เครือข่ายสถาบันยาง-กยท.หนุน “บึงกาฬโมเดล” แก้ปัญหาราคาตกต่ำ

เมื่อวันที่ 23 มกราคม บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ จัดงาน “วันยางพาราและงานกาชาดบึงกาฬ ประจำปี 2561” ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่อง 7 วัน โดยวันนี้เป็นวันสุดท้ายของงาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนทยอยเดินทางมาร่วมงานตลอดทั้งวัน

นายเจตน์ เกตุจำนงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า บริบทของการจัดงานวันยางพาราและกาชาดจังหวัดบึงกาฬ ได้จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งตลอดที่ผ่านมามีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องทั้งในเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเกษตรกรให้มีผลผลิตที่ดีขึ้น ชาวสวนยางพาราเองก็มีแนวคิดที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช้การปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีหลายๆ อย่างเพิ่มเข้ามาในสวนยางพารา เช่น เกษตรผสมผสาน ก็ได้ผลดีในช่วงที่ราคายางพาราตกต่ำ แต่ปัญหามันไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่อยู่ที่ราคายางก้อนถ้วยที่เกษตรกรทำ 99.3% ไม่มีโอกาสที่จะขึ้นเลย มีแต่ย่ำอยู่กับที่และตกลงไป ซึ่งก็คิดว่าปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ปริมาณยาง แต่ปัญหามันอยู่ที่ราคายางซึ่งมันตกต่ำเกินไป และสิ่งที่แก้ไขน่าจะได้ผลที่สุดคือเรื่องของการเอาเทคโนโลยีมาช่วยแปรรูปยางพารา

“การจัดวันงานยางพาราก็มีผลต่อจังหวัดบึงกาฬมาก เพราะกลายเป็นจุดสนใจของผู้ประกอบการยาง ของนักวิชาการยาง ที่เขามองว่าเรื่องยางในภาคอีสานต้องมาที่บึงกาฬ ซึ่งทำให้บ้านเมืองเรามีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น และเท่ากับเราเปิดตลาดให้ผู้ซื้อผู้ขายทั้งในประเทศและต่างประเทศได้รู้ว่านี่นะจังหวัดบึงกาฬ เรามียางพาราอยู่เกือบ 1 ล้านไร่ เรามีผลิตภัณฑ์ยาง ทั้งน้ำยางสด ยางก้อนถ้วย ยางแผ่นรมควัน ยางเครป ให้เลือกซื้อเลือกขายมากมาย และดูจากการจัดงานในปีนี้ก็ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติไม่น้อย และที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือธุรกิจแปรรูปไม้ยางพาราที่เกิดขึ้นมากมายหลายที่ เช่น โรงงานแปรรูปไม้ยางพารา ส.กิจชัย ที่ตั้งอยู่ในอำเภอปากคาด โรงงานสับไม้ยางพาราบึงกาฬวู้ดชิพ ที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองบึงกาฬ บริษัท บึงกาญจน์ พาราวู้ด จำกัด ที่ผลิตไม้อัดเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งจากเศษไม้ยางพารา เหล่านี้เป็นต้น และในอนาคตอีกไม่นานสะพานแห่งที่ 5 ก็จะเกิดขึ้นและมีโอกาสที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว”

“ซึ่งการสร้างโอกาสที่จะดึงเอาผู้ประกอบการดึงนักลงทุนมาลงทุนในพื้นที่ ซึ่งทางหอการค้าได้ร่วมกับจังหวัดได้จัดเตรียมพื้นที่ไว้รองรับเขตนิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคพื้นฐานไว้รองรับนักลงทุนแล้ว และไม่เพียงจังหวัดบึงกาฬเท่านั้นที่กำลังพัฒนา ทางแขวงบอลิคำไซ ฝั่ง สปป.ลาว ก็มีการพัฒนาเมืองเพื่อเตรียมรองรับสะพานแห่งที่ 5 เช่นกัน

Advertisment

โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างแขวงบอลิคำไซ โดยแผนกแผนการและการลงทุน กับ นางสาวมณทกานต์ เขียววิชัย ประธานบริษัท ไฮยหนาน เซนหลิน อินดัสตรี จำกัด.และนางสาว เช้ง หยาน (Miss Zheng Yan) ตัวแทน บริษัท China Railway Bureau 20 Group Corporation ในนามผู้ดำเนินการก่อสร้าง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการศึกษาสำรวจโครงการพัฒนา เช่น 1.โครงการศึกษา สำรวจออกแบบเขตพัฒนาทางเลี่ยงเมือง 2.โครงการสำรวจออกแบบและพัฒนาเขื่อนป้องกันปากน้ำซัน – ท่าด่าน 3.โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง และ 4.โครงการสำรวจเขื่อนป้องกันตลิ่งตามลำแม่น้ำโขง อยู่เขตแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว โดยมีหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ และท่านบุญเส็ง ปะทำมะวง รองเจ้าแขวง แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว ร่วมกันเป็นสักขีพยาน”

