พิชัย หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ-รัฐมนตรีคลังฟูลทีม บิ๊กธุรกิจมั่นใจ “ครม.ใหม่”

พิชัย ชุณหวชิร
พิชัย ชุณหวชิร

ครม.เศรษฐา 1/1 พร้อมเคลื่อนงานเศรษฐกิจหัวหอกแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท คลังฟูลทีม 4 รัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน นายกฯกำชับสปีดงานคมนาคม ท่องเที่ยว ต่างประเทศ สภาอุตฯ-สภาหอฯ ขานรับขุนคลังพิชัย หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่ ด้านนายแบงก์คาดหวังในมาตรการประคองเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อ งบประมาณพร้อมให้เร่งรัดการเบิกจ่าย ขณะที่ภาคอสังหาฯเสนอการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเสริมแกร่งภาคท่องเที่ยวระยะยาว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในวันที่ 30 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้นำรายชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ตามโผ คือ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ แทน นายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ได้ยื่นหนังสือลาออก หลังมีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ รายชื่อคณะรัฐมนตรี “เศรษฐา 1/1” จำนวน 13 ตำแหน่ง 12 คน

และในวันเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เรียกรัฐมนตรีใหม่เกือบทุกคน ที่รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง เข้าพบหารือเรื่องการทำงาน โดยรัฐมนตรีต้องเตรียมแผนงานที่จะดำเนินการมานำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีด้วย ทั้งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับงานคมนาคม คลัง การท่องเที่ยว และว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เศรษฐา 1/1 คลังฟูลทีม

การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐา 1/1 มีการ “กระชับทีมเศรษฐกิจใหม่” เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเรือธงโดยเฉพาะนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต จัดเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4/2567

โดยกระทรวงการคลังมีการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญ โดยมี 1 รัฐมนตรีว่าการ และ 3 รัฐมนตรีช่วย ถือเป็นการทำงานแบบฟูลทีมครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ซึ่ง 3 ใน 4 เป็นทีมเดียวกันจากพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย นายพิชัย ชุณหวชิร นั่งในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกำกับภาพรวมเศรษฐกิจ ในฐานะ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ”

Advertisment

ส่วน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จากพรรคเพื่อไทย ขยับขึ้นจากเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาขับเคลื่อนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10.000 บาท รวมถึงอีกหลายนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการคลัง

เช่น จัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) โดยทำงานคู่ขนานกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นประธานขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล อาทิ ประธานคณะอนุกรรมการกำกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท

ขณะที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ร่วมนำนโยบายไปปฏิบัติกับหัวหน้าส่วนราชการในกระทรวงคลัง นอกจากนี้ยังมีการเสริมทีมบริหารนโยบายสำคัญของพรรคเพื่อไทย ให้กับนายกรัฐมนตรี ผ่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 3 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาใหม่

ทั้งนายจักรพงษ์ แสงมณี ทำงานด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ, นายพิชิต ชื่นบาน ทำงานด้านกฎหมายในวาระการประชุม ครม. และนางสาวจิราพร สินธุไพร ที่ผ่านการทำงานในตำแหน่งเลขานุการกรรมาธิการการท่องเที่ยวและรองประธานกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ด้วย

Advertisment

ขันนอตเศรษฐกิจ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับ ครม.ครั้งนี้เป็นการปรับแบบ Minor Change เน้นหนักไปที่การกระชับทีม หรือ “ขันนอต” โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อตรียมตัวทำงานต่อในเฟสต่อไป จากที่ผ่านมาจะเห็นว่า ในช่วง 6-7 เดือนแรกของรัฐบาลเศรษฐา 1 นั้น งบประมาณปี 2567 ดีเลย์มา 8 เดือน ทำให้ที่ผ่านมาไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างหรือทำงานอะไรเลย มีเฉพาะเงินเดือนข้าราชการประจำ ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐหรือโครงการต่าง ๆ ชะงัก

