ธุรกิจเบรกลงทุนSEZตาก รอร่างผังเมืองใหม่คลอด

รอผังเมือง - นโยบายของรัฐบาลในการผลักดันการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจแม่สอด ( SEZ) จ.ตาก จนถึงวันนี้ยังไ่ม่มีความก้าวหน้าเป็นรูปธรรม ทำให้หลายบริษัท ต้องชะลอปรับแผนการลงทุน เพราะผังเมืองใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ

SEZ ตากนิ่ง เหตุผังเมืองช้าเอกชนชะลอลงทุน กฎหมายข้ามแดนเข้ม นักท่องเที่ยวไม่ไหลเวียนเข้าไทย ศูนย์ขนถ่ายสินค้าฝั่งไทยอืดเสร็จปี 2565 วอนรัฐเร่งเสร็จทันสะพานข้ามเมยแห่งที่ 2 กู้สถานการณ์ทุนท้องถิ่น

นายชวพันธ์ ชวเจริญพันธ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประมูลพื้นที่ราชพัสดุ 2,000 ไร่ที่มีการจัดสรรพื้นที่รูปธรรมยังไม่ชัดเจน ภาคการผลิตยังไม่มีการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจแม่สอด (SEZ)การลงทุนอยู่ในลักษณะชะลอตัว เกิดจากกฎเกณฑ์ภาครัฐ เช่นผังเมืองที่กำหนดพื้นที่เกินกว่า 500 ตารางเมตรห้ามมีการปลูกสร้างจนกว่าผังเมืองใหม่จะเสร็จ ทำให้นักลงทุนที่มาซื้อที่ดินไว้หยุดรอดูความชัดเจน ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีนักลงทุนสนใจทำอุตสาหกรรม เช่น โรงแรม โลจิสติกส์ และโรงพยาบาล 2-3 ราย แต่อยู่ในช่วงการรอความชัดเจนของภาครัฐในเรื่องผังเมือง

ในส่วนข้อกำหนดเรื่องการอนุญาตข้ามแดนเป็นปัญหา โดยมีการอนุญาตสำหรับการข้ามแดนในส่วนของคน เฉพาะประชาชนในเขตเมียวดี เมียนมา และแม่สอด ประเทศไทย ที่เป็นพื้นที่ติดชายแดนสำหรับการเดินทางข้ามแดนไป-มา แต่ลักษณะการใช้วีซ่า (visa) ของชาวต่างชาติที่อาศัยในพื้นที่อื่น ยังเป็นเรื่องยุ่งยาก หากจะข้ามแดนมาฝั่งไทย ภาครัฐต้องพิจารณาเร่งด่วนในเรื่องการจัดทำระบบแบบ visa on arrival หรือสามารถอนุมัติการข้ามแดนได้ที่ด่านชายแดน เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของนักท่องเที่ยวจากเมียนมาและอินเดีย

วอนรัฐเร่งมือศูนย์ขนถ่ายสินค้า

นายชวพันธ์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมขนส่งทางบกมีแนวทางจะทำศูนย์ขนถ่ายสินค้าตั้งอยู่ ต.แม่ปะ งบประมาณราว 1,000 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จปี 2565 และใช้ได้จริงในปี 2566 ขณะนี้อยู่ระหว่างเวนคืนที่ดิน แต่สิ่งที่ภาคเอกชนกังวลคือ ความล่าช้าในการจัดทำ เนื่องจากสะพานข้ามน้ำเมยแห่งที่ 2 จะเปิดใช้ในปี 2562 ซึ่งจะทำให้การขนสินค้าข้ามไป-มาระหว่างไทย-เมียนมามีความสะดวกมากขึ้น ศูนย์ขนถ่ายสินค้าดังกล่าวควรเสร็จในเวลาที่สอดคล้องกัน เพื่อจะได้ไม่เป็นการเสียโอกาสสำหรับรองรับการขนถ่ายสินค้า รวมถึงควรเร่งเปิดพื้นที่ให้รถขนส่งสินค้าจากทางเมียนมาสามารถวิ่งเข้ามารับสินค้าในศูนย์ดังกล่าวด้วย เพื่อให้ทุนท้องถิ่นในพื้นที่ได้รับผลประโยชน์ในส่วนภาคบริการ เพราะหากยังไม่มีศูนย์ขนถ่ายสินค้าในฝั่งไทยแล้ว จะทำให้ศูนย์การเปลี่ยนถ่ายสินค้ารวมอยู่ที่ฝั่งเมียวดี เมียนมาเพียงแห่งเดียว ซึ่งปัจจุบันมีการจัดทำศูนย์ขนถ่ายสินค้าแล้ว

นอกจากนี้ ภาคเอกชนใน จ.ตากส่วนใหญ่ประกอบกิจการการค้าชายแดน ซึ่งในปัจจุบันไม่มีกำลังด้านเงินทุนในการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่จากส่วนกลาง รวมไปถึงการติดต่อซื้อสินค้าจากทางต่างประเทศที่ผ่านชายแดนแม่สอดเป็นไปในลักษณะติดต่อทางตรงจากบริษัทในส่วนกลาง ทำให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นไม่ได้ประโยชน์ทางการค้า นอกจากอานิสงส์กรณีราคาที่ดินเพิ่มขึ้น โดยธุรกิจหลักในแม่สอดกำลังจะเปลี่ยนเป็นธุรกิจจากส่วนกลาง ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการในท้องถิ่นอยู่ได้ ภาครัฐต้องจัดหากระบวนการเชื่อมโยง เช่น เร่งรัดส่วนขนถ่ายสินค้า อ.แม่สอด เพื่อให้เกิดการลงทุนภาคบริการในพื้นที่

ทุนใหญ่ไทย-จีนบุกแม่สอด

ด้านนายวิรัช เกตุนวม ธนารักษ์จังหวัดตาก เปิดเผยว่า ภาคเอกชนเริ่มเข้ามาลงทุนในพื้นที่บ้างแล้ว กลุ่มค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง คอนโดมิเนียม รวมถึงมีนักลงทุนชาวจีนสนใจจะเข้ามาลงทุนโครงการ BEVERLY HILLS CONDO MAESOT METROPOLIS 2,700 ห้อง แต่ติดปัญหาเรื่องผังเมือง ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงร่างผังเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก พยายามเร่งรัดให้เสร็จใน 2-3 ปี ระหว่างนี้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยมารองรับก่อนเพื่อป้องกันและควบคุม แต่ยังติดปัญหา เช่น พื้นที่สีเขียวอ่อน หรือพื้นที่ชนบท และพื้นที่สีเขียวคาดขาว หรือพื้นที่อนุรักษ์ ทำให้เทศบาลและ อบต.ได้ทำเทศบัญญัติออกมาแก้เพื่อเอื้อต่อการก่อสร้างอาคาร”