ชิงใช้เงินกู้ 4 แสนล้าน หอการค้าหัวเมืองชง 500 โครงการ

ฟื้นเศรษฐกิจ - ภาครัฐ และภาคเอกชน โดยหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ หอการค้านครราชสีมา และ 12 องค์กรภาคเอกชนจังหวัดภูเก็ต ได้ระดมสมองจัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจแต่ละจังหวัดขึ้น เพื่อเสนอใข้งบฯฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทของรัฐบาล

หอการค้า “เชียงใหม่-ภูเก็ต-โคราช” ชงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นเฉียดหมื่นล้านบาท ดันเข้าเงื่อนไขกรอบเงินกู้ 4 แสนล้านบาท งบฯฟื้นฟูเศรษฐกิจรัฐบาล “เชียงใหม่” ชง 368 โครงการ ดันงบฯทั้งจังหวัด 5.8 พันล้าน ด้าน “หอฯโคราช” ชงเฉพาะเอกชน 20 โครงการ มูลค่า 500 ล้านบาท ขณะที่ 12 องค์กรเอกชน “ภูเก็ต” เตรียมพลิกฟื้นหารายได้อื่นทดแทนท่องเที่ยว

หลังจากรัฐบาลกำหนดกรอบการใช้จ่ายเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายให้แต่ละจังหวัดไปจัดทำแผนและโครงการต่าง ๆ มานำเสนอนั้น ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากองค์กรภาคเอกชนในหลายจังหวัด ในการเตรียมเสนอโครงการต่าง ๆ

เชียงใหม่ดันงบ 5.8 พันล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) เพื่อพิจารณาข้อเสนอโครงการต่าง ๆ ที่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเสนอมาในการใช้งบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศภายใต้พระราชกำหนด 4 แสนล้านบาทที่จะต้องเตรียมนำเสนอกระทรวงมหาดไทยต่อไป ทั้งนี้ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้คัดเลือกแผนงาน และโครงการต่างๆ แบ่งเป็น 4 หมวดใหญ่ ได้แก่ 1.แผนงานหรือโครงการลงทุนและกิจการการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพและยกระดับการค้าการผลิตและการบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ 2.แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน 3.แผนงานหรือโครงการเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน รวมถึงการลงทุนต่าง ๆ ของเอกชน 4.แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนกระบวนการผลิต เพื่อการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป 5.แผนงานระดับอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมโครงการทั้งหมดที่นำเสนอมีจำนวน 368 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 5,890,180,959 ล้านบาท

นายวโรดม ปิฏกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจรายสาขาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และนำเสนอต่อภาครัฐในการใช้งบฯฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศภายใต้พระราชกำหนด 4 แสนล้านบาท ครอบคลุม 4 ด้านที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ได้แก่ โครงการลงทุนและกิจการการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน กระตุ้นการบริโภค และการลงทุนขั้นพื้นฐาน รวมเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 453 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการพลิกฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ได้แก่ โครงการธนาคารต้นไม้แนวกันไฟถาวรและการจัดการชีวมวลเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ เพื่อพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มศักยภาพและยกระดับการผลิต และการบริการในภาคเกษตร อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ โดยการจัดกิจกรรมการสร้างแนวกันไฟถาวรและการจัดการชีวมวลงบประมาณ 306 ล้านบาท

2.ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ได้แก่ จัดแพ็กเกจกระตุ้นการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดเชียงใหม่และไทยเที่ยวเชียงใหม่ 3 โปรแกรมคือ 1) จัดงานมหกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชียงใหม่ 25 อำเภอ สนุกวันเดียวเที่ยวชุมชนเชียงใหม่ คัดเลือก10 ชุมชนในเชียงใหม่ และกิจกรรมผจญภัยในธรรมชาติ เส้นทางท่องเที่ยวแม่ริม แม่แตง และแม่วาง งบประมาณ 15 ล้านบาท 2) โครงการการพัฒนาเส้นทางการขับรถท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน (Boutique Driving Trail) รองรับนักท่องเที่ยวหลังวิกฤตโควิด-19 งบประมาณ 77 ล้านบาท 3) โครงการพัฒนาบุคลากรท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Hospitality-Long Stay Hub) งบประมาณ 5 ล้านบาท 3) กระตุ้นการบริโภคในพื้นที่ ได้แก่ 1.โครงการ Street Food Festival 2020 งบประมาณ 10 ล้านบาท 2.โครงการช่วยเหลือสนับสนุนจำหน่ายสินค้าเกษตรในพื้นที่ Chiang Mai Local Food Fair 2020 งบประมาณ 5 ล้านบาท

3.โครงการเชียงใหม่ลดทั้งเมือง (Chiang Mai Ultra-Sale 2020) จะจัดงานในพื้นที่ไนท์บาซาร์ การรณรงค์ร้านค้าทั่วจังหวัดเชียงใหม่ในการร่วมให้ส่วนลดกับผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวในอัตราพิเศษเพื่อสร้างให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนงบประมาณ 5 ล้านบาท 4.ด้านโครงสร้างพื้นฐานคือการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐและภาคเอกชนเกิดการวิจัยและพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มภายในประเทศในลักษณะบูรณาการ ผ่าน Platform e-Market Place (Trade-Tourism-Logistics) ที่ครอบคลุมการค้าการท่องเที่ยว การขนส่งออนไลน์ งบประมาณ 30 ล้านบาท

นายวโรดมกล่าวต่อว่า หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่หวังว่าโครงการที่นำเสนอจะมีส่วนในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 จะทำให้เชียงใหม่ที่เป็นเมืองที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้ฟื้นกลับมาอีกครั้ง รวมถึงลดผลกระทบที่จะมีขึ้นต่อภาคการผลิต การค้า การลงทุน ภาค SMEs ที่อยู่ในพื้นที่ในระยะเวลาเร่งด่วนต่อไป

โคราชชง 20 โครงการ 500 ล.

นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ได้เตรียมแผนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไว้ 20 โครงการ รวมงบประมาณ 500 ล้านบาท ในการนำเสนอทางจังหวัดในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ ได้แก่ 1) โครงการกันเงินกู้สนับสนุน SMEs 80,000 ล้าน ให้โคราชประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท 2.) โครงการรัฐให้เช่าสนามบินโคราช 3) โครงการเปิดเมืองโคราชถ่ายทำภาพยนตร์ระดับโลก 4) โครงการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ บ้านคุณย่าโม (งบประมาณ 200 ล้านบาท) 5) โครงการปรับปรุงร้านค้าย่อยทุกประเภท 6) โครงการคิดถึงโคราช เที่ยวโคราช อุดหนุนการเกษตร ส่งเสริมของดี ศิลปวัฒนธรรม นวัตวิถี 7) โครงการเปิดเพจหอการค้าโคราชมาร์เก็ตเพลส 8) โครงการ Korat Mall (We Mall) 9) โครงการ SHA Korat Green & Clean นำร่อง 16 แห่ง ใน อ.ปากช่อง 10) จัดทำ VDO โคราชปลอดภัย COVID-19 11) โครงการหอการค้าแฟร์ Korat FooDEx ครั้งที่ 2 12) โครงการเปิดประตู่สู่แหล่งทุน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนช่วยเหลือ SMEs (ร่วมกับชมรมธนาคาร) 13) โครงการพัฒนาผู้ประกอบการเข้าสู่ยุค New Normal 14) โครงการเทศกาลอาหารย่าง ณ โคราช 15) โครงการบูชาพระเครื่อง 16) โครงการถนนคนเดิน 17) โครงการโคราชร่างกายฟิต-เศรษฐกิจฟู 18) โครงการชวนกั๋นเที่ยวโคราชเด้อ 19) โครงการ Korat : Great Medical Green Living (Retirement Town) และ 20) โครงการอบรมวิชาชีพภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง

ภูเก็ตหนุนฟื้นฟูเกษตร-ประมง

นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตเปิดโอกาสให้ภาคีเครือข่าย วิสาหกิจชุมชน องค์กรเอกชน เสนอโครงการเข้ามาให้ได้ใช้งบประมาณ 4 แสนล้านบาทนี้ ขอให้ช่วยกันขับเคลื่อนโครงการที่ตอบโจทย์แผนงานจะเน้นเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชน ให้ยืนบนขาของตัวเองได้ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภูเก็ตมุ่งด้านท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยละเลยภาคการเกษตร ภาคการประมง อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล เมื่อเกิดผลกระทบจึงไม่สามารถพึ่งพิงตัวเองได้ ดังนั้นจังหวัดภูเก็ตจะขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์สอดรับนโยบายของกระทรวงมหาดไทยต่อไป

นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ที่ผ่านมาภูเก็ตพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวอย่างเดียวถึงปีละ 4 แสนล้านบาท ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจะสร้างความลำบากให้ภูเก็ต ดังนั้น 12 องค์กรภาคเอกชนได้ร่วมกันระดมสมองเพื่อหาทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจของภูเก็ตในระยะยาวและได้ข้อสรุปว่า ต้องมีการทำธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องไปกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการพึ่งพานักท่องเที่ยวจากต่างประเทศลง 10-15%

นอกจากนี้เตรียมนำเสนอการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ ทำเป็น “ภูเก็ตโมเดล” ขึ้นมา ประกอบด้วย TTT โดย T ตัวแรกคือ Testing ตรวจหาเชื้อผู้เดินทางเข้ามาและ T ตัวที่สองคือ ให้ความสำคัญผู้เดินทางใช้ Tracing Application แอปพลิเคชั่นเพื่อติดตามตัวในการควบคุมโรค และ T ตัวที่สามคือ Trading การรับนักท่องเที่ยวเข้ามาในช่วง 3-6 เดือนคำนึงถึงการรองรับในระบบสาธารณสุขในการแพทย์ฉุกเฉิน คำนึงถึงจำนวนเตียงห้องไอซียูในโรงพยาบาล รวมทั้งนำเสนอการท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble คือประเทศใดที่คุมการแพร่ระบาดได้เมื่อเข้ามาท่องเที่ยวจะได้รับการยกเว้นการกักตัว 14 วัน โดยภูเก็ตอาจเริ่มทำข้อตกลงนี้กับ โฮจิมินห์ เวียดนาม และเมืองเฉินตู ทำให้เกิดการเดินทางระหว่างกันได้ ทั้งนี้ ข้อเสนอทั้งหมดเตรียมนำเสนอทางจังหวัดในสัปดาห์นี้ เพื่อให้นำเสนอต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเดินทางมาภูเก็ตในวันที่ 16 มิถุนายนนี้