แม่ทัพภาค 3 ระดมแผน 9 จังหวัดภาคเหนือบูรณาการเชิงรุกแก้ไฟป่า-หมอกควัน ปี’63

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า วันนี้ (22 ตุลาคม 2562) พล.ท.ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 เป็นประธานการประชุมแถลงแผนงานบูรณาการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันของจังหวัด ประจำปี 2563 โดยมีนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตภาคเหนือพร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม เพื่อให้ทุกภาคส่วนใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ การบูรณาการการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นการลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างยั่งยืน

ล่าสุด กองทัพภาคที่ 3 ได้จัดตั้งกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ขึ้นที่ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่ออำนวยการ ประสานงานและบูรณาการความร่วมมือ รวมถึงการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ และสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการเกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชน อันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่

สำหรับแผนงานบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับผู้บังคับหน่วยทหาร ซึ่งจะมีหน้าที่ในการบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ สร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการเกิดไฟป่า โดยร่วมขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในพื้นที่เสี่ยง ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาสังคม และประชาชนจิตอาสา ตลอดจนจัดชุดแพทย์เตรียมการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ พร้อมจัดกำลังชุดรณรงค์ฯ และชุดดับไฟป่า เตรียมความพร้อมสนับสนุนทันทีเมื่อมีการร้องขอจากจังหวัด

นอกจากนี้ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ฝ่ายทหาร) เป็นผู้ประสานงานหลักกับจังหวัดเพื่อให้การทำงานครอบคลุมทุกพื้นที่

ทั้งนี้ ปัจจุบันกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ได้รับการสนับสนุนเครื่องบิน Peacemaker จำนวน 2 ลำ จากกองทัพอากาศ เพื่อการประชาสัมพันธ์โดยสามารถเริ่มปฏิบัติภารกิจตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป และร่วมกับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ จัดทำสื่อกระจายเสียงเป็นภาษาไทยและ ภาษาชนเผ่า จำนวน 7 ภาษา เพื่อประชาสัมพันธ์ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่และสถานีวิทยุในเครือกองทัพบก 24 สถานี 17 จังหวัดภาคเหนือ ตลอดจนการจัดอากาศยานจากกองทัพภาคที่ 3 เพื่อลาดตระเวนทางอากาศ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดชุดจิตอาสาดับไฟป่าประจำหมู่บ้าน สำหรับเตรียมความพร้อมในการป้องกันและควบคุมไฟป่า

พล.ท.ฉลองชัย กล่าวต่อว่า การประชุมวันนี้เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างบูรณาการ และแยกกันไปทำของแต่ละจังหวัด ซึ่งในปี 2563 การดำเนินการจะไม่เน้นการตั้งรับ แต่ทุกจังหวัดจะทำงานเชิงรุก โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น Single Command และทุกจังหวัดจะไม่มีเส้นแบ่งเขตทางอากาศ ขณะที่ปัญหาหมอกควันข้ามแเดน มีโครงสร้างคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (TBC) ในการขับเคลื่อน ซึ่งจังหวัดตากกับเมืองเมียวดี (พม่า) และเชียงรายกับเมืองท่าขี้เหล็ก (พม่า) มีความร่วมมือและร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง

นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดลำปางได้เปิดศูนย์ป้องกันไฟป่าและหมอกควันแล้ว เพื่อเตรียมรับมือปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ปี 2563 ซึ่งประชุมหน่วยงานทุกภาคส่วนแล้ว 4 ครั้ง โดยกำหนดวิสัยทัศน์ชัดเจนว่า “คนลำปางสุขภาพดี เมื่อไม่มีหมอกควัน” พร้อมทั้งทำแผนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ขณะที่กรอบแนวคิดในการดำเนินงาน จะใช้รูปแบบ Single Command บูรณาการทุกภาคส่วน มุ่งเรื่องสุขภาพเป็นตัวนำมากกว่าการท่องเที่ยวที่จะได้รับผลกระทบ

“แต่ละอำเภอของจังหวัดลำปางจะไม่มีรอยต่อ หากพบเห็นไฟป่าในพื้นที่ไหน หน่วยงานในพื้นที่นั้นๆก็สามารถดับไฟได้ทันที”

สำหรับแผนดำเนินงานในการป้องกันและแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันของจังหวัดลำปางในปี 2563 มุ่งให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพของประชาชน โดยตั้งเป้าให้สุขภาพประชาชนเจ็บป่วยและไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลลดลง 70% เมื่อเทียบกับปี 2561 และตั้งเป้าลดจุด Hot Spot ลงให้ได้ 50%

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า เร็วๆ นี้ เตรียมหารือร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นเมืองเมียวดี ประเทศพม่า ซึ่งเมียวดีเป็นบ้านพี่เมืองน้อง (Sister City) กับจังหวัดตาก ที่ต้องมีความร่วมมือในการป้องกันและแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันข้ามแดนร่วมกัน ทั้งนี้ ภูมิประเทศจังหวัดตากส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขา ยากแก่การเข้าถึงในการดับไฟป่า โดยเฉพาะอำเภออุ้มผางมีพื้นที่ป่าราว 3 ล้านไร่ ปัจุบันมีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากถึง 30%