แต่ตอนนี้ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังคนใหม่ คือ นายพิชัย ชุณหวชิร เป็นคนเก่ง มีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับทั้งภายในและต่างประเทศ ว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องธุรกิจและเศรษฐกิจดี เพราะอยู่เป็นทีมเบื้องหลังแก้วิกฤตหลาย ๆ บริษัทช่วงที่ผ่านมา ครั้งนี้มารับภารกิจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเต็มตัว

ฉะนั้นจะทำงานอย่างเต็มที่ บวก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเพิ่ม 2 เป็น 3 ตำแหน่ง มี นายเผ่าภูมิ มาช่วย งบประมาณผ่านแล้ว รวมถึงงบฯปี 2568 ก็ออกมาแล้ว โครงการต่อไปคือ ความพร้อมของดิจิทัลวอลเลตที่เลื่อนจากเดือนกุมภาพันธ์เป็นช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ฉะนั้นจะเห็นว่า นายกฯมีความพร้อมแล้ว ทั้งกระสุนพร้อมแล้ว เงินมาพร้อมแล้ว โครงการก็เตรียมเรียบร้อย

จุดที่สำคัญของการใช้นโยบายการคลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศตั้งแต่ไตรมาส 2-4 จากที่ผ่านมา ท่านนายกฯก็ให้ความสำคัญ อะไรที่ทำได้ก็ทำไปก่อน เช่น การเดินทางไปต่างประเทศพูดคุยเชิญชวนนักลงทุน ตรงนี้ไม่ต้องใช้งบประมาณมากเพราะเดินทางไปได้ก่อน ซึ่งก็ได้ผล เพราะตอนนี้มีนักลงทุนจากหลายชาติในหลายอุตสาหกรรมสนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และต้องขอชื่นชมในฐานะผู้ประกอบการและเรื่องนี้เรียกร้องมาตลอดคือ การช่วยลดต้นทุนทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการปรับ ครม. ท่านนายกฯได้เชิญ CEO 4 แบงก์ใหญ่มาหารือขอความร่วมมือ ช่วยลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กลุ่มผู้เปราะบางและ SMEs 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน ถือเป็นการทำงานทันใจ รวดเร็วและตอบสนอง ไม่ใช่รอแค่เฉพาะคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ได้พิจารณาหรือมีมติลดอัตราดอกเบี้ยตามที่ทุกฝ่ายเรียกร้อง

ทำให้การที่นายกฯมาใช้วิธีนี้ ถือว่าจะทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหานี้ได้ คุยกันครั้งเดียวก็ได้ผลเลย ดอกเบี้ยลง 0.25% ตามกัน ในเบื้องต้นทางด้านจิตวิทยาก็ได้ผล เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้กู้และ SMEs ได้มาก แม้จะแค่ 6 เดือน แต่บรรยากาศก็ทำให้ทุกคนตามหมด อันนี้จะช่วยผู้ประกอบการต้นทุนลดลงและช่วยผู้กู้เงินมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น

ทางภาคเอกชนมองว่า GDP ยังโตเป็นตามที่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ไว้ 2.7-3.3% ดังนั้น เปลี่ยนทีมขันนอตเต็มที่ กระสุนมาแล้ว เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างดิจิทัลวอลเลตก็เข้ามาอยู่ในตารางแล้ว ต่อเนื่องกัน แต่ต้องเตือนว่า มาตรการที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไตรมาส 2-4 ถ้าขับเคลื่อนได้ตามเป้าจะเห็น GDP 3%

อย่างไรก็ตาม ฝากเสนอมาตรการเพิ่มหลังจากการลดดอกเบี้ยแล้ว ยังต้องขอให้พิจารณามาตรการช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินสินเชื่อ หากลไกปลดล็อกตรงนี้ รวมถึงปัญหาใหญ่ที่ต่อเนื่องในภาคอุตสาหกรรมคือ สินค้านำเข้าที่ทั้งถูกและไม่ถูกกฎหมาย

