ธวัชชัย ศรีทอง รุก 5 ยุทธศาสตร์ปี’63 ชู “บึงกาฬ” รับเบอร์อีโคโนมิกคลัสเตอร์

สัมภาษณ์

“จังหวัดบึงกาฬ” หนึ่งในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน 1 ที่มีรายได้หลักมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร โดยเฉพาะการปลูกยางพารา ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกยางประมาณ 8.8 แสนไร่ ถือเป็นจังหวัดที่มีการปลูกยางพารามากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในภาคอีสาน และเป็นอันดับ 7 ของประเทศไทย ตลอดเวลาที่ผ่านมาทางจังหวัดบึงกาฬ

มีนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ในการปรับตัวอย่างน่าสนใจ ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ธวัชชัย ศรีทอง” รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ถึงนโยบายในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ สะท้อนผ่านการจัดทำงบประมาณปี 2563 และร่างงบประมาณปี 2564 เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) มีอัตราการขยายตัวที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา เพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ยุทธศาสตร์หลักของงบฯปี’63

จังหวัดบึงกาฬถือว่าอยู่ในช่วงของการพัฒนาเมืองตามยุทธศาสตร์จังหวัดทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการท่องเที่ยว 2) การค้าและการลงทุน 3) ด้านการเกษตร 4) การค้าชายแดน และ 5) ด้านสังคม ซึ่งในการยื่นของบประมาณปี 2563 ได้มีการเสนอจัดทำโครงการต่าง ๆ รวมกว่า 21 โครงการ วงเงิน 200 ล้านบาท โดยเน้นด้านการเกษตร การส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขงตามแนวชายแดน และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะยางพารามีเกษตรกร ร้อยละ 60 ของครัวเรือนทั้งหมดทำสวนยางพารา ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงประชาชนของจังหวัดบึงกาฬ

จึงวางเป้าหมายเพื่อให้จังหวัดบึงกาฬ เป็น “ศูนย์กลางยางพาราของภาคอีสาน” โดยมีการตั้งงบประมาณเพิ่มเติมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 วงเงิน 193 ล้านบาท เพื่อทำโรงงานแปรรูปยางพาราครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งหมด 6 โรง เช่น โรงงานผลิตน้ำยางข้น โรงผลิตนวัตกรรมเป็นหมอน ที่นอนยางพารา รวมถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นโรงงานของภาคประชาชน โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา และอาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาและให้ความรู้ เพื่อเพิ่มมูลค่าของยางพาราให้กับสมาคมยางพาราในพื้นที่ รวมถึงการดำเนินการตามมติ ครม. ที่วางเป้าหมายในหลักการให้จังหวัดบึงกาฬเป็น “รับเบอร์อีโคโนมิกคลัสเตอร์” หรือ “หัวหน้ากลุ่มยางพารา” (Rubber Economic Corridor) โดยเห็นชอบงบประมาณให้ประมาณ 1,400 ล้านบาท ในการแปรรูปยางขั้นต้น และเป็นการยกระดับการผลิตและเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการผลิตในพื้นที่กลุ่มจังหวัด ซึ่งได้มีการประชุมติดตามงานตลอด เช่น การออกแบบโรงงาน จุดรับซื้อยาง รวมทั้งการทำการตลาด

ที่สำคัญ ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ได้ร่วมกับหน่วยงานในจังหวัดทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ผลักดันให้มีการจัดงาน “วันยางพาราบึงกาฬ” ขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 8 โดยจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 12-18 ธันวาคม 2562 ภายใต้แนวคิด “บึงกาฬโมเดล 2020” ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้และพัฒนานวัตกรรมตามที่ภาครัฐและเอกชนได้ผลักดันมาโดยตลอด โดยหวังว่าการจัดงานในครั้งนี้จะสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวและเกิดมูลค่าการลงทุน รวมถึงกระตุ้นให้เกษตรกรมีทางเลือกมากขึ้น ในการยกระดับคุณค่าทางการผลิต

จัดหาแหล่งน้ำรับภัยแล้ง-น้ำท่วม

จังหวัดบึงกาฬเป็นจังหวัดที่มีปริมาณน้ำเฉลี่ยมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังมีลุ่มน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ลุ่มแม่น้ำโขง ลุ่มน้ำสงคราม ลุ่มน้ำชี และยังมีพื้นที่ชุ่มน้ำโลก 2 แห่ง ได้แก่ บึงโขงหลง และหนองกุดทิง รวมทั้งหนองน้ำอีกประมาณ 430 แห่ง จึงมีแผนในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบอย่างครบวงจร ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม และน้ำเพื่อการเกษตร ในด้านเกษตร ยังมีการจัดตั้งงบประมาณศึกษาโครงการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และการเตรียมการรับมือภัยแล้งและน้ำท่วม 2 โครงการ คือ 1.โครงการศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำห้วยบางบาด โดยจะปรับปรุงโครงการพระราชดำริประตูระบายน้ำห้วยบางบาด ซึ่งจะมีการศึกษาในปี 2563 โดยใช้งบประมาณ 30 ล้าน คาดว่าจะเริ่มปรับปรุงปี 2564 และ 2.การศึกษารายละเอียดแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬทั้งหมด และโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำห้วยกำแพง เพื่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง งบประมาณ 1,800 ล้านบาท

