มอ.รุกขับเคลื่อน 5 กลยุทธ์ตั้งเป้า 4 ปี พัฒนาไทยยั่งยืน

ม.สงขลา

ม.สงขลานครินทร์ ตั้งเป้า 4 ปี (2567-2570) มุ่งขับเคลื่อน 5 กลยุทธ์ “เกษตรอาหารและสุขภาพ-ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-สังคมพหุวัฒนธรรม-การสร้างนวัตกรรม-การท่องเที่ยว” สร้างศักยภาพพัฒนาชุมชนในภาคใต้ ประเทศไทย พร้อมใช้ศักยภาพของสถาบันที่เป็นสมองของประเทศ ปรับวิธีการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภายในและภายนอกองค์กร

ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยในการเปิดโครงการเครือข่ายสัมพันธ์ สงขลานครินทร์ ครั้งที่ 4 The 4th PSU Network on Trang Campus ว่า ในช่วง 4 ปีข้างหน้า (ปี 2567-2570) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้วางแผนการดำเนินงาน

โดยกําหนดวิสัยทัศน์ใหม่ให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณค่า เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างยั่งยืน โดยจะเน้นการขับเคลื่อนเชิงกลยุทธ์ 5 ประเด็น คือ เรื่องเกษตรอาหาร-สุขภาพ, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สังคมพหุวัฒนธรรม, การสร้างนวัตกรรม และการท่องเที่ยว

ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นจุดแข็งของประเทศไทย และเป็นความพร้อมของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อสร้างศักยภาพในการดำเนินการเรื่องสําคัญ ๆ และส่งผลให้เกิดการพัฒนาชุมชนในภาคใต้ ประเทศไทย และสังคมโลกได้อย่างแท้จริง

จะมีการปรับวิธีการทำงานให้พร้อมที่จะร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ในการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญของสังคม โดยใช้ศักยภาพของสถาบันที่เป็นสมองของประเทศที่ทุกคนให้ความเชื่อถือและไว้วางใจ

นอกจากนี้ ไฮไลต์สำคัญที่มหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจอันดามัน คือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยการจัดตั้งศูนย์สุขภาพอันดามันที่จังหวัดภูเก็ต เชื่อมโยงจังหวัดอันดามันทั้งหมด เป็นโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมูลค่าสูงโดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติดำเนินการแล้ว คาดว่าจะใช้งบฯลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท

“หลายปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีการดำเนินภารกิจทั้งการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ การผลิตบัณฑิต การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัย การขับเคลื่อนสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ การมีระบบรักษาพยาบาลที่มั่นใจในคุณภาพ คุณธรรมและการรักษาพยาบาลที่เป็นเลิศ

รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการ มีการพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และได้นำผลงานนวัตกรรมและบริการวิชาการ สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และเพื่อการพัฒนาประเทศ

โดยได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยคุณภาพในระดับต้น ๆ ของประเทศและระดับโลก”

ด้าน ผศ.ดร.พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ และรักษาการแทนรองอธิการบดีวิทยาเขตตรัง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกอบด้วย 5 วิทยาเขต แต่ละวิทยาเขตมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ภาพของมหาวิทยาลัยโดยใช้ข้อมูลและสถานที่การจัดกิจกรรมหมุนเวียนกันทุกวิทยาเขตในแต่ละปี

เพื่อแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรผู้ปฏิบัติงานภายในมหาวิทยาลัยด้วยกันเอง และเครือข่ายภายนอก

ทั้งนี้ ทางวิทยาเขตตรังมีหลักสูตรการเรียนการสอน เช่น ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ และผลงานเด่น ๆ เพื่อชุมชน เช่น ผลงานวิจัย
เส้นทางการท่องเที่ยวในชุมชนย่านเมืองเก่ากันตัง ชุมชนย่านตาขาวหรือย่านตาขาวโมเดล และสัมผัสวิถีชีวิตชาวเลที่ชุมชนบ้านน้ำราบ เป็นต้น

“สำหรับกิจกรรมในโครงการเครือข่ายสัมพันธ์สงขลานครินทร์ ปี 2566 ได้เป็นเจ้าภาพจัดประกวดออกแบบนวัตกรรม Youth Innovation Competition on Lancang-Mekong Region’s Governance and Development (YICMG 2024)

เพื่อสร้างเครือข่ายสัมพันธ์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาคิดประเด็นในการเปิด 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ราชอาณาจักรไทย และราชอาณาจักรกัมพูชา”

สำหรับผลงานเด่นของมหาวิทยาลัย เช่น นครตรัง Innovation City (TRM+ICM+PART+PA), โครงการ U2T, โครงการมูลนิธิชมรมรากแก้ว, การทำ Digital Marketing ให้กับสถานประกอบการ (IDTM+DBIZ),กรรมวิธีการผลิตไบโอแคลเซียม, เจลลี่พร้อมดื่มจากน้ำส้มสายชูหมัก ฯลฯ