“บุรีรัมย์” ชู 3 อีเวนต์ เพิ่มรายได้ ผนึก 3 จังหวัดอีสานใต้ รับแข่ง”โมโตจีพี”

บุรีรัมย์ดัน 3 อีเวนต์ใหญ่ ชู “อารยธรรมขอมโบราณ-วัฒนธรรมชุมชน-กีฬา” ปั้นให้เป็นจังหวัดท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ครม.ไฟเขียว ทุ่มงบฯขยายสนามบินพร้อมยกระดับเป็นสนามบินศุลกากร ภาครัฐ-เอกชนผนึกกำลัง รับมือการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ระดับโลก “โมโตจีพี” ต้นตุลาฯ 2561 คาดไทย-เทศแห่ดูเบาะ ๆ 2 แสนคน เผยยอดจองโรงแรมที่พักช่วงแข่งทะลัก คาด “สุรินทร์-โคราช-ชัยภูมิ” รับอานิสงส์เต็ม ๆ

นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้จังหวัดบุรีรัมย์ได้วางยุทธศาสตร์ที่จะผลักดันให้จังหวัดเป็นเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่ มีอีเวนต์ใน 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.อารยธรรมขอมโบราณ โดยอาศัยจุดเด่นที่มีปราสาทหินสวยงามหลายปราสาท และภูเขาไฟที่ดับแล้ว 6 ลูก และยังมีที่เห็นปากปล่องได้ชัดเจน สามารถพัฒนาไปสู่แลนมาร์กท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดได้

2.วัฒนธรรมชุมชน อาศัยการจัดงานเทศกาลประจำปีผ่านการผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อสร้างจุดขาย ทั้งอาหารการกิน การใช้ภาษา ตลอดจนบทเพลง อาทิ งานขึ้นเขาพนมรุ้งประจำปี งานแสงสีเสียงที่ยิ่งใหญ่ ที่จะมีในช่วงวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี นอกจากนี้เมื่อวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่เพิ่งจัดงานปราสาทเมืองต่ำ เดอะมิวสิคัล ที่มีการนำประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของพื้นที่มาประสานกับศิลปะสมัยใหม่ รวมถึงมีการจัดดินเนอร์ขันโตก

“ตอนนี้เรื่องของอารยธรรมขอมโบราณ และวัฒนธรรมชุมชน กำลังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งสนใจในความเป็นท้องถิ่นของสถานที่ท่องเที่ยว”

นายอนุสรณ์กล่าวอีกว่า อีเวนต์สุดท้าย คือ เรื่องของกีฬา เป็นการประสานงานกับเอกชน ทั้งฟุตบอล และมอเตอร์สปอร์ต สำหรับมอเตอร์สปอร์ต ประเทศไทยได้รับการรับรองจากดอร์นาร์ สปอร์ต เจ้าของลิขสิทธิ์การแข่งขันมอเตอร์ไซค์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโมโตจีพี 3 ปีติดต่อกัน โดยการแข่งขันครั้งแรกจะมีในช่วงวันที่ 5-7 ตุลาคม 2561 สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต บุรีรัมย์ คาดว่าจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวบุรีรัมย์จากเดิม 3 ล้านคน เพิ่มเป็น 6 ล้านคน

ทุ่ม 326 ล.ขยายสนามบิน

นายอนุสรณ์กล่าวเพิ่มด้วยว่า เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาบุรีรัมย์เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งการแข่งขันโมโตจีพีที่เป็นอีเวนต์ระดับโลก ได้จัดงบประมาณ 326.89 ล้านบาท ขยายลานจอดเครื่องบิน ต่อเติมอาคารผู้โดยสารเดิมที่มีพื้นที่ใช้สอยเพียง 3,700 ตร.ม. อาทิ การขยายรันเวย์จาก 2,300 ม. เป็น 3,000 ม. เพื่อให้รับเครื่องบินโบอิ้ง และแอร์บัสได้ รวมถึงการยกระดับท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ให้เป็นสนามบินศุลกากร ซึ่งจะทำให้ภายในท่าอากาศยานมีการตั้งด่านศุลกากรเพื่อตรวจสอบสินค้าและรองรับเที่ยวบินจากต่างประเทศได้ ตลอดจนแผนเพิ่มเที่ยวบินจาก 8 เที่ยวบินต่อวัน เป็น 10 เที่ยวบินต่อวัน

