ผู้ส่งออก “มังคุดจันทบุรี” บี้รัฐ ถกญี่ปุ่นแก้กฎ-แตก 1 ลูกทิ้งยกลอต

มังคุด

นับถอยหลังอีกเพียงไม่กี่วันจะเปิดฤดูผลไม้ภาคตะวันออก หนึ่งในผลไม้ส่งออกสำคัญคือ “มังคุด” ซึ่งทำรายได้เข้าประเทศปีละเกือบ 2 หมื่นล้านบาท แต่ล่าสุดกรมวิชาการเกษตรได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การเข้าร่วมโครงการเป็นผู้ส่งออกมังคุดผลสดไป “ประเทศญี่ปุ่น” ภายใต้มาตรการ Nonhost Status by Systems Approach ; SA พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 2 มกราคม 2567 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ที่ออกมามีข้อดีคือ ต่อไปการส่งออกมังคุดไปญี่ปุ่นไม่ต้องผ่านกระบวนการอบไอน้ำ เพื่อป้องกันแมลง แต่กลับมีเงื่อนไขอีกหลายข้อที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก

นายจิรวุฒิ สุวรรณอาจ พาณิชย์จังหวัดจันทบุรีเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากกรมวิชาการเกษตรออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การเข้าร่วมโครงการเป็นผู้ส่งออกมังคุดผลสดไปประเทศญี่ปุ่น ได้ประชุมร่วมกับนายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว (สคต.โตเกียว) เกษตรจังหวัด หัวหน้าด่านตรวจพืชจันทบุรี และผู้ส่งออกมังคุด เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการบริหารจัดการมังคุดของจังหวัดจันทบุรี แนวทางการขยายตลาด ระเบียบการนำเข้า

รวมถึงปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส่งออก ทั้งนี้ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดจันทบุรี และ สคต.โตเกียว จะจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างกลุ่มเกษตรกรที่พร้อมผลิตมังคุดคุณภาพเพื่อส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น กับผู้นำเข้าผลไม้ของญี่ปุ่นต่อไป

แตก 1 ลูกทำลายยกลอต

นายพิพัฒน์ เต็งเศรษฐศักดิ์ ผู้จัดการด้านการตลาดวิสาหกิจชุมชนมังคุดแปลงใหญ่คิชฌกูฏ (KMK) จ.จันทบุรี และอุปนายกสมาคมมังคุดไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาการส่งมังคุดไปญี่ปุ่นต้องผ่านกระบวนการอบไอน้ำ มีข้อจำกัดที่โรงงานอบไอน้ำมีน้อย เมื่อญี่ปุ่นมีมาตรการไม่ต้องผ่านการอบไอน้ำ เป็นเรื่องที่ดี

Advertisment

แต่มีเงื่อนไขที่ยากมาก ตามประกาศข้อ 3 เปลือกต้องไม่มีรอยแตก และต้องเก็บเกี่ยวโดยตรงจากต้นเท่านั้น และหากพบผลแตก 1 ลูกทำลายทั้งลอต และข้อ 8 กรณีตรวจพบศัตรูพืชต้องส่งกลับ หรือทำลายทั้งหมดเช่นกัน รวมถึงให้มีการกำหนดราคาที่ตายตัว ไม่มีขึ้น-ลงตามกลไกตลาด

“การเก็บมังคุดไม่ให้เปลือกแตกยากมาก กระบวนการเก็บมังคุดผ่านหลายขั้นตอน เก็บจากสวน ขนส่งมาแผงข้างทาง โรงคัดบรรจุ (ล้ง) ขนาดเล็ก และส่งผู้ประกอบการส่งออก แยกเกรดบรรจุตะกร้า ตอนเก็บในสวนไม่มีการควบคุมคนงาน ค่าจ้างคิดเป็นรายกิโล และเงื่อนไขที่ญี่ปุ่นกำหนดราคาตายตัว เช่น ราคา 60-80 บาท/กก. ควรคิดราคาเฉลี่ยระยะยาว เผื่อช่วงพีกที่ถูกทุบราคาต่ำมาก ต้องเทขาย กก.ละ 10-20 บาท

