“แบงก์ชาติ” เผย Q3 อสังหาฯเหนือหดตัวต่อเนื่อง แนวราบ-อาคารชุดลงทุนติดลบ 87%

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า วันนี้ (2 พฤศจิกายน 2561) ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ แถลงภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 3 ปี 2561 โดยมีนายนันทวัฒน์ สังข์หล่อ ผู้อำนวยการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เป็นประธานการแถลงข่าว

นายนันทวัฒน์ สังข์หล่อ ผู้อำนวยการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 3 ปี 2561 อยู่ในภาวะทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยพบว่าภาพรวมของการลงทุนด้านการก่อสร้างอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งมีปัจจัยสะท้อนจากพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างที่ติดลบ 2.7% โดยเฉพาะการเปิดโครงการใหม่ของภาคอสังหาริมทรัพย์ในระยะ 8 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2561 โครงการบ้านแนวราบการลงทุนติดลบ 23.5% และอาคารชุดติดลบ 87.6% ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ให้แก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ลดลง นอกจากนี้อุปทานคงค้างทั้งอาคารแนวราบและห้องชุดก็ยังเหลืออยู่จำนวนมากในตลาด

สำหรับมาตรการใหม่ของแบงก์ชาติเกี่ยวกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่จะบังคับใช้ต้นปี 2562 จะเป็นมาตรการป้องกันการเก็งกำไร และยกระดับการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ซึ่งขณะนี้ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน อยู่ในกระบวนการที่ภาครัฐกำลังพิจารณา อย่างไรก็ตาม ผลกระทบนั้นขึ้นอยู่กับพอร์ตของสินเชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ในแต่ละพื้นที่ว่ามีโครงการระดับ 10 ล้านขึ้น มากมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในส่วนของภาคเหนือสัดส่วนบ้านกลุ่มนี้คาดว่ามีจำนวนไม่เกิน 10%

อย่างไรก็ตาม ในระยะไตรมาสที่ 3 ยังพบว่าผลผลิตเกษตรขยายตัวดี ขณะที่ราคาพืชบางชนิดเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาเพิ่มขึ้น 21% ลำไยเพิ่มขึ้น 27% มันสำปะหลังเพิ่มขึ้น 136% ทำให้รายได้เกษตรกรขยายตัว ขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ว่านักท่องเที่ยวจีนชะลอลง แต่อีกด้านหนึ่งพบว่ายังมีนักท่องเที่ยวในหลายสัญชาติที่ขยายตัวดี อาทิ อเมริกา เกาหลีใต้ อังกฤษ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และเอเชีย โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานเชียงใหม่จำนวน 299,521 คน เพิ่มขึ้น 13.1%

ด้านผลผลิตอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 14.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามผลผลิตหมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะฐานสูงในปีก่อนที่เป็นช่วงเร่งผลิตก่อนปรับภาษีสรรพสามิต หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดลง เพราะคู่ค้าในต่างประเทศปรับลดสต็อกสินค้า เพื่อรอประเมินผลกระทบจากนโยบายกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ประกอบกับโรงงานบางส่วนอยู่ระหว่างปรับสายการผลิต อย่างไรก็ดี ผลผลิตหมวดอาหารแปรรูปผักและผลไม้ขยายตัวตามความต้องการจากต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สปป.ลาว และมาเลเซีย ผลผลิตอุตสาหกรรมโลหะเพิ่มขึ้นตามความต้องการจากออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

ส่วนการบริโภคภาคเอกชนทรงตัว ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทนขยายตัว สะท้อนจากยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งเสริมการขายและมีรถยนต์รุ่นใหม่ทยอยออกสู่ตลาด ด้านการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันกลับมาขยายตัวเล็กน้อยเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี โดยปรับดีขึ้นในทุกหมวดสินค้า