3 โปรเจ็กต์ยักษ์บูม “บึงกาฬ” ธุรกิจแห่เล็งลงทุนโรงแรมริมโขง

บุญเพ็ง ลามคำ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

นับเป็นเวลากว่า 11 ปีที่ “บึงกาฬ” หนึ่งในพื้นที่ตอนบนสุดของภาคอีสานแยกออกมาจากจังหวัดหนองคายจัดตั้งเป็นจังหวัดประกอบด้วย 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอโซ่พิสัย อำเภอบุ่งคล้า อำเภอบึงโขงหลง อำเภอปากคาด อำเภอพรเจริญ และอำเภอศรีวิไล ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เนื่องจากเมืองขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว และกำลังเป็นที่จับตาจากนักลงทุน

“บุญเพ็ง ลามคำ” ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดบึงกาฬมีศักยภาพด้านเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ ทำเลที่ตั้งเหมาะกับการทำการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว แม้มีประชากรเพียง 4 แสนกว่าคน

แต่เข้มแข็งด้วยรายได้หลักจากการทำสวนยางพารา เฉลี่ยประมาณ 50,000-70,000 หมื่น/คน/ปี ภายในจังหวัดมีโรงงานแปรรูปยางพารา และไม้ยางพารา 4-5 โรงงาน ถือเป็นเมืองเกษตรอุตสาหกรรม ที่นำไม้ยางไปแปรรูปเพิ่มมูลค่า และเติมด้วยการท่องเที่ยวในอนาคต

“เรามีเกษตรอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวเป็น 2 ขาหลักสร้างเศรษฐกิจควบคู่กัน ประกอบกับโครงการขนาดใหญ่ ที่ทำให้บึงกาฬกำลังพัฒนาแบบก้าวกระโดดในอีก 3-5 ปีข้างหน้า”

3 โครงการยักษ์บูมเศรษฐกิจ

“บุญเพ็ง” บอกว่า โครงการขนาดใหญ่จะมาสร้างเศรษฐกิจของบึงกาฬให้ก้าวกระโดด ประกอบด้วย 3 โครงการ คือ โครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) งบฯลงทุนกว่า 3,900 ล้านบาท มีความคืบหน้าไปมาก

คาดว่าปลายปี 2566 จะแล้วเสร็จและน่าจะเปิดใช้อย่างเต็มรูปแบบได้ในปี 2567 ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม และเข้าสู่จีนตอนใต้ โดยบึงกาฬอยู่เหนือสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างจังหวัดหนองคายกับจังหวัดนครพนม เป็นจุดเชื่อมกับบอลิคำไซใกล้กับ สปป.ลาวตอนกลางและเวียดนามตอนกลางมากที่สุด

ถัดมาโครงการก่อสร้างสนามบินบึงกาฬ ตั้งอยู่ในตำบลวิศิษฐ์ และตำบลโป่งเปือย อำเภอเมืองบึงกาฬ พื้นที่ประมาณ 4,400 ไร่ งบประมาณก่อสร้าง 3,152 ล้านบาท กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว 3 ครั้ง คาดว่าจะเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติภายในปี 2566 เริ่มก่อสร้างได้ปี 2569

และจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572 ทั้งนี้พื้นที่ตั้งสนามบินห่างจากตัวเมืองบึงกาฬเพียง 8 กม. และห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 เพียง 5 กิโลเมตร

และโครงการสร้างถนน 4 เลน สายใหม่อุดรธานี-บึงกาฬ ระยะทาง 155.31 กม. จุดเริ่มต้นจาก อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี บริเวณ กม.423+800 ทางหลวงหมายเลข 2 ถึงทางหลวง 244 ทางเลี่ยงเมืองบึงกาฬ (ระหว่างก่อสร้าง) ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด (อุดรธานี-หนองคาย-บึงกาฬ)

ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างศึกษาแนวเส้นทางที่เหมาะสม โดยที่ผ่านมาทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว 2 ครั้ง เหลือทำประชาพิจารณ์อีก 1 ครั้ง เมื่อคัดเลือกแนวได้แล้ว จะออกแบบ และสำรวจแจ้งพื้นที่ถนนตัดผ่านเกี่ยวกับเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน คาดว่าจะเสนอ ครม.ขออนุมัติงบประมาณได้ไม่เกินปี 2566-2568 และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2570

เล็งค้าชายแดนโตหมื่นล้าน

สำหรับด่านบึงกาฬ ปัจจุบันที่ยังไม่มีสะพานใช้ แต่มีแพขนานยนต์หรือ “เรือบั๊ก” ขนส่งสินค้าข้ามแดน ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องดื่ม ซึ่งค่อนข้างใช้เวลานาน ค่าใช้จ่ายสูง มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกล่าสุดเดือนมกราคม-กันยายน 2565 อยู่ประมาณ 4,000 ล้านบาท

หากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 แล้วเสร็จ มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเติบโตของการค้าขายที่เพิ่มขึ้น คาดการณ์ว่า จะสูงแตะ 10,000 ล้านบาทในไม่ช้า นอกจากนี้ สปป.ลาว ยังมีแผนเชื่อมทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว จากเวียงจันทน์มายังบอลิคำไซ และเชื่อมต่อไปยังเวียดนาม จะทำให้บึงกาฬได้รับอานิสงส์ทั้งการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ บึงกาฬจะเติบโตแบบก้าวกระโดด อนาคตการส่งสินค้าจากค้าจากไทยไปยังประเทศจีนจะใช้เส้นทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 ผู้คนจะสัญจรมากขึ้น เมื่อมีสนามบินก็จะยิ่งมีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นอีก

เพราะบึงกาฬเป็นจังหวัดที่ยังมีความสดใหม่และค่อนข้างได้เปรียบพื้นที่อื่นในเชิงยุทธศาสตร์ มีแหล่งท่องเที่ยวที่ธรรมชาติสร้างไว้อย่างหินสามวาฬ ถ้ำนาคา ภูทอก สะดือแม่น้ำโขง แหล่งน้ำตกต่าง ๆ ตลอดจน การท่องเที่ยวสายมูเตลู ทำให้มีนักท่องเที่ยวปี 2565 ในไตรมาส 3 มีจำนวนถึง 4.6 แสนคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คาดว่าไม่เกิน 5 ปีจะเพิ่มขึ้นถึงหลักล้านคน

หอการค้าชี้ช่องลงทุน รร.-รพ.

“บุญเพ็ง” กล่าวต่อไปว่า บึงกาฬเคยเป็นจังหวัดที่อยู่ห่างไกลจากความสะดวกสบายทุกอย่าง ทั้งระบบขนส่ง ระบบสาธารณสุข มีสิ่งที่ยังขาดแคลนอีกมาก แต่มีพื้นที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนอีกมากเช่นกัน โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองได้กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในอำเภอต่าง ๆ ไว้เป็นสีเขียวและสีม่วงเล็กน้อยอยู่ 3 อำเภอ คือ อำเภอบึงกาฬ อำเภอปากคาด และอำเภอโซ่พิสัย สามารถสร้างอุตสาหกรรมหนักและเบาได้ และมีอยู่ 3 อำเภอตอนกลางซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์และจุดไฮไลต์การท่องเที่ยว คือ อำเภอศรีวิไล อำเภอบึงโขงหลง และอำเภอเซกา

“แต่ก่อนบึงกาฬไม่ใช่เป้าหมายของนักลงทุน แต่ตอนนี้มีนักลงทุนเริ่มมาดูที่ดินริมแม่น้ำโขงเพื่อการลงทุนมากขึ้น กระจายอยู่ทั่วไปเพราะยังไม่มีพื้นที่เขตไหนแออัด พื้นที่ติดริมแม่น้ำโขงยาวกว่า 200 กิโลเมตร วิวทิวทัศน์ไม่ได้ด้อยไปกว่าจังหวัดอื่น มีธรรมชาติสวยอยู่แล้ว แค่นำมาปัดฝุ่นเติมแต่งให้สมบูรณ์”

ปัจจุบันราคาที่ดินเฉลี่ย 1-3 ล้านบาทต่อไร่ โดยพื้นที่ได้รับความนิยมอยู่ในตัวเมือง และห่างจากตัวเมืองไม่เกิน 15 กม. ราคาที่ดินสูงสุดอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขงประมาณ 2 ล้านบาทต่อไร่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้คนต้องการและอยากให้เกิดการลงทุนมากที่สุดคือ 1.โรงพยาบาลเอกชน ที่สามารถรองรับ ผู้ป่วยในประเทศและนอกประเทศทั้งจากแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว ที่อยากมารักษาในประเทศไทย เพราะปัจจุบันมีโรงพยาบาลรัฐประจำจังหวัดเพียง 1 แห่ง มีความแออัดมาก กลุ่มที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วจะไปโรงพยาบาลเอกชนจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเดินทางนานกว่า 3 ชั่วโมง

2.ธุรกิจโรงแรม เพราะตอนนี้มีเพียงโรงแรม 2-3 ดาว โฮมเสเตย์ชาวบ้าน ยังไม่มีที่พักรองรับกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูงหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างยุโรปหรือชาวจีน 3.มหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัย เพราะตอนนี้มีเพียงแค่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ศูนย์การศึกษาบึงกาฬ ขณะที่การศึกษาในอนาคตจะต้องเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนระหว่างไทย สปป.ลาว เวียดนาม และจีน

“ตอนนี้อยากให้รัฐผลักดันการสร้างสนามบินกับถนนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะอนาคต ทุกคนสามารถ มาบึงกาฬวันเดียวเที่ยวได้ 3 ประเทศ (ไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม) มาขึ้นเขา ล่องโขง ลงหาดทรายขาว ชมสาวงามสองฝั่งไทย-ลาว”

ขณะที่การเดินทางปัจจุบันยังต้องใช้ระบบขนส่งทางรถยนต์ มีความล่าช้า ค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้จุดอ่อนอีกอย่างที่อยากให้บึงกาฬพัฒนาคือการสร้างระบบรางหรือรถไฟที่มาพร้อมกับถนน และระบบชลประทานกักเก็บน้ำโขงไว้ป้องกันน้ำแล้งและน้ำท่วมจะมาสร้างความอุดมสมบูรณ์ เพิ่มการเกษตรและประมงด้วย”