“พังงา” ดัน PPP ท่าเรือครุยส์ ซาอุ-สิงคโปร์สนที่ดินเกาะคอเขา 4 หมื่นไร่

พังงา

ท่องเที่ยวพังงาฟื้นตัว ยอดจองห้องพักช่วงไฮซีซั่นพุ่ง 85% ผลักดันเปิด PPP “ท่าเทียบเรือสำราญ” เกาะคอเขา หลังต่างชาติสนใจลงทุน

นายสมพงศ์ ดาวพิเศษ นายกสมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพอันดามันและอ่าวไทย และประธานเครือโรงแรมลา ฟลอร่า กรุ๊ป จ.พังงา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ภาคเอกชนในจังหวัดพังงาพยายามผลักดันให้มีการก่อสร้าง “ท่าเทียบเรือสำราญ” หรือเรือครุยส์ (Cruise Terminal) ที่มีมาตรฐานระดับสากลบริเวณเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า มีพื้นที่ประมาณ 40,000 ไร่ในลักษณะโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP

เนื่องจากที่ผ่านมามีนักธุรกิจต่างชาติทั้งซาอุดีอาระเบีย และสิงคโปร์ สนใจเข้ามาลงทุน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 70,000-100,000 ล้านบาท โดยจะสร้างเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลครบวงจร ทั้งท่าเทียบเรือสำราญ รับเรือซูเปอร์ยอชต์ ฯลฯ

“เรื่องนี้ผลักดันกันมา 20 ปี แต่ติดขัดข้อกฎหมายต่าง ๆ ของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้เสียโอกาสในการสร้างรายได้เข้าประเทศแต่หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางลงมาพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และพังงา ได้มีการประกาศว่า โครงการลงทุนต่าง ๆ สามารถทำเป็นลักษณะโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP ได้ จะทำให้โครงการมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น

และควรต้องให้สิทธิประโยชน์คนที่มาลงทุนเทียบเท่าเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยการลงทุนคาดว่าสามารถคืนทุนได้หมดภายใน 5 ปี”

ตอนนี้เกาะปีนัง และเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย มีการสร้างท่าเทียบเรือสำราญแล้ว ซึ่งเรือสำราญแต่ละลำมีนักท่องเที่ยว ประมาณ 2,000-3,000 คน/ลำ ค่าใช้จ่ายต่อหัวจะได้ ประมาณ 3,000-5,000 บาทต่อหัวต่อวัน ถ้าประเทศไทยมีการสร้างท่าเทียบเรือสำราญอาจจะดึงดูดนักท่องเที่ยวที่อยู่บนเรือลงมาพักค้างคืนในโรงแรมได้อีก 1 วัน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่รวมที่พักและค่าอาหาร น่าจะมีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 6-10 ล้านบาทต่อวันต่อลำ ถ้าเรือหลายลำจะได้เงินอีกมหาศาล

นายสมพงศ์กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้โครการดังกล่าวที่จังหวัดพังงาเพิ่งจะเริ่มสำรวจ ซึ่งสามารถสร้างสะพานเชื่อมข้ามจากบ้านน้ำเค็มไปเกาะคอเขาได้ ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร พื้นที่ตรงนั้นสามารถสร้างท่าเทียบเรือสำราญ และโรงแรม 40-50 โรงแรมได้

นายสมพงศ์กล่าวต่อไปว่า ไฮซีซั่นปี 2566 การท่องเที่ยวจังหวัดพังงาตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2566 สถิติการจองห้องพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ ค่าเฉลี่ยประมาณ 82% เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม เฉลี่ย 85% และเดือนมกราคม-กลางเดือนเมษายน 2567 ขณะนี้มีการจองล่วงหน้าเกิน 70%

สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมา “เขาหลัก” จ.พังงา อันดับหนึ่ง เยอรมัน ตามด้วย สแกนดิเนเวีย อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย ส่วนจีนยังมีจำนวนน้อย และอินเดีย ส่วนใหญ่พักที่ จ.ภูเก็ต

ตาราง นทท.ภาคใต้

อัตราการจองห้องเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 และคาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวในโซนทะเลอันดามันตลอดทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 10 ล้านคน หรือประมาณ 30% ของตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดทั่วประเทศ 28-32 ล้านคน ตอนนี้รัสเซียมีการขอเพิ่มเที่ยวบินทั้งภูเก็ต กรุงเทพฯ และอู่ตะเภา รวมถึงสายการบิน AL ของอิสราเอลก็มีการขอเพิ่มเที่ยวบิน ภูเก็ต และกรุงเทพฯ

“เฉพาะการท่องเที่ยวของพังงาปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประมาณ 3.8 ล้านคน มากกว่าปี 2562 ซึ่งจากสถิติตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดพังงา ประมาณ 1 ล้านคน และคาดว่าปลายปีนักท่องเที่ยวจะเพิ่มจำนวนขึ้น ตอนนี้ยอดจองที่พักโรงแรมต่าง ๆ ทั้งจังหวัดภูเก็ตและพังงาค่อนข้างมาก ขณะที่การท่องเที่ยวของอันดามัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 20%”

แม้มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามอิสราเอล-ฮามาส ทำให้ราคาน้ำมัน และตั๋วเครื่องบินแพงขึ้น และบางพื้นที่น่านฟ้าอาจจะบินผ่านไม่ได้ รวมถึงค่าครองชีพในประเทศโซนยุโรปสูงเกือบเท่าตัว ยิ่งส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาพักอยู่ในประเทศไทยนานขึ้น แม้ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวเท่าเดิม แต่มูลค่าการใช้จ่ายสูงขึ้น

โดยเฉพาะลูกค้าที่เข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) สามารถสร้างรายได้เพิ่มอีกกว่า 30% เนื่องจากเป็นลูกค้าที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์การท่องเที่ยวมูลค่าสูง ตามที่มีความพยายามในการผลักดันเรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน (Andaman Wellness Corridor) หรือ AWC ขึ้น

แต่ขณะเดียวกันตอนนี้ พบว่ามีนักท่องเที่ยวชาวไทยหันไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของฝาก ที่พักมีรายได้ ที่สำคัญจะทำให้ชาวบ้านในท้องถิ่นมีงานทำ มีรายได้เข้ามาหมุนเวียนในชุมชน