เครื่องบำบัดน้ำ “ไดรูท” คว้าที่ 1 YEC หอการค้าไทยปีที่ 7

ธนวิชญ์ ศรีสันติรัตน
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ในการประชุมหอการค้าไทยทั่วประเทศครั้งที่ 40 ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC หอการค้าไทย ได้ดำเนินการจัดการประกวด YEC Pitching : YEC’s Business SPIN UP ติดต่อกันเป็นปีที่ 7 โดยปีนี้มีผู้เข้าร่วมเสนอผลงาน จำนวน 30 โครงการจากทั่วประเทศ

โครงการเครื่องบำบัดน้ำเสียแบบอิเล็กโทรไลต์ของ “บริษัท บ้านรักไฟฟ้า จำกัด” ของ 2 พี่น้อง “วัสพล วศะกุล” อายุ 34 ปี ซึ่งเรียนจบด้านออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าด้านอิเล็กทรอนิกส์ จากมหาวิทยาลัยบรูเนล ประเทศอังกฤษ และ “ธนวิชญ์ ศรีสันติรัตน” อายุ 27 ปี

ซึ่งเรียนปริญญาเอกด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ซึ่งเป็นสมาชิก YEC หอการค้า จ.ระยอง ได้รับรางวัลชนะเลิศ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “ธนวิชญ์” ถึงที่มาของโครงการ และการพัฒนาต่อยอดธุรกิจ

แรงบันดาลใจจากพ่อ

“ธนวิชญ์” เล่าว่า ในวัยเด็กได้แรงบันดาลใจจากคุณพ่อ (พลวัฒน์ ศรีสันติรัตน) ซึ่งเรียนจบด้านวิศวะไฟฟ้าเครื่องกลฯ และอยู่ในวงการบำบัดน้ำเสียมาก่อน ผมเป็นคนระยอง ตั้งแต่เด็กตามคุณพ่อเข้าไปทำงานในโรงงาน และเห็นว่า โรงงานอุตสาหกรรมส่งผลต่อมลพิษ

จึงเกิดคำถามว่า จังหวัดระยองมีโรงงานจำนวนมาก ทำไมคนระยองต้องมาสูดดม หรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนสารเคมี ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้มาศึกษาทางด้านวิศวกรรมปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ศึกษาและวิจัยทางด้านพลังงานทดแทน เพื่อกลับมาพัฒนาบ้านเกิด

โดยเฉพาะ “น้ำ” ซึ่งเป็นหัวใจหลัก ซึ่งทุกคนต้องดื่ม ต้องใช้ ผมเคยดูข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ เฉลี่ยใน 1 วัน ครัวเรือนของไทยมีน้ำเสีย 9.6 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่การผลิตน้ำดิบ หรือการบำบัดน้ำมีเพียง 1.4 ล้านคิวต่อวัน น้ำอีก 8 ล้านคิวถูกปล่อยสู่แม่น้ำ ลำคลอง ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยต้องเผชิญกับสารเคมีปนเปื้อนเต็มไปหมด แต่ถ้าเรามีน้ำสะอาดสามารถพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้

บริษัท บ้านรักไฟฟ้า จำกัด จ.ระยอง เริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ เปิดร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อ 30 กว่าปีก่อน และเป็นผู้รับเหมาติดตั้งไฟฟ้า ปัจจุบันมีแผนกวิจัยและพัฒนา และก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการออกแบบและติดตั้งไฟฟ้ากำลังสูง-ต่ำในโรงงานมากว่า 10 ปี

การคิดโครงการนี้ เนื่องจากระยองเป็น 1 ในจังหวัด EEC มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมได้เห็นปัญหาหลากหลาย 1.ราคาที่ดินใน EEC แพงมาก แต่โรงงานต้องแบ่งพื้นที่ถึง 30% ไปขุดบ่อบำบัดน้ำเสีย 2.EEC มีปัญหาขาดแคลนน้ำ 3.ทิศทางธุรกิจให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) 4.ทุกคนหันมาใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้โรงงานที่ผลิตไฟฟ้า ต้องใช้น้ำปริมาณมากเป็นองค์ประกอบสำหรับการผลิตไฟฟ้า