ด้านนายภคพล บุตรสิงห์ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดบึงกาฬและผู้ประสานงานระหว่างประเทศไทย-ลาว กล่าวว่า กลุ่มทุนเยอรมันและจีนเตรียมที่จะทุ่มทุนก่อสร้างสนามบินนานาชาติ ในแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว โดยจะใช้สนามบินทหารเก่า มีพื้นที่ประมาณ 2,400 ไร่ ใช้งบประมาณ 20,400 ล้านบาท สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งตั้งอยู่ถนนหมายเลข 13 ตรงข้ามจุดที่จะก่อสร้างสะพานไทย-ลาวแห่งที่ 5 บนพื้นที่ 2,000 เฮกตาร์ หรือประมาณ 12,000 ไร่ โดยใช้ทุนสร้างประมาณ 50,000 ล้านบาท สร้างศูนย์กลางการเงินการธนาคาร งบประมาณ 1,700 ล้านบาท ขณะเดียวกันนักลงทุนจีน ยังได้ทำการศึกษาสำรวจและออกแบบ เพื่อก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์จากสะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 บึงกาฬ เมืองปากซัน ถึง ท่าเรืออุ๋งอ๋าง ในจังหวัดฮาติงห์ เวียดนาม ระยะทาง 240 กม. โครงการที่ได้กล่าวมาข้างต้นต้องใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 5,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 170,000 ล้านบาท

ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬกล่าวทิ้งท้ายว่า บึงกาฬได้รับการสถาปนาแต่งตั้งเป็นจังหวัดมาแล้ว 6 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมาเราพัฒนาเมืองพร้อมๆ กับพัฒนายางพาราอย่างต่อเนื่องจะดูได้จากสภาพแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้นทั้งตึกรามบ้านช่องผูดขึ้นยังกับดอกเห็ด สถานประกอบการโรงแรมเพิ่มขึ้นทุกปี ถนนหนทางก็พัฒนามากขึ้น รัฐบาลให้งบประมาณมาพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่องจากถนน 2 เลนก็จะเป็น 4 เลน จากถนน 4 เลนก็จะขยายเป็น 8 เลน ซึ่งก็เริ่มดำเนินการตามขั้นตอนไป และก็แน่นอนว่ามันจะต้องใช้เวลา ก็ฝากพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราตลอดจนประชาชนชาวจังหวัดบึงกาฬ ต้องรู้จักตัวตนพัฒนาตัวเอง พัฒนากลุ่มอาชีพ พัฒนากลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ประกอบการภายในพื้นที่ ให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น เพราะจะเป็นความเข้มแข็งที่ยั่งยืนอยู่คู่กับพี่น้องเกษตรกรและประชาชนชาวจังหวัดบึงกาฬสืบไป

ขณะที่ นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วงงานวันยางพารา และงานกาชาดบึงกาฬ ระหว่างวันที่ 17 -23 มกราคม 2561 ถือเป็นโอกาสดีของเกษตรกร ที่จะได้มาศึกษาเที่ยวชม เกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพของชาวสวนยางเพราะ จ.บึงกาฬ ถือเป็น จังหวัดที่เป็นศูนย์กลาง และมีพื้นที่ปลูกยางมากที่สุดของภาคอีสาน ดั้งนั้น เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย ถือเป็นองค์กรสำคัญ ที่ทำงานร่วมกับ องค์การสวนยาง ได้ถือโอกาสนำสมาชิก ประธานเครือข่ายของแต่ละจังหวัดในพื้นที่ ภาคอีสาน 12 จังหวัด มาร่วมงาน และเปิดการประชุมหารือ

Advertisment

สรุปปัญหา รวมถึงนโยบายของรัฐบาลที่มีการช่วยเหลือ สนับสนุนเกษตรกร เพื่อจะได้เสนอปัญหาไปยังรัฐบาล หาทางช่วยเหลือแก้ไข ในเรื่องของราคายางพารา รวมถึงแนวทางการช่วยเหลือสนับสนุนระยะยาว

“ในโอกาสนี้มีประเด็นหลักๆ ที่ได้หารือร่วมกัน และจะได้สนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินการคือ ต้องการให้รัฐบาลเร่งรัฐ อำนวยความสะดวก เกี่ยวกับเงินกู้ สนับสนุนเกษตรกร รวมถึงการบริหารจัดการแนวทางนโยบายให้ภาครัฐ นำยางพารา มาแปรรูปใช้ในประเทศให้มากที่สุด รวมถึง การให้ ผู้บริหารท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับผู้ว่า มีส่วนร่วมในการตรวจสอบติดตาม การซื้อยางพารา แทนการรับเพียงนโยบายจากรัฐบาล เพื่อให้มีความเข้าใจดูแลปัญหาได้ ในระดับจังหวัด ไปจนถึงการ นำ พ.ร.บ.การยาง 2542 มาใช้ในการตรวจสอบขั้นตอน วิธี ควบคุมราคา การซื้อยางของภาคเอกชน ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร”

