หอการค้าฯ 4 ภาคจี้รัฐฟื้นเศรษฐกิจ อัดฉีดฐานราก-ภาคเกษตร-เอสเอ็มอี

Photo by Isa Foltin/Getty Images

ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ค่าเงินบาทแข็งค่า ส่งผลกระทบต่อการส่งออกชะลอตัวอย่างหนัก ขณะที่ในต่างจังหวัดยังเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง พืชผลทางการเกษตรราคาตกต่ำ สะท้อนผ่านตัวเลขเศรษฐกิจไทยสะเทือนดิ่งลง ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2562 อยู่ที่ 2.5% ของจีดีพี และคาดว่าปี 2563 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้อย่างมากแค่ 2.8% ดีขึ้นกว่าปีนี้เล็กน้อย ภาพที่ปรากฏชัดในจังหวัดต่าง ๆ ตอนนี้หลายโรงงานปิดตัวจากการส่งออกที่ชะลอลง กำลังซื้อหดตัว หอการค้าต่างจังหวัดเปรียบเสมือนตัวแทนภาคธุรกิจในต่างจังหวัด อยากเรียกร้อง “ของขวัญ” เร่งด่วนอะไรจากรัฐบาลยามนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” สะท้อนบางมุมมองในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2563

หอฯเหนือจี้รัฐดูแล ศก.ฐานราก

นายวิโรจน์ จิรัฐติกาลโชติ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อยากให้รัฐบาลช่วยดูแลเศรษฐกิจฐานรากกระจายรายได้เกษตรกรมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจะโต 2.6% โดยภาพรวมเศรษฐกิจของภาคเหนือค่อนข้างไปในทางที่ดี เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว จึงทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุดยาว ซึ่งคาดว่าในช่วงหลังปีใหม่จะซบเซา จึงอยากให้ประชาชนมีการบริโภคที่สูงขึ้น และยังต้องดูแลถึงพืชผลทางการเกษตรเพิ่มอีกด้วย

“แม้ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจะโตถึง 2.6% แต่ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของการกระจายรายได้อยู่ ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศของเราค่อนข้างมีปัญหาในเรื่องนี้ จึงอยากให้รัฐบาลดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงการดูแลพืชผลทางการเกษตร เพื่อให้ประชาชนมีกำลังในการบริโภคที่สูงขึ้น”

วิโรจน์ จิรัฐติกาลโชติ

หอฯกลางแนะตั้งทีมบริหาร

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อยากให้รัฐบาลตั้งทีมบริหารเศรษฐกิจของประเทศขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญในปัจจุบัน และก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน เพราะภาพรวมเศรษฐกิจในภาคกลางตอนนี้ ยังคงทรงตัว เนื่องจากมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวมาชดเชย อย่างไรก็ตาม กำลังในการซื้อของประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทค่อนข้างซบเซา เนื่องจากรายได้หลักของประชาชนส่วนใหญ่มาจากการที่ลูกหลานเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ทำให้มีรายได้มาเลี้ยงชีพ แต่ปัจจุบันภาพรวมของอุตสาหกรรมค่อนข้างซบเซา ส่งผลให้รายได้ที่ลูกหลานส่งมาให้ลดน้อยลง จึงส่งผลให้ไม่มีกำลังเงินในการซื้อของ

“เศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันค่อนข้างแย่ ทั้งค่าเงินบาทแข็งตัว รวมถึงได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้าจีน-สหรัฐ เราจึงอยากให้รัฐบาลแต่งตั้งทีมบริหารเศรษฐกิจเพื่อมาแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ ดึงคนที่เก่งที่มีศักยภาพเข้ามาทำงาน และต้องมีผู้นำอย่างแท้จริง”

ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์

หอฯใต้ดันแก้ราคาพืชผลตกต่ำ

นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรให้มีเสถียรภาพ เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรยังตกต่ำ รวมถึงเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ที่อยากให้รัฐบาลช่วยกระตุ้นให้เกิดการก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ใหญ่ ๆ ซึ่งเชื่อว่าหากมีการสร้างขึ้นมาจะช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากดีขึ้นภาคใต้ถือว่ามีศักยภาพสูง ถ้าหากมีการก่อสร้างถนนจะสามารถดึงนักลงทุนและนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ประมาณ 20-30 ล้านคน นอกจากนี้ ถ้าหากมีการก่อสร้างทางรถไฟเส้นชุมพร-ระนอง จะช่วยให้เรื่องการค้าทางชายแดนดีมากยิ่งขึ้น เพราะภาพรวมเศรษฐกิจในภาคใต้ตอนนี้ค่อนข้างแย่

วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ

อีสานวอนรัฐอุ้ม SMEs

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผยว่า ของขวัญปีใหม่ที่ภาคอีสานอยากได้จากรัฐบาลในปี 2563 มี 3 ข้อหลัก คือ 1.อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการระดับผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย (SMEs) มากขึ้น เพราะปัจจุบันรัฐบาลหันไปกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการหนุนผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่มากกว่า ทำให้รายได้ทางเศรษฐกิจกระจุกตัวและเติบโตในภาพใหญ่ ไม่กระจายตัวออกสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง 2.เรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักสำคัญที่ใช้ในภาคเกษตรที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ เพราะปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำในภาคอีสานยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ และ 3.ถือเป็นวาระสำคัญในยุทธศาสตร์ของภาคอีสาน คือ อยากให้รัฐบาลสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวของภาคอีสานให้เทียบเท่ากับภาคอื่น โดยภาคอีสานมีการพัฒนาตัวเองสูง แต่ยังขาดการสนับสนุน

สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย

“ภาคอีสานจะมีผู้ประกอบการขนาดเล็ก กลาง แต่ไม่มีขนาดใหญ่มาก ซึ่งอยู่ในจุดที่เสียเปรียบเขตอื่น ฉะนั้น เรื่องการลงทุนจะน้อยว่าภาคอื่น จึงอยากให้รัฐบาลมองภาคอีสานในเชิงศักยภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว เรื่องน้ำ หรือการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะลดความเหลื่อมล้ำของภาคอีสานได้”