แต่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ทำให้ผู้ประกอบการ 20 กลุ่มอุตสาหกรรมลำบากมาก ถ้าไม่แก้ ปล่อยให้ทะลักเพิ่ม จะทำให้อุตสาหกรรมอีก 30 กว่ากลุ่มจะได้รับผลกระทบ ต้องหยุดการผลิตและเลิกกิจการ กระตุ้นส่วนหนึ่งและต้องปิดรูรั่วด้วย โอกาส 3% มีให้เห็นและเป็นไปได้

นอกจากนี้ ประเด็นค่าแรงที่จะเพิ่มจากที่ปรับไปก่อนหน้านี้ ขอให้อาศัยกลไกไตรภาคีพิจารณา ส่วนเรื่องค่าเงินบาทอ่อนค่าถึง 37 บาท และมีแนวโน้มไปถึง 40 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐที่แข็งค่ามากนั้น จะต้องดูแลให้มีเสถียรภาพ เพราะแม้ว่าค่าบาทอ่อนจะทำให้สินค้าเกษตรส่งออกและกลุ่มท่องเที่ยวได้รับผลดี ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 35-36 ล้านคน

แต่สิ่งที่เราต้องระวังก็คือ ผู้ที่นำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบมาผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ การนำเข้าเครื่องจักร พลังงานทั้งหลาย มีโอกาสที่ต้องแบกต้นทุนเพิ่ม ซึ่งขอฝากภาครัฐหามาตรการช่วยเยียวยาส่วนนี้ด้วย

EEC ต้องชัดเจน

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับ ครม.ด้านเศรษฐกิจ ถือว่า “เหมาะสม” เพราะได้ผู้ที่เข้าใจภาคเอกชนและมีประสบการณ์ในการบริหารงานมาด้วย เชื่อว่าจะช่วยรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ส่วนประเด็นเรื่องเร่งด่วนก็คงเป็นการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตเต็มศักยภาพ

โดยเฉพาะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ได้รับอนุมัติออกมาทุกกระทรวง สำหรับสิ่งที่ทางหอการค้าฯมองคือ การช่วย SMEs ให้เข้าถึงเงินทุน รวมถึงเร่งเจรจาความร่วมมือการค้าระหว่างประเทศและดึงดูดการลงทุน สร้างความชัดเจนของ EEC เสริมกับการท่องเที่ยว ที่เป็นเครื่องจักรหลักในการดันเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ เป็นเรื่องที่น่าจะดำเนินการเร่งด่วน

นายแบงก์ชี้คลังทำงานคล่องตัวขึ้น

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMBT กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งนี้ มองข้อดีคือ ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีความคล่องตัวมากขึ้น และทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในขณะที่เป็นช่วงเวลาที่มาตรการทางการคลังค่อนข้างมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวและค่อนข้างซึมไปจนถึงกลางปี 2567 เพราะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2/2567 กำลังเข้าสู่ช่วง Low Season ของภาคการท่องเที่ยว และกำลังซื้อภาคเกษตรที่ยังเปราะบาง

อย่างไรก็ดี การปรับ ครม.ครั้งนี้แม้ว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ซึ่งยังเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย แต่ ครม.ชุดนี้จะทำงานได้สะดวกและคล่องตัวขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่งบประมาณปี 2567 และ 2568 สามารถเบิกจ่ายได้ ซึ่งสามารถนำเม็ดเงินงบประมาณมาพัฒนาโครงการ หรือกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้านี้

สิ่งที่คาดหวังในส่วนของมาตรการระยะสั้นก็คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการประคองเศรษฐกิจ เช่น มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อที่อ่อนแอ การลดค่าครองชีพในกลุ่มเปราะบาง ทั้งครัวเรือนและกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งไม่ได้เป็นการหว่านแห รวมถึงแผนดึงดูดการลงทุนต่างประเทศ หรือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ผ่านมาตรการภาษีต่าง ๆ ตลอดจนแผนการพัฒนาด้านตลาดทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนและต่างชาติ

