“กรมทรัพยากรธรณี”จัดอบรมกฏหมายฯ พร้อมเผยโฉมไดโนเสาร์ตัวใหม่ในแอ่งบูรพา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (13 พ.ค.) ที่ โรงแรมจันทรา อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว กรมทรัพยากรธรณีจัดฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 หลักสูตรพิเศษเพื่อสร้างความเข้าใจทางด้านซากดึกดำบรรพ์ การบริหารจัดการซากดึกดำบรรพ์และกฎหมายคุ้มครองว่าด้วยซากดึกดำบรรพ์ ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก โดยมีนายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีและนายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วเป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมฯ

นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรธรณีเป็นหน่วยงานหลักด้านการศึกษาวิจัยและบริหารจัดการซากดึกดำบรรพ์ ได้มีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 ขึ้น เพื่อคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ที่มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติ ความเป็นมาของโลก บรรพชีวิน ธรณีวิทยา ซึ่งแหล่งซากดึกดำบรรพ์และซากดึกดำบรรพ์ ถือเป็นสมบัติของแผ่นดิน ที่ต้องอนุรักษ์ให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของแผ่นดิน

โดยปีงบประมาณ 2562 กรมทรัพยากรธรณีได้จัดการฝึกอบรมหลักสูตรพิเศษเป็นครั้งที่ 3 ให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด นิติกรในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก จำนวน 35 คน ก่อนหน้านี้ได้จัดโครงการให้ความรู้เรื่องเดียวกันนี้กับชุมชน จำนวน 2 ครั้ง ที่จังหวัดพัทลุงและจังหวัดชุมพร ในการอบรมจะมีทั้งภาคทฤษฎี โดยผู้เชี่ยวชาญด้านซากดึกดำบรรพ์ การศึกษาดูงานและฝึกปฏิบัติภาคสนาม ณ แหล่งธรณีวิทยาและซากดึกดำบรรพ์ ที่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา แหล่งซากไดโนเสาร์พระปรง อ.วัฒนานคร แหล่งซากดึกดำบรรพ์พลับหลลึงทะเลเขาฉกรรจ์ อ.เขาฉกรรจ์ และหมวดการทางเขาฉกรรจ์

อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยอีกว่า สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย มีการค้นพบสุสานไดโนเสาร์ในบริเวณอ่างเก็บน้ำพระปรง ตำบลช่องกุ่ม อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว เมื่อปี 2545 ต่อมาทีมสำรวจนำโดยนายวราวุธ สุธีธร และนางสาวกมลลักษณ์ วงษ์โก ได้เข้าทำการสำรวจ ตรวจสอบ และขุดค้น พบซากดึกดำบรรพ์กระจายตัวอยู่ตามพื้นผิวตะกอน ประกอบด้วย กระดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง กระดูกหาง ของไดโนเสาร์ กลุ่มซอโรพอด จึงนำกลับมาอนุรักษ์ ซ่อมแซมและเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์สิรินธร ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการตามล่าไดโนเสาร์ในแอ่งภาคตะวันออก

จนกระทั่งปี 2558 คณะสำรวจของศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ได้ออกสำรวจอีกครั้ง พบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์โผล่ให้เห็นอีก 2 ชิ้น คือส่วนกระดูกหน้าท่อนบนด้านขวา และกระดูกขาหน้าท่อนล่างด้านขวา จึงทำการขุดทดสอบเปิดหน้าดินประมาณ 0.5 ตารางเมตร พบกระดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง และเริ่มทำการขุดค้นอย่างเป็นระบบในพื้นที่ดังกล่าว พบซากดึกดำบรรพ์มากกว่า 62 ชิ้น จึงนำกลับไปเก็บ และดำเนินการอนุรักษ์ซ่อมแซม ทำความสะอาดด้วยเครื่องมือและน้ำยารักษาสภาพ ณ ห้องปฏิบัติการศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์

ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่ากระดูกดังกล่าว เป็นของกลุ่มซอโรพอด คอยาว หางยาว มีโอกาสที่จะเป็นไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลกได้ กรมทรัพยากรธรณีวิทยาได้มีแนวทางการบริหารจัดการในพื้นที่แหล่งไดโนเสาร์ประกาศเป็นเขตพื้นที่การสำรวจศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ของจังหวัดสระแก้วต่อไป

ทั้งนี้จากซากดึกดำบรรพ์กระดูกไดโนเสาร์ที่พบจัดอยู่ในกลุ่มซอโรพอด โดยเฉพาะกระดูกเชิงกราน สามารถระบุได้ว่าเป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด วงศ์ Titannosaurid ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วง ครีเทเชียสตอนต้น นอกจากนี้ยังพบตัวอย่างฟันไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ร่วมด้วย รวมทั้งยังพยตัวอย่างสัตว์มีกระดูกสันหลังร่วมยุคในพื้นที่ ประกอบด้วย จระเข้ 2 ชนิด จากลักษณะของฟัน เต่า 3 ชนิด จากลักษณะของกระดอง ปลากระดูกแข็ง 2 ชนิด จากลักษณะของเกล็ด ฉลาม 3 ชนิด จากลักษณะของฟัน แหล่งซากไดโนเสาร์อ่างเก็บน้ำพระปรง มีศักยภาพในการขุดค้นและศึกษาวิจัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเชื่อมต่อวิวัฒนาการของไดโนเสาร์ในกลุ่มหินโคราช และในการค้นพบนี้ถือว่าเป็นการค้นพบตัวอย่างกระดูกไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ ในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย