“ทุเรียนยะลา” วืด 1.5 พันล้าน ลอตท้าย 5 หมื่นตัน ระส่ำหนอนเจาะ

ทุเรียนหนอนเจาะ

หนอนเจาะเมล็ดทุเรียนกำลังเป็นปัญหาใหญ่ สำหรับทุเรียนยะลาที่มาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส โดยยะลาที่มีสัดส่วนอยู่มากที่สุด และตอนนี้กำลังส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก

เพราะในปี 2566 พบหนอนเพิ่มขึ้น 20% สถานการณ์รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการส่งออกไปจีน ขณะที่ทุเรียนเวียดนามซึ่งมีปัญหาน้อยกว่ากำลังชิงพื้นที่ตลาด

ทุเรียนยะลาสูญ 1.5 พันล้าน

“ซาวาวี ปูลา” เกษตรกรและผู้ประกอบการรับซื้อรวบรวมสินค้าเกษตรกลุ่มหนามเขียว “คลินิกทุเรียน” อ.ธารโต จ.ยะลา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปกติทุกปีราคาทุเรียนยะลาจะอยู่ที่ 130-140 บาท/กก. ต่ำกว่าราคาทุเรียนชุมพร 10-20 บาท/กก.

แต่ปีนี้กลับต่ำกว่าถึง 30-40 บาท/กก. เพราะประสบปัญหาถูกหนอนเจาะเมล็ด เช่น ถ้าราคาทุเรียนชุมพร 130-140 บาท/กก. ราคาทุเรียนยะลาจะอยู่ที่ 110 บาท/กก.

โดยทุเรียนยะลาเหลืออีกประมาณ 50,000 ตัน ที่จะออกสู่ตลาดในลอตสุดท้ายของฤดูกาลเดือนกันยายนนี้ รวมมูลค่าเกือบ 10,000 ล้านบาท ปัญหาดังกล่าวจะทำให้เม็ดเงินหายไปกว่า 1,500 ล้านบาท

ในกรณีที่รถบรรทุกทุเรียนส่งล้งไม่ว่าจะมาจากสวนไหนก็ตาม 3-4 ตัน/คัน หากตรวจพบหนอนเจาะทุเรียน 1 ลูก จะเหมาว่ามีหนอนทั้งคันรถตามหลักการวิจัย

แม้สภาพความจริงรวบรวมทุเรียนมาจากหลายสวนก็ตาม ปัญหานี้มาจากต้นทางตัดทุเรียนแบบเหมาสวน มือตัดมักรวบตัดทั้งหมดทั้งทุเรียนอ่อนและทุเรียนแก่เพราะกลัวราคาลง ทำให้มีไข่หนอนติดไปกับทุเรียนอ่อนด้วย เมื่อส่งออกไปถึงจีน หนอนก็ออกเป็นตัว

“ผู้ส่งออกบางรายอาศัยช่องว่างค้ากำไรนำทุเรียนอ่อนปะปนไปกับทุเรียนแก่แพ็กบรรจุไปในกล่องเดียวกัน ซึ่งจะได้ส่วนต่าง 40-50 บาท/กก. ยกตัวอย่างส่งไป 4 ตู้คอนเทนเนอร์ หากถูกสุ่มตรวจเจอหนอน 1 ตู้ เหลือส่งขายได้ 2-3 ตู้ ก็ยังมีกำไรด้วยราคาส่วนต่าง

แต่มาตรการกรองหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการเพิ่มขึ้น ผู้ส่งออกต้องนำค่าใช้จ่ายมาหักลดราคารับซื้อจากชาวสวน ทำให้ราคาทุเรียนของชาวสวนต่ำลง ล้งที่ตรวจพบหนอนหากถูกระงับ DOA หรือหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช ก็จะหยุดการซื้อ กระทบกับเกษตรกรยะลาเป็นอย่างมาก

แม้ว่าการซื้อขายทุเรียนยะลาจะมีสัดส่วนเพียง 1% ของรายได้ทุเรียนภาคตะวันออกที่มากกว่าแสนล้านบาท เรื่องนี้ต้องพยายามร่วมมือกันสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดจีน เพราะจีนมีทุเรียนจากเวียดนามเป็นทางเลือก”

“วุฒิชัย คุณเจตน์” นายกสมาคมทุเรียนไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนกระทบเป็นลูกโซ่ พ่อค้าแม่ค้าที่รับซื้อทุเรียนจากตลาดค้าส่งไปขายปลีก ต้องรับเคลมกับลูกค้าหรือแกะให้ดูก่อน ถ้าของไม่ดี ผู้บริโภคจะไม่ซื้อ ปัญหานี้กระทบกับตลาดทุเรียนไทยส่งออก เพราะทุเรียนหมอนทองเวียดนามราคาใกล้เคียงกับของไทย

โดยทุเรียนไทยแข่งขันค่อนข้างสูง ซื้อแบบเหมาสวน การเร่งเก็บเกี่ยวด้วยการตัดทุเรียนอ่อน ทำให้มีหนอนในลูก ล้งรับซื้อจึงเสี่ยงต่อการขาดทุน พ่อค้าที่ขาดทุนไปแล้วก็เริ่มหันไปค้าทุเรียนเวียดนามที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า

ล้งหยุดซื้อเพราะปัญหาหนอน

แหล่งข่าวจากแผงรับซื้อขนาดใหญ่ในจังหวัดยะลาให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2566 มีมาตรการคุมเข้มการตรวจปล่อยตู้คอนเทนเนอร์ขนส่ง การออกใบอนุญาต PC ของนายด่านตรวจพืชเข้มงวด เพราะตรวจพบตู้ขนส่งทุเรียนที่มีหนอนเจาะเมล็ดที่ด่านนครพนมและให้ตีกลับ

ส่งผลต่อราคารับซื้อทุเรียนและการหยุดรับซื้อทุเรียนยะลา (ภาคใต้ตอนล่าง) และการถูกตีกลับทำให้ทุเรียนอยู่ในตู้นานกว่า 5 วัน สุกงอมจนต้องนำมาแกะเนื้อขาย รวมต้นทุนค่าขนส่งไป-กลับจะขาดทุนตู้ละประมาณ 720,000 บาท ล้งที่รับซื้อจึงต้องปรับราคารับซื้อจากสวนลง ช่วงต้นเดือนกันยายนที่ราคาทุเรียนยะลาหนามเขียวเบอร์รวมราคา 100-105 บาท/กก. ราคาตกลงมาเหลือเพียง 90-95 บาท/กก. และล้งจะชะลอการซื้อหรือหยุดรับซื้อชั่วคราวอีก

“ถึงจะตรวจอย่างเข้มงวดแต่อย่างไรก็ต้องมีหนอนหลุดออกไป แม้แผงรับซื้อจะคัดมาจากชาวสวน 2-3 รอบก่อนขึ้นรถแล้วมาตั้งบ่มที่ล้งต่ออีก 2 วัน และคัดอีก 2 รอบก่อนส่งไปบรรจุกล่องที่โรงแพ็ก บางล้งถึงกับต้องจ้างพนักงานจับหนอนตัวละ 20 บาท เพราะการถูกตีกลับเท่ากับการขาดทุนตู้ละเกือบ 1 ล้านบาท ฉะนั้นบางแผงจำเป็นต้องหยุดรับซื้อ 2-3 วัน และเปิดรับซื้อเฉพาะเจ้าประจำที่เชื่อใจได้รายละ 20-50 ตัน/วัน”

ล่าสุดแหล่งข่าวจากสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงต้นเดือนกันยายนมีหลายล้งประกาศหยุดรับซื้อทุเรียนทางภาคใต้ หรือรับซื้อแต่เจ้าประจำ เนื่องจากปัญหาหนอนและใบ GAP ไม่เพียงพอและยังมีเรื่องฝนตกหนัก น้ำท่วมในจีน

ถึงกระนั้นราคาทุเรียนไทยยังสูงกว่าราคาทุเรียนเวียดนามเล็กน้อย แต่โรงคัดบรรจุที่อยู่ในระหว่างการระงับเลข DOA และยังไม่ได้รับการตรวจสอบ ก็ยังคงรับซื้อทุเรียนอยู่โดยผ่านเครือข่ายด้วยกัน

ทุเรียนหนอนเจาะ

หนอนทุเรียนรุนแรงกว่าทุกปี

“ปทุมวดี อิ่มทั่ว” อัครราชทูตที่ปรึกษา สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง เปิดเผยว่า สถานการณ์การนำเข้าทุเรียนปี 2566 จีนนำเข้าทุเรียนไทยปริมาณสูงต่อเนื่อง มูลค่าก็เพิ่มขึ้น ผู้นำเข้ายังพึงพอใจทุเรียนไทยที่มีหลากหลายสายพันธุ์เพราะรสชาติดี มีคุณภาพดี แม้จะมีทุเรียนเวียดนาม ก็เป็นเพียงการช่วยเติมเต็มช่วงทุเรียนไทยขาดแคลนและไม่มีการแข่งขันมากนัก

แต่จากการตรวจพบหนอนในเมล็ดทุเรียนที่ด่านโมฮานของจีน ส่งผลกระทบต่อตลาดค้าส่งและราคาทุเรียนไทยมาก แม้ปัญหาเรื่องหนอนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ปี 2566 นี้รุนแรงและมีจำนวนมาก