ขณะที่มาตรการระยะกลางยังคงต้องติดตามต่อ ในโครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต ซึ่งจะมีผลในช่วงปลายปีนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ดี ไม่อยากให้นำงบประมาณที่ผ่านแล้วนำมาใช้ในโครงการ “ดิจิทัลวอลเลต” เพียงอย่างเดียว แต่ควรมีการจัดสรรเม็ดเงินนำไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นด้วย เพราะถือ ป็นโจทย์ใหญ่และสำคัญของรัฐบาลเช่นกันในการประคองเศรษฐกิจให้สามารถผ่านไปได้

“การปรับ ครม.ชุดนี้เชื่อว่าจะมีความคล่องตัวขึ้น เพราะมีงบประมาณในการใช้จ่ายและกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่าลืมว่าในช่วงไตรมาสที่ 2/67 การท่องเที่ยวจะเริ่มเข้าสู่ช่วง Low Season และตัวเลขส่งออกล่าสุดออกมาก็ติดลบ อาจจะเป็นปัจจัยชั่วคราวหรือระยะยาว ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของภาพเศรษฐกิจที่ต้องเร่งดำเนินการในการหาตลาดใหม่ รวมถึงการขยายความร่วมมือทางด้านวีซ่า

เพราะคาดว่าเศรษฐกิจหลังจากนี้ไปจนถึงเดือนตุลาคมยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ รวมถึงยังต้องติดตามข้อโต้แย้งระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง จะเป็นอย่างไรต่อไป” ดร.อมรเทพกล่าว

ฟูลทีมคลัง รมต. 4 คน

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า การปรับ ครม.รอบนี้ข้อดี คือ มีคนเข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจอย่างชัดเจน จากเดิมที่นายกรัฐมนตรีดูเอง

ขณะเดียวกันก็เป็นการเสริมทีมกระทรวงการคลัง โดยมีรัฐมนตรีถึง 4 คน ซึ่งนโยบายการคลังตอนนี้สำคัญมาก เนื่องจากช่วง 2 ไตรมาสก่อนหน้านี้ งบประมาณปี 2567 ก็ยังเบิกจ่ายไม่ได้ตามปกติ เม็ดเงินหายไปมาก ซึ่งก็ต้องเข้ามาเร่งรัดเบิกจ่ายให้เร็วขึ้น

ขณะเดียวกันก็มีเรื่องดิจิทัลวอลเลตที่คงมีการผลักดันกันต่อไป ส่วนระยะกลางและระยะยาวก็ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลเสถียรภาพการคลัง เนื่องจากปัจจุบันหนี้เริ่มสูงขึ้น และต้องขาดดุลงบประมาณตลอด ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของกระทรวงการคลังก็คือ จะเพิ่มรายได้ต่อ GDP ได้อย่างไร

“ตอนนี้คนไม่จ่ายภาษี คนอยู่นอกระบบยังมีเยอะ ถ้าไม่ทำอะไร ฐานภาษีก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้น เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่มาก ก็หวังว่ารัฐมนตรีที่เข้ามาจะให้ความสำคัญ”

ทีมเศรษฐกิจคนละพรรค

ส่วนนายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวว่า หลังการปรับ ครม.มองว่า อาจจะเกิดความกังวลในเรื่องการประสานงานที่ไม่ราบรื่น เนื่องจากทีมเศรษฐกิจในครั้งนี้มาจากคนละพรรคกัน ซึ่งคล้ายคลึงกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดีนั้นต้องมีแผนยุทธศาสตร์ร่วมกันที่ชัดเจน และช่วยกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย ปัจจุบันการประสานงานยังไม่ได้มีมากนัก