ซึ่งผู้ประกอบการต้องบวก-ลบ ราคาให้คุ้มค่าต่ออัตราการเสี่ยงอยู่ดี อย่างไรก็ต้องพยายามเปิดหาตลาดใหม่เพิ่มขึ้น กระจายความเสี่ยงมากกว่าการพึ่งตลาดจีนประเทศเดียวถึง 90% และควรเจรจากับ สคต.โตเกียว ขอให้ยืดหยุ่นเงื่อนไขพบผลแตก 1 ลูกทำลายทั้งลอต”

เงื่อนไขใหม่ของญี่ปุ่นมีข้อดีคือ เน้นเนื้อในลูกมังคุดมากกว่า ส่วนผิวภายนอกเป็นลาย หูสีแดงส่งออกได้ ต่างจากตลาดจีนเน้นผิวภายนอกมัน หูสีเขียว ลูกโต ถ้าจะส่งออกต้องมีรูปแบบการบริหารจัดการที่ดี แยกแปลงทำส่งออกญี่ปุ่นโดยเฉพาะ

Advertisment

เลิกผูกขาดขายเฉพาะห้าง

นายมณฑล ปริวัฒน์ ผู้ประกอบการส่งออกมังคุดรายใหญ่ เจ้าของ “ล้งอรษา” จ.จันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการส่งออกมังคุดไปญี่ปุ่นที่ไม่ต้องอบไอน้ำ มีมุมมอง 3 ส่วน 1) มาตรฐานการซื้อขายมังคุดภาคตะวันออกได้ราคาดีที่สุด โดยคุณภาพมาตรฐานมังคุดทั่วไปคือผิวมัน เนื้อในดี และแยกเซ็กเมนต์ตามตลาด 4-5 เซ็กเมนต์คือ ผิวมัน หูเขียว, ผิวลาย หูเขียว, ผิวกาก หูเขียว, ผิวกาก หูแดง และมันจิ๋ว แต่ญี่ปุ่นไม่ได้รับซื้อตามหลักเกณฑ์นี้

2) มาตรการผ่อนปรนยกเลิกการอบไอน้ำ แต่หากตรวจพบแตกร้าว 1 ลูกต้องทำลายทิ้งทั้งลอต น่าจะมีการเจรจาผ่อนปรน 3) การเปิดตลาดญี่ปุ่นควรส่งเสริมแบรนด์ต่าง ๆ กระจายออกไปหลาย ๆ เมือง ไม่ใช่ช่องทางเดียวอย่างปัจจุบัน ใช้แบรนด์เดียวขายเฉพาะห้าง ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกกดราคา

“การส่งออกไปญี่ปุ่นควรมีทั้งอบไอน้ำและไม่อบไอน้ำควบคู่กัน ไม่เช่นนั้นเกษตรกรจะหนีเสือปะจระเข้ คือไม่อบไอน้ำ แต่ต้องเจอกับมาตรการตรวจที่เข้มข้น การเจรจาจับคู่ธุรกิจต้องกระจายมังคุดไปหลาย ๆ เมือง โดยคุณภาพ ราคาการแยกเซ็กเมนต์สินค้าต้องชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกมังคุดมีทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย ไต้หวัน ให้โอกาสแบรนด์สินค้าเข้าไปทำตลาด ตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดผลไม้ที่แข่งขันเรื่องราคา ต้นทุนสูง เพราะต้องส่งทางเครื่องบิน จึงต้องสร้างวอลุ่มให้ได้ก่อน ถึงเกิดเซ็กเมนต์ทางการตลาด ตลาดญี่ปุ่นกำหนดเงื่อนไขรับซื้อราคาเดียวใน MOU เพราะไม่ต้องการรับอัตราความเสี่ยง”

