ล้งจีนบีบทุเรียนใต้ราคาร่วงหนัก อั้นรับซื้อ ชาวสวนรู้ทันชะลอขาย

จับตาล้งเปิดราคารับซื้อทุเรียนใต้ ต้นฤดูร่วงหนัก 140 บาทเหลือ 120 บาท ปรับวันเดียว 2 ครั้ง ชาวสวนแห่ตัดหวั่นราคาดิ่งหนัก เหตุทุเรียนไม่ได้คุณภาพ ทุเรียนอ่อนหลุดส่งไปจีนมากราคายิ่งดิ่ง ล้งชะลอ-อั้นรับซื้อ ชี้ทุเรียนใต้มีสิทธิต่ำ 100 บาท/กก. ชาวสวนแก้เกมชะลอการตัดหวังทำราคาให้นิ่ง ชี้ภัยแล้งผลผลิตหายไป 50%

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากการสำรวจราคาแผงรับซื้อทุเรียนภาคใต้ หลังกำหนดวันตัดตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย. 2566 พบว่า ราคามีแนวโน้มลดลง โดยราคาต้นฤดู หมอนทองเกรด AB ราคากิโลกรัมละ 170-140 บาท และถัดมาช่วงวันที่ 13-14 มิ.ย. ราคาต่ำลงมาอยู่ในระดับ กก.ละ 135-140 บาท

ขณะที่วันที่ 15 มิ.ย.วันเดียว มีบางแผงปรับราคา 2 รอบเช้า-บ่าย กก.ละ 10 บาท เหลือ 120 บาท จากนั้นหยุดซื้อ 1 วัน และปรับราคารับซื้อมาอยู่ในระดับ กก.ละ 120-125 บาท

หลายปัจจัยทำทุเรียนใต้ราคาลง

นายวีรวัฒน์ จีรวงส์ นายกสมาคมชาวสวนไม้ผล จ.ชุมพร และเจ้าของสวนทวีทรัพย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทุเรียนภาคใต้เริ่มฤดูกาลแล้ว แต่ จ.ชุมพร ประสบกับปัญหาภัยแล้ง ทำให้ปริมาณผลผลิตหายไป 40-50% ในขณะที่ทุเรียนตกไซซ์มีปริมาณเพิ่มขึ้น คือ เกรด AB 50% ตกไซซ์ 50% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน เกรด AB 70-80% ตกไซซ์ 30%

ขณะที่คนตัดทุเรียนพยายามตัดครั้งเดียวหมดทั้งสวน ทั้ง ๆ ที่ทุเรียนมีหลายรุ่น แก่ อ่อน ไม่พร้อมกัน ทำให้มีทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพหลุดออกมาด้วย เมื่อไปถึงโรงคัดบรรจุ (ล้ง) คัดไม่ละเอียดก็ทำให้ทุเรียนอ่อนหลุดออกไปตลาดจีน ประกอบกับผลผลิตทุเรียนรุ่นสุดท้ายของภาคตะวันออกที่เหลือเพียงเล็กน้อยคุณภาพไม่ดีจากฝนตก

จากปัจจัยดังกล่าวจึงฉุดราคาทุเรียนใต้ช่วงต้นฤดูให้ตกลง หลังวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่เริ่มตัดทุเรียน ราคาหมอนทองเกรด AB ลดลงมาอยู่ที่ระดับ กก.ละ 120-130 บาท จากช่วงก่อนเปิดฤดูราคาอยู่ในระดับ 140-150 บาท แต่อย่างไรก็ตาม ราคาดังกล่าวก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าปีก่อน ที่ราคาอยู่ในระดับ 80-90 บาท

นายวีรวัฒน์กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ทำให้ทุเรียนใต้ราคาตกลง หลัก ๆ มาจากคุณภาพทุเรียนไม่ดี จากปัญหาภัยแล้งใน จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี ตอนบน ทำให้ผลผลิตเป็นเกรดตกไซซ์มาก, การตัดทุเรียนครั้งเดียวทั้งสวนและเป็นการตัดข้ามรุ่น จึงทำให้มีทุเรียนอ่อนถูกตัดมาด้วย 10-20% และมีจำนวนหนึ่งที่หลุดและส่งออกไปตลาดปลายทางจีน ทำให้ขายยาก

