“ศูนย์วิจัย ม.หาดใหญ่” ชี้ราคายาง-ปาล์ม กระทบความเขื่อมั่น ปชช.ใต้ลด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 ก.ค.61) ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนมิถุนายน พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม เช่น ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน ความมั่นคงในอาชีพ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหายาเสพติด เสถียรภาพทางการเมือง และการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยส่วนหนึ่งมาจากประชาชนมีความกังวลในรายได้ที่ลดลง

ขณะที่ผลการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่าส่วนใหญ่มองว่าความสุขในการดำเนินชีวิตและฐานะการเงินดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 24.10 และ 25.40 ตามลำดับ การแก้ปัญหายาเสพติด และเสถียรภาพทางการเมืองดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 41.30 และ 43.20 ตามลำดับโดยปัจจัยหลักที่คนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อความสุขในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 31.50 รองลงมา คือ หนี้สินครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 27.40

ส่วนด้านเศรษฐกิจ พบว่าความเชื่อมั่นโดยรวมปรับตัวลดลง ซึ่งมีปัจจัยลบหลายส่วน เช่น ความผันผวนของราคาปาล์มน้ำมันและยางพารา ที่ราคาปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยชะลอตัวและลดลง แต่มีปัจจัยบวกเล็กน้อย เนื่องมาจากการเดินทางท่องเที่ยวและกลับบ้านของชาวอิสลามในเทศกาลฮารีรายอ และการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในช่วงฮารีรายอของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและสิงคโปร์

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมและรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 24.80 และ 32.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 30.20 และ 29.70 ตามลำดับ