก และ 3.ความปลอดภัยของเครือข่าย กล่าวคือยิ่งมีการพัฒนาแอปมาก การโดนโจมตีจากตัวแอปยิ่งมีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย

กลุ่มคนที่มองเห็นปัญหาเหล่านี้ล่วงหน้าจึงได้แยกออกมาสร้างบล็อกเชนสายสมาร์ทคอนแทรคของตนเอง เช่น นายเกวิน วู้ด ผู้ร่วมก่อตั้งอีเธอเรียม ออกมาสร้างบล็อกเชน Polkadot หรือกรณีนายชาร์ล ฮอร์กินสัน ผู้ร่วมก่อตั้งอีเธอเรียมอีกรายที่สร้างบล็อกเชน Cardano โดยใช้ระบบฉันทามติ proof of stake ที่อีเธอเรียมยังทำไม่ได้ บล็อกเชนสมาร์ทคอนแทร็คเหล่านี้มุ่งมั่นแทนที่อีเธอเรียมหรือ Ethereum Killer

นอกจากนี้นักพัฒนาอีกหลายกลุ่มต่างก็พัฒนาเครือข่ายสมาร์ทคอนแทร็คของตนเองอย่างหลากหลายไม่เว้นแม้แต่ของไทยอย่าง เช่น Bitkub Chain หรือ Jfin Chain เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม บล็อกเชนสมาร์ทคอนแทร็คจำนวนมากยังต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า EVM (Ethereum Virtual Machine) เป็นเครื่องมือให้นักพัฒนานำไปใช้งานเพื่อให้เข้ากันได้กับอีเธอเรียมที่ได้รับความเชื่อถืออย่างมาก จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าอีเธอเรียมยังครองตำแหน่ง “ราชาแห่งสมาร์ทคอนแทร็ค” จนถึงปัจจุบันที่กำลังจะเดินไปยังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งสู่ระบบ Proof of Stake

ข้อควรระวัง

การเติบโตของ ‘อีเธอเรียม คลาสสิก’ หลังนักขุด และนักพัฒนาวางแผนการย้ายมาใช้งานเครือข่ายนี้ แม้อาจดูหวือหวามีอนาคต แต่ต้องไม่ลืมว่าเครือข่ายดังกล่าวยังไม่มีแอปพลิเคชั่นที่คนนิยมใช้งานมาก

สำนักข่าว Cointelegraph รายงานว่าแม้ราคาของ ETC จะเพิ่มขึ้น 200% หลังข่าว The Merge แต่จำนวนบัญชีหรือแอดแดรสของ ETC ที่ใช้งานรายวัน มีประมาณ 53,000 แอดเดรส ขณะที่อีเธอเรียมมีสูงถึง 763,000 แอดเดรส

ทั้งยังระบุด้วยว่าความแตกต่างของแอดเดรสที่ใช้งานรายวัน และจำนวนแอปพลิเคชั่นหรือโครงการที่กำลังพัฒนามีเพียงน้อยนิด แสดงให้เห็นว่าราคา ETC ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้นเป็นเพียงการเก็งกำไร ดังนั้น ETC จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ “Sell the news” หลังการอัพเกรด The Merge จึงควรระมัดระวัง และจับตามองกันต่อไป

อ้างอิงข้อมูลจาก
Ethereum chain split is possible after the Merge, survey finds — But will ETC price keep climbing? (cointelegraph.com)