นอกจากนี้ปริมาณทุเรียนใต้ยังมีผลผลิตออกมามาก บวกกับทุเรียนจากหลาย ๆ พื้นที่ทั่วประเทศที่ทยอยออกมาพร้อม ๆ กัน เช่น อุตรดิตถ์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ กาญจนบุรี โคราช ชัยภูมิ ฯลฯ ทำให้ล้งทำงานไม่ทันและต้องชะลอการซื้อ นอกจากนี้ ทุเรียนใต้ยังออกตรงกับทุเรียนเวียดนาม ซึ่งมีราคาถูกกว่าทุเรียนไทย ประกอบกับช่วงนี้จีนมีผลไม้สดอื่น ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก และราคาถูก เช่น เชอรี่ ลิ้นจี่ เป็นต้น

“อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาทุเรียนจะปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง ในช่วงวันที่ 5-10 ก.ค.นี้ เพราะทุเรียนหมดรุ่นและมีปริมาณน้อยกว่าที่คาดไว้ และจากนั้นในช่วงหลังกลางเดือน ก.ค.ถึงปลายเดือน ส.ค. จะมีทุเรียนทยอยออกมาอีกรุ่น และคาดว่าปีนี้ราคาทุเรียนใต้จะยืนอยู่ที่ระดับ กก.ละ 110-120 บาท” นายวีรวัฒน์กล่าว

ภัยแล้งอุปสรรคใหญ่

นายณรงค์ศักดิ์ สินศักดิ์ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จ.ชุมพร (ศพก.) อุปนายกสมาคมไม้ผล จ.ชุมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ชุมพรประสบภาวะภัยแล้งเกือบ 5 เดือน ทุเรียนตายหลายแสนต้น จากปริมาณที่คาดการณ์ 330,000 ตัน น่าจะเหลือ 230,000-240,000 ตัน หลังทุเรียนรุ่นแรกที่ออกในเดือน มิ.ย.หมด

รุ่นต่อไปเดือน ก.ค. ราคาเปิดฤดูหมอนทอง AB กก.ละ 170-180 บาท แต่ในช่วงไม่กี่วันราคาลงมาเรื่อย ๆ ล่าสุดอยู่ที่ 120-130 บาท อย่างไรก็ตาม คาดว่ากลางเดือน ก.ค.-ส.ค. ราคาน่าจะขยับขึ้น 20-30 บาท/กก. เป็น 150-160 บาท

เพราะปีนี้ผลผลิตมีน้อยและเริ่มหมดรุ่น และเดือน ก.ย. เริ่มฤดูทุเรียนทวาย (ออกหลังฤดู) ราคาจะสูง กก. 180-200 บาท แต่อาจจะมีปัญหาลูกไม่สมบูรณ์และปริมาณน้อยจากภาวะภัยแล้ง

“ภาวะภัยแล้งทำให้มีการตัดทุเรียนหนีแล้ง เพราะกลัวราคาลง มีปัญหาคุณภาพ เปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งไม่ได้ 32% สำหรับราคาทุเรียนใต้ช่วงเดือน มิ.ย. กก.ละ 120-130 บาท แต่ก็สูงกว่าปีก่อนเกือบเท่าตัว หรือประมาณ กก.ละ 75 บาท ราคาหน้าสวนอยู่ที่ 105-110 บาท การทำสัญญาเหมาสวนคว่ำหนามคือตัดหมดสวนราคา 110-115 บาท/กก.” นายณรงค์ศักดิ์กล่าว

ขณะที่ นายภานุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ราคาทุเรียนภาคตะวันออกเริ่มจากแพงไปหาถูก แต่ราคาทุเรียนภาคใต้จะเริ่มจากถูกไปหาแพง คาดว่าหลังวันที่ 20-30 มิ.ย. ราคาทุเรียนน่าจะต่ำลง แต่เป็นระยะสั้น ๆ

เพราะมีทุเรียนทั่วประเทศของไทยออกสู่ตลาด จากนั้นช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.น่าจะสูงขึ้น ราคาทุเรียนที่ตกต่ำแต่ละครั้ง ไม่ใช่ล้งกดราคา มีหลายปัจจัยที่เป็นกลไกตลาด เช่น คุณภาพทุเรียน ออกตรงกับทุเรียนเวียดนาม ปีนี้ทุเรียนภาคตะวันออกราคาดีมาก เฉลี่ย กก.ละ 150 บาท ส่วนภาคใต้เฉลี่ย ประมาณ 100 บาท ด้วยคุณภาพของทุเรียนภาคตะวันออกดีกว่า แต่ต้นทุนสูงกว่าเช่นกัน