ปัจจุบันลานจอดอากาศยานและอาคารที่พักผู้โดยสารของสนามบินบุรีรัมย์ค่อนข้างคับแคบ มีทั้งเที่ยวบินไป-กลับ ดอนเมือง-บุรีรัมย์ วันละ 8 เที่ยวบิน และการให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำ รวมถึงเที่ยวบินพิเศษ ทำให้มีพื้นที่ลานบิน รวมทั้งพื้นที่ใช้สอยของอาคารที่พักผู้โดยสารไม่เพียงพอต่อผู้ใช้บริการท่าอากาศยานที่เพิ่มขึ้น

“เรื่องนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 และอยู่ระหว่างการแก้ไข-ออกกฎกระทรวงเพิ่มเติม และในอนาคตก็อาจจะมีการเพิ่มเส้นทางการบินจากบุรีรัมย์ ไปเสียมเรียบของกัมพูชา”

ขยายสนามบิน – ปัจจุบันจังหวัดบุรีรัมย์เตรียมขยายสนามบิน ได้แก่ การขยายรันเวย์ให้มีขนาดยาวขึ้น และขยายอาคารที่พักผู้โดยสาร เนื่องจากมีพื้นที่คับแคบ ไม่เพียงพอต่อการรองรับนักท่องเที่ยว


ผนึกกำลังรับมืออีเวนต์ยักษ์

นายเสมอ จินดาพงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเขตพื้นที่ ตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ได้เปิดเผยถึงการเตรียมรับมือการแข่งขันโมโตจีพีในจังหวัดบุรีรัมย์ว่า คาดว่าเฉพาะงานนี้เพียงงานเดียวจะมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาประมาน 2 แสนคน มีทั้งผู้เข้าแข่งขัน ผู้ติดตาม และผู้เข้าชมทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เบื้องต้นมีการประสานงานร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในจังหวัดบุรีรัมย์ ชัยภูมิ สุรินทร์ และนครราชสีมา โดยจะเน้นเรื่องการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยว สถานประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร จุดแวะพัก และที่พักในจังหวัดใกล้เคียงผ่านสื่อออนไลน์

“ส่วนจังหวัดนครราชสีมา เป็นเหมือนจังหวัดทางผ่าน ที่นักท่องเที่ยวจะเข้าพักในลักษณะแวะพักระหว่างการเดินทางขากลับเท่านั้น” นายเสมอกล่าว

ยอดจอง รร.บุรีรัมย์ทะลัก

นางสาวบุณยานุช วรรณยิ่ง ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์ (รับผิดชอบพื้นที่สุรินทร์ บุรีรัมย์) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยอดจองห้องพักโรงแรมในจังหวัดบุรีรัมย์ ในช่วงการแข่งขันโมโตจีพีเกือบเต็มแล้ว ขณะเดียวกันได้มีการประสานเพื่อกระจายยอดการจองไปยังโรงแรมในจังหวัด ๆ รอบ คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2561 อาจจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 500 ล้านบาท จากปี 2560 รายได้รวมกันทั้ง 2 จังหวัดอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท

ททท.สำนักงานสุรินทร์ยังได้วางแนวทางการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอื่น ๆ โดยจะเน้นการขายแพ็กเกจคู่ บุรีรัมย์-สุรินทร์ เพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอยู่ในบริเวณไม่ไกลกันมาก โดยใช้วิธีส่งคูปองที่ได้รับจากโรงแรมเข้าร่วมรายการชิงรางวัลต่าง ๆ

หนุนจังหวัดใกล้เคียงโต

นางสุบงกช วงศ์วิชยาภรณ์ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 1 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า การแข่งขันกีฬาระดับโลกในจังหวัดบุรีรัมย์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้จังหวัดใกล้เคียงมีการเติบโตด้านการท่องเที่ยวและการลงทุนตามไปด้วย โดยเฉพาะธุรกิจบริการประเภทโรงแรม เนื่องจากธุรกิจที่มีในบุรีรัมย์อาจจะมีไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการที่เกิดขึ้นได้