นายธีระชัยกล่าวอีกว่า ทางเครือข่ายเครือข่ายสวนยาง อีสาน ร่วมงานวันยาง หารือเสนอบึงกาฬ โมเดล แก้ราคายางต้องการให้รัฐบาลใช้วิธีการบริหารจัดการ แทนนโยบายการงดกรีด การลดพื้นที่ปลูก และการตัดโค่นยางพารา เพราะเชื่อมั่นว่าไม่ชี่ทางออกที่ดี อย่างแน่นอน เพราะเกษตรกร ส่วนใหญ่มาไกล หยุดไม่ได้แล้ว ต้องหาทางช่วยเหลือ ทางออกที่ดีแทน ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นข่าวดี หลัง มติ ครม. ประกาศให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุม โดยกระทรวงพาณิชย์ จะเข้าไปดูแล กับกระทรวงเกษตร จะส่งผลให้ราคายางดีขึ้น เชื่อมั่นว่ารัฐมนตรีคนใหม่จะแก้ไขได้

“ส่วนสำคัญที่สุด ทางเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย ต้องการสนับสนุนให้ ทางรัฐบาลตั้งบึงกาฬโมเดลในการแก้ไขปัญหาราคายาง รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการวางต้นแบบในการบริหารจัดการซื้อยางพารา รวมถึงโรงงานแปรรูป นวัตกรรมจากยางพารา เช่น หมอนยางพารา การทำยางเครป และคาดหวังมากที่สุด

คือ การสนับสนุนให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง นำน้ำยางพาราไปทำถนน ซึ่งจากการทดสอบ ในถนนระยะทาง 1 กิโลเมตร จะต้องใช้น้ำยางดิบประมาณ 12 ตัน โดยใช้พื้นที่ จ.บึงกาฬนำร่อง เพราะมีความเหมาะสมทุกด้าน และขยายไปยังจังหวัดพื้นที่อีสาน หากทำได้เชื่อว่าอนาคต ปัญหายางพาราจบแน่นอน เพราะปัจจุบันยังไม่มีการทำจริงจัง มีเพียงนโยบาย จึงอยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ แทนการแปรรูปเพื่อรอการส่งออก เพราะนี่คือทางรอดของเกษตรกรชาวสวนยาง”

นางสาวนันทินา มูลประสิทธิ์ ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส หน่วยวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สวทช. กล่าวว่า สารรักษาสภาพน้ำยางสด Thai Advznce Preservative System : TAPS วิจัยตั้งแต่การรักษาสภาพน้ำยางสด จนแปรรูปเป็นน้ำยางข้นเพื่อนำไปทำผลิตภัณฑ์ทุกอย่าง อาทิ ฟิล์มบางเลียนแบบตัวน้ำยางข้นที่เป็นระบบเดิมคือ แอมโมเนีย กับซิงก์ออกไซด์ ซึ่งมีสารตกค้าง เป็นอันตราย และมีพิษค่อนข้างสูง ตัว TAPS ช่วยรักษาสภาพน้ำยางสด ยืดอายุยาง กันบูดเน่า คงสภาพน้ำยางให้เป็นแบบนั้นด้วย และทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว เหมาะสำหรับโรงงานที่ทำน้ำยางข้น ชาวสวน หรือจุดรับซื้อที่อยากคงสภาพน้ำยางไว้เพื่อส่งต่ออีกทอดหนึ่ง

“น้ำยางที่ได้จากระบบนี้จะปลอดภัย ไม่มีกลิ่นฉุน ลดความระคายเคืองกับผู้ใช้งานลง กรณีทำยางแผ่นนั้น อาทิ ยางแผ่นรมควันที่ต้องการรักษาสภาพยาง 1-3 วัน เนื่องจากใช้น้ำยางเยอะแล้วทำแผ่นไม่ทัน หรือบางแห่งน้ำยางน้อยไป ทำทุกวันแล้วเหนื่อย หรือการขนส่งทุกวันทำให้สิ้นเปลือง จึงอยากรักษาสภาพน้ำยางไว้ก่อน ตรงนี้เราสามารถช่วยลดต้นทุนการดำเนินการได้” นางสาวนันทินากล่าว

นางสาวนันทินากล่าวต่อว่า นวัตกรรมอีกตัวหนึ่งคือ ยางล้อตันรถฟอร์คลิฟท์ประหยัดพลังงาน โดยปกติแล้วยางธรรมชาติจะมีข้อจำกัดตรงทนแรงเสียดสีหรือแรงยึดเกาะไม่ได้ แต่ยางล้อตันรถฟอร์คลิฟท์นี้เขาใช้กันอยู่แล้ว เราจึงดีไซน์ว่าอันไหนจะใช้ยางเต็มๆ จึงได้ตัวนี้ออกมา จากนั้นทางทีมวิศวกรรมได้ออกสูตรให้ใช้ได้นาน ประหยัดพลังงาน อีกตัวหนึ่งคือ ยางโมเสก เริ่มประยุกต์ด้วยการใช้ยางมากขึ้น จึงนำยางมาทำเป็นไม้ระแนง ไม้ปูพื้น โต๊ะ เก้าอี้ แผ่นโมเสก ฯลฯ ทีมวิจัยเราได้ปรับสูตรเติมสารลงไปเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจดสิทธิบัตรแล้ว