ร้องว้าว เหมือนอยู่ญี่ปุ่น! ชิบูย่าอุดร นำร่องเมืองแห่งการเดินบนพื้นที่จริง

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ท.วรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี เปิดเผยว่า สมาคมฯร่วมกับ เทศบาลนครอุดรธานี สมาคมการผังเมืองไทย Smart Growth Thailand  เครือข่าย UDON2029 กลุ่มมาดีอิสาน และได้รับการสนับสนุนจาก สนง.กองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดโครงการ อุดรธานี วอร์ค อเบิ้ล ซิตี้ ทดลองปฏิบัติการเมืองแห่งการเดินบนพื้นที่จริง ที่แยกทองใหญ่ หรือ “ชิบูย่าอุดร” ย่านธุรกิจสำคัญ ยูดีทาวน์ ตลาดเริ่มอุดม ตลาดเซ็นเตอร์พอย เวลา 17.00 น.วันนี้ โดยก่อนหน้าการเปิดการทดลอง จะมีเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง “การออกแบบเมืองแห่งการเดิน เพื่อผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ” ที่โรงแรมเดอะปริ้นเซสอุดรธานี

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมผังเมืองไทย กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดให้มี 4 เมืองหลักอีสาน และ 14 เมืองหลักประเทศ อุดรธานีเป็นหนึ่งในนั้น ที่จะเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เมืองเหล่านี้ถูกกำหนด ให้ความสำคัญกับคนเดินถนนเป็นอันดับแรก รองลงมาคือการสัญจรอื่นอาทิ ปั่นจักรยาน ตามด้วยระบบขนส่งมวลชน ลำดับสุดท้ายคือรถใช้เครื่องยนต์ต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้คุยกันมานานแต่ยังไม่เกิดการขับเคลื่อน จนมีการทดสอบในพื้นที่จริง

“ การทดลองปฏิบัติจริงเป็นเพียงตุ๊กตา ครั้งแรกจะใช้แยกห้างเซ็นทรัล แต่ปรับมาใช้แยกทองใหญ่ เพื่อเก็บข้อมูลและความคิดเห็น ไปใช้ในการทดลองในครั้งต่อไป อาจจะเป็นพื้นที่เดิม หรือทางแยกอื่นๆ เพื่อกำหนดทางเดิน-รูปแบบสอดรับการเติบโต การออกแบบกิจกรรม การกำหนดพื้นที่จอดรถ ให้การเดินมีการนั่ง-แวะ ซึ่งการเดินจะเพิ่มกำลังซื้อมากกว่านั่งรถ ก่อให้เกิดเศรษฐกิจและสุขภาพ ซึ่งก็มีความเห็นเข้ามาทั้งบวกและลบ

ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รอง ผอ.ฝ่าย ABC สกว. กล่าวว่า คนไทยมีพฤติกรรมเสพติดรถยนต์ เรามีคนเก่งระดับดอกเตอร์มากมาย แต่วันนี้ต้องการคนกล้าเพิ่มขึ้น การตัดสินใจของเทศบาลนครอุดรธานี จนเกิดการทดลองในครั้งนี้ ถือเป็นความกล้าหาญของพื้นที่ นับเป็นโอกาสดีที่จะได้เห็นของจริง และตอนนี้คนทั่วประเทศกำลังมองที่นี่ ถือว่าการเริ่มต้นที่นี่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง โดยเชื่อมั่นว่าการเพิ่มการเดิน จะเกิดย่านค้าปลีกแห่งใหม่ขึ้นได้

พ.ท.วรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี กล่าวว่าได้มีโอกาสติดตามงานของสมาคมฯ ในเรื่องของผังเมืองมานานมาก ได้ร่วมฟังบรรยายมาหลายครั้ง จนกระทั่งมีคำถามเรื่อง “ทดลองปฏิบัติจริง” ได้เสนอตัวมาประสานกับท้องถิ่น และรวบรวมแนวร่วมมาช่วยกันทำงาน และก็เกิดขึ้นครั้งแรกที่ “แยกทองใหญ่” ด้วยการตีเส้นทางม้าลาย และระบายสีบนผิวทางเท้า ทดสอบการใช้พื้นที่สาธารณะ โดยสัญญาณไฟจราจร เฟส 1 ไฟเขียวถนนประจักษ์ เฟส 2 ไฟเขียวถนนทองใหญ่ และเฟส 3 ไฟแดงทั้ง 4 ทิศทางเป็นเวลา 30 วินาที ให้ผู้คนข้ามถนนจากทุกมุม เป้าหมายคือเก็บข้อมูล และรอฟังผลของเวทีอีกครั้ง

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์