ชูท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำโขง

ด้านท่องเที่ยว จังหวัดบึงกาฬถือว่ามีจุดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวบึงกาฬ ริมน้ำโขง เป็นจังหวัดส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ที่มีความสวยงามทางธรรมชาติ และในคราวประชุม ครม.สัญจร เมื่อเดือนธันวาคม 2561 เห็นชอบก่อสร้าง land mark ประติมากรรมพญานาคราชคู่ มิตรภาพแห่งลุ่มน้ำโขง งบประมาณ 49 ล้านบาท เพราะฉะนั้น การจัดสรรงบประมาณปี 2563 ทางจังหวัดพยายามชูการท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำโขง จะทำให้ครอบคลุมและทั่วถึงมากที่สุด ซึ่งปี 2562จังหวัดบึงกาฬมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รวมมูลค่าประมาณ 1,200 ล้านบาท

รุก 3 โครงข่ายคมนาคมขนส่ง

ในปีงบประมาณ 2563 ทางจังหวัดยังได้งบฯฟังก์ชั่นของหน่วยงานต่าง ๆ มาดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและการคมนาคมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะโครงการต่าง ๆ ที่ซึ่งประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรจังหวัดหนองคาย เห็นชอบเมื่อช่วงปลายปี 2561 ตามที่จังหวัดเสนอไป โดยมี 3 โครงการหลัก ได้แก่ 1) การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยง จ.อุดรธานี-บึงกาฬ หรือโครงการถนนมอเตอร์เวย์ สายอุดรธานี-บึงกาฬ ระยะทาง 139 กม. เพื่อร่นระยะทางในการเดินทาง จากเดิมมีระยะทาง 189 กิโลเมตร มาเหลือเพียง 139 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 1 ชั่วโมง ใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งหมด 5,000 ล้านบาท ขณะนี้กำลังทำการศึกษาและออกแบบ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 ปี โดยมีงบประมาณในการศึกษา วงเงิน 25 ล้านบาท

2) สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ-แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว ขณะนี้ได้มีการอนุมัติงบประมาณเรียบร้อย รวม 3,900 ล้านบาท แบ่งออกเป็นประเทศไทย จำนวน 2,600 ล้านบาท ประเทศลาว 1,300 ล้านบาท มีระยะทางรวม 16.18 กิโลเมตร แยกออกเป็นงานก่อสร้างฝั่งไทย 12 กิโลเมตร และฝั่งลาว 2.8 กิโลเมตร ซึ่งสะพานแห่งนี้เป็นสะพานที่ใกล้ประเทศเวียดนามมากที่สุด โดยมีระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร ทั้งนี้ยังสามารถเดินทางไปยังประเทศจีนได้ ต่อไปในอนาคตคาดว่าจะเป็นเส้นทางที่จะอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงด้านการค้าชายแดน ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างเดือนมีนาคม ปี 2563 ใช้เวลาในการก่อสร้าง 3 ปี คาดเปิดใช้งานในปี 2566

3) โครงการสนามบินบึงกาฬ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาความคุ้มทุน ใช้งบประมาณ 25 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งมี ครม.สัญจร ได้มีการเห็นชอบให้มีการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว คาดใช้งบประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท

ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวบึงกาฬ

ด้านการพัฒนาระบบสาธารณสุข มีการผลักดันงบประมาณเพื่อยกระดับศักยภาพของโรงพยาบาลบึงกาฬ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น โดยแต่เดิมโรงพยาบาลบึงกาฬเป็นเพียงโรงพยาบาลระดับอำเภอ ก่อนที่จะยกฐานะเป็นจังหวัดบึงกาฬ ทำให้มีเตียงนอนสำหรับผู้ป่วยเพียง 200 เตียง ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชนในพื้นที่ ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้อนุมัติงบประมาณ 479 ล้านบาท เพื่อเพิ่มเตียงนอนผู้ป่วย 400 เตียง พร้อมก่อสร้างตึกผู้ป่วยนอก รวมถึงเพิ่มจำนวนพนักงาน เช่น หมอ, พยาบาล, อุปกรณ์ด้านการแพทย์ ทั้งนี้ ในงบประมาณปี 2564 ทางจังหวัดมีการยื่นเรื่องของบฯจำนวน 200 ล้าน เพื่อก่อสร้างตึกผู้ป่วยใน และเพิ่มเตียงนอน 200 เตียง

ในภาพรวมปัจจุบัน จังหวัดบึงกาฬได้เน้นเรื่องการทำโครงข่ายถนน และแหล่งน้ำ เพื่อให้สอดรับกับสะพานแห่งที่ 5 ที่จะเกิดขึ้น ด้านสาธารณสุขได้รับงบประมาณเรียบร้อยแล้ว ด้านทางด่วนมอเตอร์เวย์ อุดรธานี-บึงกาฬ ได้รับงบประมาณในการศึกษา นอกจากนี้ ด้านท่องเที่ยวในจังหวัดกำลังบูมเรื่องวิถีชีวิตริมน้ำโขง ซึ่งได้มีการของบประมาณเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยในอนาคตต้องมีการพัฒนาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี