เร่ง EIA “อ่างแม่ตาช้าง” ป่าแดด หนุนปลูกข้าว-ลำไย-ข้าวโพด

เกือบ 30 ปีที่เกษตรกรบ้านป่าแดด จ.เชียงราย ร้องกรมชลประทานขอให้ช่วยมาสร้างอ่างเก็บน้ำ “แม่ตาช้าง” เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่เกษตร ทั้งการปลูกข้าวญี่ปุ่น ลำไย ข้าวโพด หรือพืชล้มลุกอื่น ๆ นั้น ล่าสุด “เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์” รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายวิชาการ ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้า

โดย “นายเฉลิมเกียรติ” บอกเล่าว่า “โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง” ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงรายนี้ ทางจังหวัดมีหนังสือขอรับการสนับสนุนโครงการเพื่อช่วยแก้ไขและบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2536 ทางกรมชลประทานได้ทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ปรากฏว่าอ่างเก็บน้ำส่วนหนึ่งอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (zone C) จึงต้องศึกษาวิเคราะห์ขออนุญาตใช้พื้นที่ หลังจากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการมีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาวฝั่งซ้ายอีก 1,540 ไร่ แบ่งเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (zone C) 788 ไร่ ป่าเศรษฐกิจ (E) 752 ไร่ นอกเขตป่าสงวน 110 ไร่ ซึ่งปัจจุบันมีสภาพเป็นพื้นที่ป่าไม้ 102 ไร่ ป่าเต็งรัง 93 ไร่ ป่าเบญจพรรณ 9 ไร่ รวมถึงในด้านคมนาคมที่จะทำให้ถนนทางเข้าหมู่ 18 บ้านแม่ตาช้าง ที่เชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 109 บริเวณ กม.12+500 ระยะทาง 2.5 กม. ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ทั้งยังกระทบผู้มีที่ดินทำกินและผู้อยู่อาศัยในบริเวณจัดทำโครงการดังกล่าวอีก 152 ราย

แต่อ่างเก็บน้ำแม่ตาช้างจะมีพื้นที่รับประโยชน์ทั้งสิ้น 17,200 ไร่ ในพื้นที่ 31 หมู่บ้าน 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลป่าแดด ตำบลศรีถ้วย และตำบลแม่พริก พื้นที่หัวงานอยู่บริเวณตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ปิดกั้นลำห้วยแม่ตาช้าง ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำลาว มีพื้นที่รับน้ำ 100.8 ตร.กม. พื้นที่ระดับน้ำสูงสุด 1,375 ไร่ พื้นที่ระดับน้ำเก็บกัก 1,281 ไร่ และพื้นที่ระดับน้ำต่ำสุด 250 ไร่ มีความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับสูงสุด 36 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ระดับน้ำสูงสุด +520.25 ม.รทก. มีความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกัก 32 ล้าน ลบ.ม. ระดับน้ำเก็บกัก +519 ม.รทก. โดยพื้นที่เกี่ยวข้องมีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,511 มิลลิเมตร และมีน้ำท่า 39.92 ล้าน ลบ.ม. การจัดทำอ่างเก็บน้ำจึงเป็นการสร้างความมั่นคงทางแหล่งน้ำให้ประชาชนได้

ดังนั้น กรมชลประทานจึงได้นำโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ “แม่ตาช้าง” มาพิจารณาอีกครั้งในปีนี้ ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จากการประเมินค่าก่อสร้างเบื้องต้น คาดว่าจะใช้งบประมาณจำนวนกว่า 800 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังต้องชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมในการทำ EIA รวมถึงความมั่นคงแข็งแรงของการออกแบบสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อรองรับแนวแผ่นดินไหว และข้อมูลประกอบอีกหลายประการเป็นรอบที่ 2 และรอบที่ 3 ทั้งนี้ ตามแผนโครงการจะออกแบบการก่อสร้างในปี 2563 และปี 2564 จะเข้าสู่แผนก่อสร้างต่อไป

Advertisment

“สนั่น อินต๊ะไชวงศ์” กำนัลตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย บอกว่า ปัจจุบันรายได้เกษตรกรในพื้นที่มาจากการปลูกข้าวญี่ปุ่น ลำไย ข้าวโพด หรือพืชล้มลุกอื่น ๆ เฉลี่ยแล้วมีรายได้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท/คน/ปี ยกตัวอย่าง การปลูกลำไย ซึ่งเป็นพื้นที่ขาดน้ำไม่ได้ ใน 1 ไร่ จะสามารถปลูกได้ 40 ต้น ให้ผลผลิตไม่เกิน 3,000 บาท/ต้น หรือน้อยกว่านั้น หากมีอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้างมาเป็นแหล่งน้ำที่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1 แสนบาท/คน/ปี

“อย่างราคาลำไย หากมีแหล่งน้ำตลอดปีจะมีราคาดีขึ้น และผลผลิตจะมีขนาดใหญ่ ที่สำคัญ ราคาดีไม่มีตก เพราะมีตลาดจีนรองรับ ในจังหวัดมีโรงงานแปรรูป (อบแห้ง) ขนาดใหญ่ 2 แห่งที่รับผลผลิต และมีโรงขนาดเล็กอีกหลายแห่ง และไม่เพียงแต่มีตำบลป่าแดด ตำบลศรีถ้วย และตำบลแม่พริกที่ได้รับประโยชน์ แต่ยังมีอีกหลายอำเภอที่จะได้รับอานิสงส์จากการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้างไปด้วย โดยเฉพาะ 5 อำเภอในลุ่มแม่น้ำลาว เช่น อำเภอแม่ลาว อำเภอเมือง อำเภอเวียงชัย อำเภอพาน และอำเภอแม่ใจ จังหวัดพระเยา”

“ประพันธ์ แก้วมณี” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านป่าแดด จ.เชียงราย เปิดเผยว่า การขออ่างเก็บน้ำแม่ตาช้างมีมานานกว่า 30 ปีแล้ว เพราะเกิดน้ำท่วม-น้ำแล้งบ่อยครั้ง เพราะในพื้นที่มีเพียงฝายกั้นน้ำขนาดเล็ก การทำเกษตรต้องขึ้นอยู่กับฝนที่ตกลงมาตามธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตของพืชผลทางการเกษตรก็มีปัญหา เพราะไม่ได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวและทำสวนลำไย เฉลี่ยลำไย 1 ต้นจะเก็บผลิตได้ 1,000-1,500 บาท เพราะผลผลิตมีขนาดเล็ก เจริญเติบโตไม่เต็มที่ รายได้ก็น้อยลงไปด้วย คนรุ่นใหม่ก็หันหน้าเข้าเมืองไม่อยู่ในพื้นที่ เพราะไม่มีอาชีพที่มั่นคง

ประพันธ์ แก้วมณี

“ในอดีต จ.เชียงราย คนอยู่กับป่าได้สบาย ต้นไม้มีเยอะมาก ชาวบ้านทำไร่ข้าวโพด ปลูกข้าว อุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อป่าเริ่มเสื่อมโทรมก็เกิดไฟป่าบ่อยครั้ง สูญเสียระบบนิเวศจนส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรน้อยลงเพราะขาดน้ำ หากเรามีน้ำกักเก็บไว้ หรือได้อ่างเก็บน้ำมาจะส่งผลดี จากการประเมินพบว่าสามารถผลิตข้าวได้ 1 ตัน/ไร่ หรือประมาณ 10,000 บาท/ไร่ ส่วนลำไยจะได้ผลผลิตลูกใหญ่ขึ้น ใน 1 ต้นจะเก็บขายได้กว่า 5-6 พันบาท”

Advertisment