เครื่องบำบัดน้ำสัญชาติไทย

ปัจจุบันการบำบัดน้ำเสียของโรงงาน มี 2 วิธี คือ 1.บำบัดเอง ซึ่งแต่ละโรงงานแบ่งพื้นที่ 30% ในการบำบัดน้ำขั้นต้น แล้วส่งให้นิคมบำบัดต่อ 2.จ้างบริษัทภายนอกบำบัดน้ำเสีย ซึ่งต้องต่อท่อนำน้ำไปบำบัดภายนอกโรงงาน หรือสูบน้ำเสียไปบำบัด

ขณะที่เครื่องบำบัดน้ำเสียแบบอิเล็กโทรไลต์ ใช้พื้นที่ไม่มาก เปรียบเสมือนซื้อเครื่องกรองน้ำไปติดตั้งในโรงงาน โดยภายในระบบบำบัด ประกอบด้วย ขั้วอิเล็กโทรไลต์ (electrolyte) ทำหน้าที่ดักจับสารเคมี มีอายุการใช้งานต้องเปลี่ยน เหมือนเครื่องกรองน้ำต้องเปลี่ยนไส้กรอง ขึ้นอยู่กับสภาพการใช้งาน

ครื่องบำบัดน้ำเสียไดรูท

เครื่องบำบัดน้ำเสียของเราใช้เทคโนโลยี เรียกว่า electrochemical advanced oxidation processes หรือ EAPOs เป็นเทคโนโลยีที่มีในต่างประเทศ โดยช่วงที่เรียนปริญญาโท และปริญญาเอก ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่เยอรมนี เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ได้เห็นเทคโนโลยีของแต่ละประเทศแตกต่างกัน

ได้นำหลักการของแต่ละประเทศมาพัฒนาและวิจัยร่วมกับ รศ.ดร.สมศักดิ์ เชียร์ศิริกุล ประยุกต์จนเกิดเป็น “เครื่องบำบัดน้ำเสียแบบอิเล็กโทรไลต์” สัญชาติไทย โดยจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ “Dialute”

ลักษณะการทำงานของเครื่องบำบัดน้ำเสีย มีขั้วอิเล็กโทรไลต์ ที่ผ่านการสังเคราะห์ฟิล์มระดับนาโนที่มีคุณสมบัติการนำไฟฟ้าบนฐานรอง เรียกหลักการนี้ว่า chemical vapor deposition-CVD หลังจากที่มีการป้อนไฟฟ้าเข้าไปยังขั้วอิเล็กโทรไลต์ จะทำการแตกพันธะทางเคมีออกมาเป็น OH-, H2O2 และ O3 เพื่อไปทำลายเคมีต่าง ๆ ที่อยู่ภายในน้ำ

เปรียบเหมือนเม็ดเลือดขาวไปจับเชื้อโรค ให้ย่อยสลายไป และน้ำที่ได้สะอาดมากขึ้น อีกทั้งภายในเครื่องติดตั้ง data logger คอยเก็บบันทึกข้อมูลต่าง ๆ และส่งไปยังส่วนกลาง หากโรงงานเกิดปัญหาเกี่ยวกระบวนการบำบัดน้ำ ทางเราจะทราบทันที รวมถึงหากขั้วอิเล็กโทรไลต์ หมดอายุการใช้งานจะส่งสัญญาณเตือนให้เปลี่ยน

ของดีราคาถูก-ประหยัดพื้นที่

“ธนวิชญ์” เล่าว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้นำเครื่องไปบำบัดน้ำเสียในอุตสาหกรรม 4 ประเภทที่มีมลพิษหนักปนเปื้อน ได้แก่ 1.โรงงานผลิตยา 2.โรงงานย้อมผ้า 3.ปิโตรเคมี 4.โรงงานปูนและเหล็ก ซึ่งเทคโนโลยีของเราสามารถนำสารเคมี ธาตุโลหะหนัก จุลทรีย์ และสสาร buffer ที่ทำการตรึงสภาพ pH ของน้ำ ได้ถึง 95-96%