มองว่าอาจจะดีขึ้นได้จากมีตัวจริงเป็น หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และยังคงต้องติดตามต่อว่า รัฐบาลจะมีการบริหารงบประมาณอย่างไร การเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะงบฯลงทุนจะสามารถช่วยได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลว่าต้อง “กันเงินงบฯกลาง” ที่ใช้สำรองในดิจิทัลวอลเลตในช่วงไตรมาส 4/67 เมื่อไม่ได้ใช้งบฯกลางอาจจะทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ไม่เต็มที่ และต้องไปใช้งบฯลงทุนแทน ซึ่งต้องรอเวลา

แต่ก็เชื่อว่าจะดีกว่าที่ผ่านมา จากก่อนหน้านี้เงินไม่สะพัด เนื่องจากรัฐบาลใช้ได้เพียงงบฯรายจ่ายประจำ การเบิกจ่ายงบฯล่าช้าเกือบทั้งหมด แต่ครั้งนี้การเบิกจ่ายงบฯน่าจะดีขึ้น เพียงแต่งบฯในการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เยอะ เนื่องจากต้องกันเงินไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลต

“คอนเซ็ปต์เศรษฐกิจต้องประกอบไปด้วย คลัง คมนาคม อุตสาหกรรม พาณิชย์ พลังงาน ต้องสอดคล้องไปด้วยกัน แต่การควบคุมเป็นคนละพรรคกัน จึงมองว่าอาจจะเหนื่อย เบื้องต้น ครม.ที่ปรับ ถ้าจะดีที่สุดก็เป็น คุณพิชัย ที่เข้ามา แต่การปรับเปลี่ยนอื่น ๆ ยังคงต้องติดตาม” นายประกิตกล่าว

สูตร 3+3 เปอร์เฟ็กต์ทีม

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับ ครม.เศรษฐา 1/1 เป็นช่วงเวลาที่ดีในการปรับทีมเศรษฐกิจมาช่วยนายกฯเศรษฐา เพราะนั่งควบกระทรวงการคลังอยู่ หากมองเผิน ๆ เป็นเหมือนการปรับย่อยในภาพรวม ครม.ทั้งคณะ แต่ถ้าวิเคราะห์ดี ๆ จะเป็นการปรับใหญ่ในทีมเศรษฐกิจ

“การปรับ ครม.รอบนี้ จะเป็นครั้งแรกของรัฐบาล ผมมองว่า ท่านนายกฯมั่นใจว่าคอนโทรลรัฐบาลได้ระดับหนึ่ง ก็เลยเปลี่ยนเก้าอี้ รมว.คลัง ให้กับ คุณพิชัย (ชุณหวชิร) และเป็นเวลาที่ใช้ รมช.คลังที่มากที่สุดตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์จนถึงรัฐบาลนี้ โดยมี 3 รมช. บวก รมว.คลังอีก 1 รวมเป็น 4 คน จะเป็นทีมรัฐมนตรีคลังที่มากที่สุดนับจากรัฐบาลลุงตู่”

ทั้งนี้ ในภาพรวมนักธุรกิจมีการขานรับ รมว.คลังคนใหม่ เพราะนายพิชัยเป็นนักธุรกิจที่เข้าใจธุรกิจ ลงมือทำและคลุกคลีอยู่ในวงการธุรกิจ เป็นอดีตผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. และเป็นประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ ประสบการณ์เป็นมือทำงาน มือขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ไม่ใช่นักวิชาการ หากเทียบกับรัฐมนตรีกระทรวงคลังยุคที่ผ่านมา ดูประวัติแต่ละคนล้วนเป็นมือวิชาการทั้งสิ้น