ในตลาดซินฟาตี้ กรุงปักกิ่ง ผู้นำเข้าแจ้งว่าทุเรียนไทยที่นำเข้าจากโซนภาคใต้พบหนอนตู้ละ 1-2% เป็นปัญหากับตลาดค้าส่งที่จะกระจายตัวสินค้าไปยังห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ ทำให้การซื้อขายในอนาคตหรือตลาดค้าปลีกต้องรับผิดชอบเคลมสินค้า

ด้านฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว กล่าวว่า สถานการณ์ราคาทุเรียนไทยเทียบกับทุเรียนเวียดนาม ทั้งตลาดค้าส่ง-ค้าปลีก ทุเรียนไทยราคาสูงกว่าเวียดนามอย่างชัดเจน ผู้ค้ายังเชื่อมั่น ชื่นชอบทุเรียนไทย แต่ปัญหาตรวจพบหนอนในเมล็ดทุเรียนล่าสุดตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมทำให้มีผลกระทบต่อราคาตลาดขายส่ง ปัจจุบันพบ 1 ใน 3 ของปริมาณนำเข้า

บางครั้งตรวจที่ด่านไม่พบแต่พบที่ตลาด ทางการจีนได้แจ้งกรมวิชาการเกษตรภายในให้ไทยควบคุมคุณภาพจากต้นทาง ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 28-29 สิงหาคม 2566 ในตลาดเจียงหนานที่ไทยส่งทุเรียนเข้าไปวันละ 30-45 ตู้ เริ่มนำเข้าทุเรียนเวียดนามมากกว่าไทยเล็กน้อย

ขณะที่ฝ่ายเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า ตลาดค้าส่งเจียจิง ศูนย์กระจายตลาดภาคตะวันออก ซึ่งเป็นตลาดใหญ่รองจากตลาดเจียงหนาน ครึ่งปีแรกทุเรียนไทยเป็นที่ยอมรับและครองตลาด 80% ช่วงเดือนสิงหาคม พบหนอนในเมล็ดทุเรียน เพิ่มขึ้นสูงถึง 20% จากเดิม 10%

ผู้นำเข้าจึงหลีกเลี่ยงจากนำทุเรียนยะลาแล้วนำเข้าทุเรียนเวียดนามแทน สัดส่วนตลาดของไทยกับเวียดนามจึงอยู่ที่ 50 % เท่ากัน ส่วนค้าปลีกตลาดออนไลน์ แทบไม่มีทุเรียนไทยจำหน่ายเลย กรณีนี้หากถูกแชร์ในไวรัลจะเสียชื่อเสียงและเสียลูกค้า

4 มาตรการเร่งด่วนสกัดหนอน

อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรแจ้งว่า ปริมาณทุเรียนถูกตีกลับจากปัญหาหนอนในเมล็ดทุเรียนจากสำนักงานศุลกากรจีน (GACC) มีจำนวน 34 ชิปเมนต์ ประมาณ 594.63 ตัน มูลค่าประมาณ 83.37 ล้านบาท และระงับโรงคัดบรรจุ (DOA) หรือล้ง จำนวน 8 ล้ง และอยู่ระหว่างการระงับอีก 6 ล้ง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและภาพรวมการส่งออกทุเรียนไทยเป็นอย่างมาก

ฉะนั้นปริมาณผลผลิตในพื้นที่ จ.ยะลา (ภาคใต้) ที่จะออกมา 50,000 ตัน กลางเดือนกันยายนนี้ กรมวิชาการเกษตรได้เร่งออกมาตรการเร่งด่วนระยะสั้น มีผลเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ดังนี้

1.การคัดทุเรียนคุณภาพ ให้เริ่มต้นจากสวน แยกทุเรียนหนามเขียว จากแปลงที่มีการดูแลการกำจัดและควบคุมคุณภาพเป็นอย่างดี ตัดผลผลิตที่มีคุณภาพ บ่มเพื่อให้หนอนออกมา และคัดลูกที่มีหนอนออก นำผลผลิตที่คุณภาพสมบูรณ์ส่งขายโรงคัดบรรจุ

2.ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ หรือล้งเพิ่มขั้นตอนในการคัดทุเรียนที่มีหนอนติดมา โดยการบ่มแยกกองตามแหล่งที่มา แล้วกำจัดหนอน 3.นายด่านตรวจพืชเพิ่มเปอร์เซ็นต์การสุ่ม ณ โรงคัดบรรจุ

และ 4.ด่านตรวจพืชปลายทางตัดซีลเปิดตู้ตรวจสอบทุกชิปเมนต์ก่อนออกใบรับรองสุขอนามัยพืช ทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ หากพบหนอนจะถูกระงับและส่งกลับโรงคัดบรรจุ