“SUN” ตั้งเป้าลด PM 2.5 ภาคเหนือซื้อตอซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-ลดการเผา

ซันสวีท รุกแผน แก้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 เดินหน้าโครงการ “ไม่เผาเรารับซื้อ” มุ่งเป้ารับซื้อตอซัง เศษซากพืชและเศษวัสดุทางการเกษตรผลิต “ไบโอแก๊ส” หวังช่วยลดการเผาในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ชูราคาจูงใจ 2 บาท/กก.

นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกข้าวโพดหวานรายใหญ่ และเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป หรือ TFPA เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์ฝุ่นควัน PM 2.5 ของภาคเหนือที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบนที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้าง ซึ่งสาเหตุหลักมาจากหลายปัจจัย ทั้งการเผาในพื้นที่เกษตร ฝุ่นควันจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่มีการควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศ หรือควันจากยานพาหนะบนท้องถนน รวมถึงฝุ่นควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน

องอาจ กิตติคุณชัย
องอาจ กิตติคุณชัย

ปัจจัยทั้งหมดนี้ ทำให้ซันสวีทตระหนักถึงปัญหา และต้องการมีส่วนในการแก้ไข ดังนั้น ปี 2567 จึงมุ่งเน้นขับเคลื่อนนโยบาย CSR ด้วยการรุกแผนการส่งเสริมเกษตรปลอดการเผา นำร่องโครงการ “ไม่เผาเรารับซื้อ” ซึ่งวางเป้าหมายลดการเผาในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบนทั้งหมด ด้วยการรับซื้อตอซังข้าวโพด เศษซากพืช และเศษวัสดุทางการเกษตรจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยตรง ในราคา 2 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงและเพื่อจูงใจให้ไม่เผา เพื่อนำมาใช้ผลิตไบโอแก๊ส

โดยเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการต้องลงทะเบียนเข้าร่วมกับบริษัทก่อน เพื่อให้ทราบแหล่งที่มาและการจัดระบบปริมาณการซื้อในแต่ละวันได้ ซึ่งปริมาณรับซื้อตอนนี้อยู่ที่ 10-20 ตัน/สัปดาห์

ล่าสุดมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลงทะเบียนแล้วมากกว่า 10 ราย โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นพื้นที่เป้าหมายที่มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แหล่งใหญ่ มีพื้นที่ปลูกราว 170,000-190,000 ไร่ ก่อนจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นในภาคเหนือตอนบนต่อไป ทั้งนี้ โครงการที่ซันสวีทเริ่มทำในปีนี้ คาดว่าจะทำให้เกิดการตื่นตัวของการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมของเชียงใหม่และภาคเหนือที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน

นายองอาจกล่าวต่อไปว่า ตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา ซันสวีทได้ผลักดันโครงการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดภายในโรงงาน สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้จากพืชเกษตร แปรรูปเป็นพลังงานสะอาด (Green Energy) โดยผลิต Biogas จากซังข้าวโพด โดยใช้เงินลงทุนกว่า 50 ล้านบาท สามารถลดต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าที่ต้องจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนราว 4 ล้านบาท หรือเกือบ 50 ล้านบาทต่อปี ซึ่งลดต้นทุนค่าไฟฟ้าภายในโรงงานได้ถึง 30%

รง.ซันฯ

นายองอาจกล่าวในฐานะเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป หรือ TFPA ว่า ภาคเหนือถือเป็นแหล่งปลูกข้าวโพดหวานพื้นที่ใหญ่แหล่งหนึ่งของประเทศ มีพื้นที่ปลูกทั้งหมดราว 80,000 ไร่ เป็นของซันสวีทราว 50,000 ไร่

ทั้งนี้การส่งออกข้าวโพดหวานกระป๋องในภาพรวมทั้งประเทศ ช่วง 11 เดือนแรก มีปริมาณและมูลค่าขยายตัว 20.4% และ 28.0% ตามลำดับ โดยมีปัจจัยส่งเสริมทางบวก จากปริมาณวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นราว 60% เนื่องจากสภาพอากาศเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าวโพดหวานและมีการปรับปรุงสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่มีความทนต่อโรค

แม้ว่าช่วงที่เกิดภัยธรรมชาติเดือนมีนาคม-เมษายน 2566 ได้รับความเสียหายราว 20% จากพายุฤดูร้อนและฝนตกหนัก และช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2566 มีฝนต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ปลูก ทำให้เกษตรกรต้องเลื่อนแผนการปลูกออกไป ทางสมาคมจึงได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร โดยการปรับราคาวัตถุดิบข้าวโพดหวานสูงขึ้น จึงจูงใจให้มีเกษตรกรทั้งรายเดิมและรายใหม่หันมาปลูกและดูแลรักษาแปลงปลูกมากขึ้น

ปี 2567 คาดว่าปริมาณผลผลิตข้าวโพดหวานอาจลดลงเหลือราว 5-6 แสนตัน เนื่องจากโรงงานมีสต๊อกสินค้าคงเหลือจากการผลิตในปีที่ผ่านมา ประกอบกับกำลังซื้อในตลาดยุโรปถดถอยจากภาวะปัญหาทางเศรษฐกิจ คู่ค้ายังมีสินค้าเพียงพอจำหน่ายในตลาดจึงไม่เร่งนำเข้าสินค้า บางส่วนชะลอการเรียกสินค้า เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งในทะเลแดงทำให้ค่าระวางเรือสูงขึ้น 3-4 เท่า

ไร่ข้าวโพดหวาน

แต่หากสถานการณ์ในตลาดพลิกผัน เช่น ประเทศคู่แข่งอย่างสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาขาดแคลนวัตถุดิบ คู่ค้าหันมาซื้อสินค้าจากประเทศไทยแทน จะสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตถึง 7 แสนตันได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยยังครองตำแหน่งผู้นำในการผลิตและส่งออกข้าวโพดหวานกระป๋องของโลก แต่ยังต้องมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ในด้านการเพาะปลูกที่ควรนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้เพื่อช่วยในการคาดการณ์ผลผลิตได้อย่างแม่นยำ

รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ทนโรคและทนแล้งมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจข้าวโพดหวานในตลาดโลกมีการแข่งขันรุนแรงขึ้น และมีประเทศคู่แข่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะจีน อินเดีย และฟิลิปปินส์

“ล่าสุดจากการประชุมคณะกรรมการสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป หรือ TFPA ครั้งที่ 1/2567 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ให้ความสำคัญในประเด็นที่ต้องผลักดันให้มีการเจรจาขยายเวทีเสรีการค้ากับตลาดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐและเอกชน ให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และยกระดับศักยภาพของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปของไทยให้เติบโตยิ่งขึ้น” นายองอาจกล่าว