“ในเมื่อเป็นการปรับใหญ่ของทีมเศรษฐกิจ มองลึกลงไปด้านตัวบุคคล จะเห็นว่ามี 2 ระนาบ คือ ระนาบ 3 ประสานที่มีเสาหลักประกอบด้วย นายกฯเศรษฐา ที่มีประสบการณ์นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีคุณทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นนักลงทุนที่เก่งที่สุดในประเทศไทย และมีคุณพิชัยนั่งว่าการคลัง ดังนั้น 3 ประสานนี้จะทำให้เศรษฐกิจไปต่อได้ อีกระนาบคือ รมช.คลัง 3 คนที่แต่งตั้งเข้ามาเสริมเต็มอัตราศึก เป็นสูตร 3+3 ซึ่งฟันธงได้ว่าเป็นทีมเศรษฐกิจที่เปอร์เฟ็กต์”

นายประเสริฐกล่าวต่อว่า ในโอกาสนี้ สมาคมคอนโดฯได้นำเสนอ แกนนโยบายการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศและเสริมแกร่งภาคการท่องเที่ยวในระยะยาว จากแนวโน้มช่วง 10-20 ปีหน้าแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติจะเสื่อมโทรมลง จำเป็นต้องมีลงทุนเมกะโปรเจ็กต์อสังหาฯ ที่เป็นโครงการ Man Made เพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ รองรับเทรนด์การท่องเที่ยวที่จะเปลี่ยนรูปแบบ ลดการพึ่งพาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และเสริมจุดขายแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นโครงการสร้างใหม่ให้เป็นจุดขายในอนาคต

ขณะเดียวกันมีข้อเสนอต่อทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาล อาทิ โครงการอสังหาฯไทยได้รับการยอมรับในฐานะเป็นโกลบอลพร็อพเพอร์ตี้ ควรขยายโควตาลูกค้าต่างชาติซื้อคอนโดมิเนียม ปัจจุบันจำกัดเพดาน 49% โฟกัสเฉพาะทำเลยอดนิยมของผู้ซื้อชาวต่างชาติ โดยเพิ่มสัดส่วนเป็น 69% แลกกับเงื่อนไขต้องจ่ายภาษีโอนแพงกว่าคนไทย 1 เท่าตัว เช่น คนไทยจ่าย 2% ต่างชาติจ่าย 4% และต้องสละสิทธิในการโหวตนิติบุคคลอาคารชุด เพื่อป้องกันไม่ให้ต่างชาติครอบงำการบริหารนิติบุคคล

ในด้านลูกค้าต่างชาติ ควรเปิดโอกาสให้ถือกรรมสิทธิ์ได้อย่างถูกต้องโดยไม่ต้องใช้ “นอมินี” วิธีการให้เรียกเก็บภาษีในอัตราสูง เช่นเดียวกับในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ เก็บภาษีซื้ออสังหาฯของลูกค้าต่างชาติสูงเป็นพิเศษ ประเทศไทยอาจจัดให้มีภาษี Thailand Property Management โดยอาศัยกลไกภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เรียกเก็บครั้งแรกตอนโอนอสังหาฯในอัตราสูง เช่น ภาษีซื้ออสังหาฯของคนต่างชาติ 70% จากนั้นให้เสียภาษีที่ดินแบบรายปี แต่ตั้งอัตราจัดเก็บสูงกว่าคนไทย

ยกตัวอย่าง ภาษีที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย คนไทยจ่ายเริ่มต้นล้านละ 200 บาท หรือ 0.02% อาจเรียกเก็บคนต่างชาติล้านละ 5,000-10,000 บาท หรืออัตรา 0.5% ถึง 1% ทุกปี เป็นต้น โดยรายได้ภาษีอสังหาฯจากชาวต่างชาติให้นำเข้ากองทุนสนับสนุนที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง ในการจัดทำจัดหาที่อยู่อาศัยราคาที่คนไทยเอื้อมถึงได้ และลดภาระงบประมาณของรัฐบาลด้วย

“มาตรการระยะสั้นกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาแทบจะพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ต้องยอมรับว่าเรียลเซ็กเตอร์มีความเปราะบางมาก จำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว” นายประเสริฐกล่าว