จี้เจรจาญี่ปุ่นทบทวนกฎ

นางปัทมา นามวงษ์ นายกสมาคมมังคุดไทยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เงื่อนไขไม่ต้องอบไอน้ำ แต่ถ้าพบแมลงผลแตกลูกเดียวทำลายทั้งลอต สร้างความสูญเสียอย่างหนักต่อผู้ส่งออก ปี 2566 มีมังคุดภาคใต้ส่งออกไปบ้างแล้ว 70-80 ตัน ข้อดีคือ ผิวไม่ต้องสวย ลูกไม่ใหญ่ แต่เนื้อในดี ไม่มีแมลงเจาะ และราคาเดียวตลอดฤดูกาลที่ทำข้อตกลงไม่มีขึ้น-ลง ซึ่งต้องจัดสรรบริหารให้ลงตัว การขนส่งสะดวก ทางเครื่องบิน ทางเรือ มีการทำตลาดได้ในช่วงมังคุดคุณภาพมีปริมาณมาก

“ตลาดญี่ปุ่นเป็นความหวังของมังคุดไทย แต่ควรทำคู่ขนานทั้งอบไอน้ำ-ไม่อบไอน้ำ และยืดหยุ่นมาตรการตรวจพบผลแตก ราคาน่าจะเป็นราคากลาง ๆ ที่ญี่ปุ่นรับได้ เพราะถ้าราคาสูงจะไปเลือกนำเข้าผลไม้อื่น ตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดทางเลือกนอกเหนือจากตลาดจีน จริง ๆ แล้วเกษตรกรไม่สนใจการทำ MOU ส่งออกตลาดอยู่ที่ผู้ส่งออก-นำเข้าโดยตรง”

นายกมล ภูมิพงศ์ไทย รองประธานกรรมการบริษัท ภูมิสยาม โกลเบิล เฟรช จำกัด จ.จันทบุรี ผู้ประกอบการจัดหาวัตถุดิบผลไม้อบไอน้ำให้กับผู้ส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นและนายกสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ กล่าวเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อดีการปลดล็อกไม่ต้องอบไอน้ำเป็นการขยายช่องทางตลาดเพิ่มขึ้น แต่เงื่อนไขที่เปลือกมังคุดต้องไม่มีรอยแตกร้าว โดยญี่ปุ่นจะสุ่มตรวจปลายทาง 5% พบต้องถูกทำลายทิ้งทั้งหมด ถือเป็นบทลงโทษที่รุนแรง

และเป็นอุปสรรคความเสี่ยงซ้ำซ้อนมากกว่าส่งเสริม ทาง สคต.โตเกียวควรมีการเจรจากับรัฐบาลญี่ปุ่นให้ทบทวนปลดล็อกมาตรการดังกล่าว เพราะผลมังคุดมีโอกาสแตกเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอน และขอให้ภาครัฐดำเนินนโยบายการส่งออกมังคุดแบบคู่ขนาน ทั้งอบไอน้ำและไม่อบไอน้ำ

ทางด้านนายสมศักดิ์ เลิศสำโรง ผจก.บริษัท เคเอเอฟ อิมพอร์ต แอนด์ เอ็กพอร์ต จำกัด บริษัทส่งออกมังคุดใน จ.จันทบุรี และนายกสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปกติบริษัท KAF ส่งออกมังคุดไปตลาดจีน ไม่ได้ส่งออกญี่ปุ่น แต่ตลาดญี่ปุ่นให้นำเข้าโดยไม่ต้องอบไอน้ำเป็นตลาดทางเลือก แต่ไม่มีประโยชน์ถ้าเงื่อนไขพบลูกแตกร้าวจะถูกทำลายทั้งลอต ต้องหาวิธีเจรจากับ สคต.โตเกียวเพื่อผ่อนปรน และการทำ MOU กำหนดราคาซื้อ-ขายล่วงหน้าเป็นราคาคงที่ไม่สูง