“ชุมพร” แชมป์ทุเรียนใต้

นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า ปีนี้จันทบุรีประสบความสำเร็จในการส่งออกผลไม้คุณภาพ โดยในส่วนของผลผลิตทุเรียนจันทบุรี ปีนี้มีสูงถึง 540,000 ตัน คิดเป็น 80% ของทุเรียนภาคตะวันออก สร้างรายได้แก่เกษตรกรและประเทศหลายแสนล้านบาท ซึ่งปีนี้มูลค่าผลผลิตทุเรียนสูงเป็นประวัติการณ์ มากกว่าทุก ๆ ปี

สำคัญคือการควบคุมคุณภาพ ทำให้ทุเรียนแก่ สุก รสชาติเป็นที่ชื่นชอบในตลาดจีน รวมทั้งไม่มีปัญหาด้านโลจิสติกส์ โดยทุเรียนส่วนใหญ่ขนส่งไปทางบก เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ใช้เวลาไม่เกิน 4-5 วัน ไม่มีปัญหาตู้ขนส่งสินค้าล่าช้า จึงส่งผลให้ทุเรียนของเกษตรกรมีราคาดีตลอดฤดูกาล

อย่างไรก็ตาม เดือน มิ.ย.นี้ยังคงเหลือผลผลิตที่รอเก็บเกี่ยวอีกประมาณ 10% หรือ 60,000-70,000 ตัน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำโมเดลการพัฒนาคุณภาพทุเรียนของจังหวัดจันทบุรีไปพัฒนาทุเรียนในภาคใต้ด้วย

ด้านนายเอี๊ยว ซื่อ ฉาง (YOU ZHIQIANG) ผู้บริหาร บริษัท นิรันดร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้ง จำกัด โรงคัดบรรจุรับซื้อทุเรียนส่งออกรายใหญ่ใน จ.จันทบุรี และ จ.ชุมพร ให้ข้อมูลว่า ทุเรียนไทยเป็นที่ชื่นชอบยอมรับกับชาวจีนมาก แม้ว่าจะมีคู่แข่งจากเวียดนาม ลาว ฟิลิปปินส์

จุดสำคัญเรื่องเดียวคือความสุก ความแก่ รสชาติอร่อย ตอนนี้คนจีนได้บริโภคทุเรียนเพียง 20% อีก 80% ยังไม่ได้บริโภค ความต้องการทุเรียนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าราคาทุเรียนดีต่อเนื่องไปถึง 10 ปี

ขณะที่ นางสาวฉันทนา คงนคร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 7 (สวพ.7) ให้ข้อมูลจากการประชุมคณะกรรมการเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้ ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 18-19 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ปี 2566 ทุเรียนภาคใต้ มีปริมาณ 667,338 ตัน เพิ่มขึ้น 48.73% ผลผลิตในฤดู 582,925 ตัน นอกฤดู 84,413 ตัน

ผลผลิตในฤดูเริ่มออกสู่ตลาดเดือน มิ.ย.-ต.ค. 2566 โดยเดือน มิ.ย. มีผลผลิต 159,887 ตัน เพิ่มขึ้น 23.96 % ก.ค. 192,348 ตัน เพิ่มขึ้น 28.82% ส.ค. 118,288 ตัน เพิ่มขึ้น 17.73% ก.ย. 75,105 ตัน เพิ่มขึ้น 11.25% และ ต.ค. 37,297 ตัน เพิ่มขึ้น 5.59%

และผลผลิตนอกฤดู ช่วงเดือน ม.ค.-ธ.ค. 2566 โดยเดือน ม.ค. มีผลผลิต 15,901 ตัน เพิ่มขึ้น 2.38% ก.พ. 12,784 ตัน เพิ่มขึ้น 1.92% มี.ค. 1,020 ตัน เพิ่มขึ้น 0.15% เม.ย. 2,379 ตัน เพิ่มขึ้น 0.04% พ.ค. 1,085 ตัน เพิ่มขึ้น 0.16% ขณะที่ พ.ย. 26,825 ตัน เพิ่มขึ้น 4.02% และ ธ.ค. 26,561 ตัน เพิ่มขึ้น 3.98%

โดย จ.ชุมพร มีผลผลิตมากที่สุด รวม 337,376 ตัน เพิ่มขึ้น 29.15% ผลผลิตในฤดูเริ่มออกสู่ตลาด เดือน มิ.ย. 127,613 ตัน เพิ่มขึ้น 37.83% ก.ค. 116,099 ตัน เพิ่มขึ้น 34.42% ส.ค. 20,045 ตัน เพิ่มขึ้น 5.93% ก.ย. 11,330 ตัน เพิ่มขึ้น 3.36% และ ต.ค. 22,040 ตัน เพิ่มขึ้น 6.53%