ปกติการบำบัดน้ำเสียของโรงงานแต่ละประเภท มีความแตกต่างกัน จะซื้อเครื่องบำบัดน้ำเสียไปติดตั้งเลยไม่ได้ เช่น บางโรงงานที่ไม่เคยทำระบบบำบัดน้ำเสีย ต้องปรับโครงสร้างภายในก่อน หรือบางโรงงานมีลักษณะของน้ำเสียที่มีตะกอนผสมอยู่ อาจต้องมีระบบการดักตะกอน ก่อนที่จะผ่านระบบบำบัดน้ำ และหากจะนำน้ำไว้ใช้หมุนเวียน อาจต้องมีพื้นที่ไว้เก็บน้ำดิบที่ผ่านการบำบัด แต่ถือว่าลดการใช้พื้นที่จาก 5 บ่อเหลือ 2 บ่อ

หากเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการจ้างบริษัทบำบัดน้ำทั่วไปที่มีอยู่ใน จ.ระยอง สำหรับโรงงานที่มีสารเคมีหนัก 1 ลูกบาศก์เมตร หรือ 1,000 ลิตร 
ปกติค่าจ้างบำบัดน้ำเสียทั่วไปคิดค่าบริการ 5,000 บาท ยังไม่รวมค่าขนส่งน้ำไปบำบัดภายนอก ขณะที่เครื่องบำบัดน้ำเสีย Dialute ถูกกว่าการส่งน้ำ
ไปจ้างบำบัดประมาณ 30% และได้น้ำดิบกลับไปใช้หมุนเวียนใหม่ได้

สำหรับค่าใช้จ่ายผมบอกราคาตายตัวไม่ได้ ขึ้นอยู่กับขั้นตอนของแต่ละโรงงาน ประเภทของโรงงานอุตสาหกรรมที่จะให้เข้าไปบำบัดว่า ต้องการให้คุณภาพน้ำออกมาในระดับใด ปริมาณน้ำเสียที่จะบำบัดมากน้อย โรงงานบางแห่งอาจต้องมีการปรับพื้นที่ก่อนการติดตั้งระบบ เป็นต้น

ตอนนี้เราคุยกับลูกค้าอยู่ 10 ราย เป็นโรงงานระดับกลาง เช่น โรงปูน อิฐมวลเบา ย้อมสีผ้า เหล็ก โรงงานยา โรงพยาบาล รวมถึงธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น โรงงานปิโตรเคมี โรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม ในหลายจังหวัด ซึ่งมีปัจจัยแวดล้อมต่างกันไป

หากเปรียบเทียบราคาเครื่องบำบัดน้ำเสียที่มีเทคโนโลยีเดียวกันของเยอรมนี ขนาด 25 คิว ราคาประมาณ 5-6 ล้านบาท ไม่รวมค่าติดตั้งเครื่อง ไม่มีตัวแทนจำหน่ายดูแล หากไส้กรองหมดอายุ ต้องสั่งนำเข้า ขณะที่เครื่องบำบัดน้ำเสีย Dialute ขนาด 25 คิว ราคาประมาณ 3-4 ล้านบาท

การได้รับรางวัลชนะเลิศครั้งนี้ว่า ต้องขอบคุณทางหอการค้าไทยอย่างสูง และ YEC จ.ระยอง ที่คอยสนับสนุนพวกผม ผมและพี่ชายได้เข้ามาเป็นสมาชิก YEC จ.ระยอง มาประมาณ 1 ปี YEC ถือว่าให้โอกาสกับพวกเรามาก ที่มีกิจกรรมดี ๆ มีการสื่อสารกับนักธุรกิจเยาวชนรุ่นใหม่ด้วยกัน

“ไม่ว่าผมจะเรียนเก่งแค่ไหน หากผมไม่รู้จักทุกท่านในหอการค้า ผมคงจะก้าวเดินต่อไปลำบาก YEC ถือเป็นสะพานเชื่อมที่ทำให้พวกเรานักธุรกิจรุ่นเยาว์ได้รู้จักกัน ทำให้รู้จักการเข้าสังคม และการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดี”