“หอการค้าเชียงใหม่” เร่ง ศก.รับมือโคโรน่า ดัน local food สินค้าเกษตรบุกเสฉวน-เฉินตู

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2563) หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ แถลงภาวะเศรษฐกิจการเงินจังหวัดเชียงใหม่ ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ณ สำนักงานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ โดย นายวโรดม ปิฎกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สถานการณ์ไวรัสโคโรนาถือเป็นปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ในปีนี้ โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยวมีสัดส่วนถึง 60% ของ GPP ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่ลดลง ทั้งนี้จากการหารือกับกลุ่มนักธุรกิจชาวจีนที่เป็นพันธมิตรทางการค้ากับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้ประเมินเบื้องต้นว่าปัญหาไวรัสโคโรน่าอาจแก้ไขได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ และอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจีนอีกราว 2-3 เดือน รวมระยะเวลาราว 5-6 เดือนนับจากนี้ คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจท่องเที่ยวตลาดจีนจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้

อย่างไรก็ตาม หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่มองว่าจำเป็นต้องเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ภายใต้สภาวะที่ภาคการท่องเที่ยวชะลอตัว โดยไม่ต้องรอให้ปัญหาไวรัสโคโรน่าคลี่คลายก่อน ซึ่งจะเร่งผลักดันสินค้ากลุ่ม Local Food ของจังหวัดเชียงใหม่ไปยังตลาดจีน โดยในปีที่ผ่านมา (2562) หอการค้าฯ ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับหอการค้าเสฉวนและชิงเต่า รวมถึง MOU กับบริษัท กรีนแลนด์ กรุ๊ป จำกัด (Greenland) ซึ่งเป็นบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศจีน โดยเป็นความร่วมมือเกี่ยวกับการนำสินค้าจากเชียงใหม่ไปจัดแสดงและจำหน่ายภายในศูนย์แสดงสินค้าฟรี 6 ปี ในโครงการศูนย์แสดงสินค้า Cross Border e-Commerce Park ณ นครเฉิงตู ซึ่งขณะนี้จีนมีความต้องการสินค้ากลุ่ม Local Food ของจังหวัดเชียงใหม่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูป อาหารอบแห้ง ผลไม้อบแห้ง (ลำไยอบแห้ง มะม่วงอบแห้ง) สินค้ากลุ่มคอสเมติกส์-เครื่องสำอางที่ผลิตจากสมุนไพร และสินค้าหัตถกรรม เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมสินค้าจากผู้ประกอบการซึ่งเป็นสมาชิกของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ คาดว่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไปจะเริ่มทยอยส่งออกสินค้าไปยังเมืองเสฉวน เฉิงตูและชิงเต่า ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ได้อีกทางหนึ่ง

ดร.กอบกิจ อิสรชีววัฒน์ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงเศรษฐกิจการเงินจังหวัดเชียงใหม่ ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ว่า เศรษฐกิจในภาพรวมชะลอตัวมากจนถึงขั้นหดตัว เนื่องจากขาดกำลังซื้อจากรายได้เกษตรที่ลดลง ภาระหนี้สินของครัวเรือน ความเข้มงวดการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน การใช้จ่ายสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันชะลอตัวจนถึงหดตัว มีเพียงภาคท่องเที่ยวที่เป็นกำลังซื้อสำคัญ แต่เริ่มชะลอตัวลงช่วงปลายไตรมาสตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน สำหรับมาตรการภาครัฐเพียงช่วยพยุงกำลังซื้อ ในช่วงปลายไตรมาสผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นมาก การใช้จ่ายในสินค้าคงทนหมวดยานยนต์หดตัวมากทุกประเภท สำหรับการลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องทั้งการก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ ส่วนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐบาลหดตัว เนื่องจากความล่าช้าของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563