วิกฤต “หมอกควัน” เชียงใหม่ ยิ่งแก้ ! ยิ่งหนัก ! “ศก.-ท่องเที่ยว-สุขภาพ” สูญหมื่นล้าน

ช่วงสัปดาห์นี้ปัญหา “หมอกควันพิษ” ในภาคเหนือกลับมาคุกรุ่นและทวีความรุนแรงหนักขึ้น สะท้อนแผนงานและแนวทางการแก้ปัญหาที่วางไว้หลายเดือนก่อน “ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง”

ทั้งที่ทุกฝ่ายทราบ “ต้นเหตุและต้นตอ” ของปัญหามาเกือบ 12 ปีแล้ว

วันนี้ทุกฝ่ายกลับมาตั้งรับและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบวันต่อวัน

ผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวปรากฏรูปธรรมชัด สะท้อนผ่านสุขภาพของประชาชน โดยยอดความเจ็บป่วยมีสถิติพุ่งขึ้นไม่หยุด ตามมาด้วยผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวที่เป็นลมหายใจของพื้นที่

ศก.-ท่องเที่ยว-สุขภาพสูญหมื่น ล.

สถิติเชิงประจักษ์ที่ปรากฏจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ พบว่าจำนวนผู้ป่วยด้วย 4 กลุ่มโรคที่ได้รับผลกระทบสุขภาพจากภาวะหมอกควันและไฟป่าของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงสัปดาห์ที่ 1-10 (6 มกราคม-16 มีนาคม 2562) อันดับที่ 1 คือ กลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด พบผู้ป่วยกว่า 40,383 ราย และอันดับที่ 2 คือ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด พบผู้ป่วยกว่า 29,651 ราย ส่วนอันดับที่ 3 คือ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ พบผู้ป่วยจำนวน 2,783 ราย และ 2,373 รายตามลำดับ

ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงผลของฝุ่นพิษต่อสุขภาพว่า สำหรับฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ทำให้ประชาชนที่เกิดและอาศัยในพื้นที่นั้นตลอดชีวิตอายุขัยสั้นลง 0.98 ปี และทุก ๆ 10 ไมโครกรัมของ PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นต่อวัน จะมีอัตราการเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาล ทั้งเข้าห้องฉุกเฉินและนอนรักษาตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เกิดจากภาวะเฉียบพลันของโรคเส้นเลือดในสมองแตก เส้นเลือดในสมองตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว ปอดอักเสบ ถุงลมโป่งพองกำเริบ และหอบหืดกำเริบ

ผลการศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่พบว่า ทุก ๆ 10 มคก./ลบ.ม.ของค่าฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ป่วยที่กำลังเจ็บป่วยนอนรับการรักษาในโรงพยาบาลเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 และทำให้ประชาชนทั่วไปเสียชีวิตรายวันจากการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 0.4 ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีอายุขัยเฉลี่ยสั้นลง 1.03 ปี มีอัตราการเสียชีวิตรายปีสูงขึ้นร้อยละ 4-6 เจ็บป่วยเป็นมะเร็งปอดสูงขึ้นร้อยละ 8-14

นอกจากนี้ ในด้านเศรษฐกิจ ด้านการท่องเที่ยว และด้านสุขภาพ พบว่าได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ มีมูลค่าความเสียหายต่อปีราว 10,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่นควันพิษในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เกิดขึ้นในช่วงระยะเพียง 1-2 เดือน แต่ปัจจุบันได้กินเวลายาวนานขึ้นไม่ต่ำกว่า 3-5 เดือน

ต้นตอเผาป่าในไทย-เพื่อนบ้าน

ขณะที่ ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน พะเยา และตาก ประสบปัญหาหมอกควันเป็นประจำทุกปี โดยมีปัจจัยสำคัญคือ “การเผาในที่โล่งแจ้ง” เช่น การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่ราบและที่ดอน การเผาขยะ การเผาพื้นที่ไร่หมุนเวียนในที่สูงเพื่อเตรียมการเพาะปลูก การเผาป่า เป็นต้น

สภาพภูมิประเทศของตัวเมืองเชียงใหม่ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ฯลฯ สภาพภูมิอากาศและอุตุนิยมวิทยา และหมอกควันข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะมีการเผาป่าและเตรียมการเกษตรมากขึ้น ได้แก่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ปัญหาหมอกควันดังกล่าวมีผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนอย่างมากและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังเกิดความสูญเสียต่อระบบนิเวศทั้งทรัพยากรป่า ดิน น้ำ สัตว์ป่า รวมถึงระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาค การท่องเที่ยวทุกรูปแบบทั้งจากต่างประเทศและภายในประเทศ ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของภาพลักษณ์ของประเทศที่ติดลบในสายตาของชาวโลก

วันนี้เชียงใหม่กำลังอยู่ในภาวะดำดิ่งสู่เมืองมลพิษลึกลงไปทุกที หากประเมินสถิติหมอกควันถึงวันนี้ค่าฝุ่นละอองในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือยังเพิ่มสูงขึ้นจนเกินค่ามาตรฐานที่น่าจะอยู่ในเกณฑ์เขตภัยพิบัติได้ หากสถานการณ์ยืดเยื้อและจะเป็นบูมเมอแรงทางสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อเศรษฐกิจระยะยาวในพื้นที่ทุกด้าน

ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์หินของภาครัฐที่ดูไร้ทางออกและทางแก้ที่ตีบตันลงทุกวัน