“นอกจากการยกระดับสนามบินดังกล่าว หากภาครัฐเร่งพัฒนาสาธารณูปโภคด้านการขนส่งเพิ่มอย่างต่อเนื่องในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ รถไฟทางเดี่ยว หรืออาจจะเป็นรถไฟไฮสปีด ก็จะช่วยเสริมกับการลงทุนของภาคเอกชนในอีสานตอนล่างให้เติบโตมากขึ้น” นางสุบงกชกล่าว

“บุรีรัมย์” มุ่งศูนย์กลาง อารยธรรมขอม เดินหน้าเมืองกีฬามาตรฐานโลก

จังหวัดบุรีรัมย์ มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 6.45 ล้านไร่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรมประมาณ 5.05 ล้านไร่ และมีพื้นที่ติดกับกัมพูชา โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดบุรีรัมย์ (GPP) ปี 2559 อยู่ที่ 76,590 ล้านบาท มีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวอยู่ที่ 61,741 ล้านบาท ซึ่งโครงสร้างทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการผลิต 4 สาขาหลัก ได้แก่ สาขาเกษตร สาขาการค้า สาขาอุตสาหกรรม และสาขาบริการ ด้านภาคการเกษตร จากข้อมูลเมื่อปี 2559 จังหวัดบุรีรัมย์มีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 2.78 ล้านไร่ มีผลผลิต 9.62 แสนตัน มันสำปะหลัง มีพื้นที่ปลูก 3.26 แสนไร่ ผลผลิต 1.72 ล้านตัน ส่วนอ้อยมีพื้นที่ปลูกประมาณ 2.79 แสนไร่ ผลผลิต 3.48 ล้านตัน ยางพารา มีพื้นที่ปลูก 2.76 แสนไร่ ผลผลิต 5.48 แสนตัน โดยมีเกษตรกรประมาณ 2.38 แสนครัวเรือน มีแรงงานด้านการเกษตรกว่า 5.57 แสนคน ส่วนภาคพาณิชยกรรม รวมถึงการค้าและการบริการนั้น ธุรกิจที่สำคัญคือ ธุรกิจค้าส่งประเภทวัตถุดิบยานยนต์ หรืออุปกรณ์ชิ้นส่วน สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 60% และธุรกิจค้าปลีก

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ในปี 2559 มีโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 559 แห่ง เงินลงทุนกว่า 2.67 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีมูลค่าการลงทุน 2.55 หมื่นล้านบาท เกิดการจ้างงาน 1.3 หมื่นคน ซึ่งภาวการณ์ผลิตภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวร้อยละ 4.55 สะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของโรงงานและทุนจดทะเบียนอุตสาหกรรม เช่น กิจการเกี่ยวกับโรงสีข้าวและศูนย์บริการรถยนต์ต่าง ๆ เป็นต้น

ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เช่น ปราสาทเขาพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ เขาอังคาร เขาปลายบัด เป็นต้น นอกจากนี้จังหวัดยังมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำบุรีรัมย์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ วนอุทยานเขากระโดง รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างขึ้นมาใหม่ เช่น สนามฟุตบอลไอโมบาย สนามแข่งรถมอเตอร์สปอร์ตระดับมาตรฐานโลก Chang International Circuit เป็นต้น โดยในปี 2559 บุรีรัมย์มีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 1.53 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยว 2.33 พันล้านบาท ซึ่งในช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลและแข่งรถ จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 3-5 หมื่นคน

ทั้งนี้ จังหวัดบุรีรัมย์มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ปี 2561-2564 ครอบคลุมทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิต ความมั่นคงและสงบ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งหมด 4 ด้าน คือ 1.การพัฒนาศักยภาพเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวอารยธรรมขอมและกีฬามาตรฐานโลก

2.ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัยมาตรฐานสากล 3.ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหม และ 4.ส่งเสริมการค้าชายแดนเพื่อการค้าและการลงทุน