TRSดันยอดขายอาหารทะเลปี’63 ยืน 2 พันล้าน

“ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล” ชี้ธุรกิจแปรรูปอาหารทะเลส่งออกตรังเริ่มกลับมาเฟื่อง หลังสถานการณ์โควิด-19 ในจีน และญี่ปุ่น เริ่มคลี่คลาย เผย 4 เดือนแรกปีนี้แทบไม่มีตัวเลข คาดช่วงครึ่งปีหลังน่าจะกระเตื้องชดเชยส่วนที่หายไป เร่งเดินเครื่องนำเข้าวัตถุดิบจากทั่วโลก คาดสิ้นปีพยุงยอดขายให้ได้ 2,000 ล้านบาทเท่าปีก่อน

นายบุญชู ศัยศักดิ์พงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด (มหาชน) หรือ TRS เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สถานการณ์ธุรกิจการแปรรูปอาหารทะเลของบริษัท ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด (มหาชน) ได้รับผลกระทบมาก การส่งออกไปตลาดหลักในต่างประเทศ ได้แก่ ตลาดญี่ปุ่น และจีน โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกกุ้งหลักของบริษัทได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากลูกค้าจีนไม่สามารถเดินทางมาตรวจสินค้าได้ ส่วนตลาดญี่ปุ่นไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ส่งผลให้ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้แทบไม่มียอดการส่งออกเลย เทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 มียอดการส่งออกผลิตภัณฑ์ของบริษัทไม่ต่ำกว่า 400 ตัน แต่คาดว่านับจากเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป น่าจะมีตัวเลขชดเชยกลับมาเหมือนเดิม โดยกุ้งแช่แข็งจะส่งออกไปตลาดจีนทั้งหมดเกือบ 100% ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นส่วนใหญ่ส่งออกปลาแช่แข็งเป็นหลัก และยุโรปส่วนใหญ่ส่งออกพวกหอย

ปี 2562 บริษัทมีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศทั่วโลกกว่า 10,000 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นการนำเข้าเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับวัตถุดิบทั่วโลกทั้งหมดกว่า 2 ล้านล้านตัน ราคาวัตถุดิบยังอยู่ในระดับปกติ ไม่ขึ้นไม่ลง ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นการนำเข้ากุ้ง ประมาณ 1,000 ตัน เฉพาะการส่งออกกุ้งแช่แข็งไปจีนกว่า 80 ตู้ เฉลี่ยตู้ละประมาณ 25 ตัน หรือทั้งหมดประมาณ 1,500 ตัน แต่ปีนี้ยังไม่ถึง 50 ตัน

“สำหรับตลาดส่งออกหลัก ๆ ของบริษัท คือ ตลาดญี่ปุ่น มีสัดส่วน 80% ของสินค้าที่ส่งออกทั้งหมด รองลงมาคือ จีน 20% ปีนี้ยอดการส่งออกถือว่าช้ามาก คาดว่าหลังพ้นวิกฤตโควิด-19 ยอดการส่งออกน่าจะกลับมาสู่สภาพเดิม และมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเชื่อว่าตลาดอั้นมานาน เมื่อเปิดตลาดคนจะกลับมากระหน่ำกิน ทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการดำเนินธุรกิจของบริษัทจะทำคล้ายระบบนิคมอุตสาหกรรม ใครจะกินอะไรก็มาทำ โดยจะมีตัวแทนของบริษัทลูกค้าจากประเทศต่าง ๆ ที่ร่วมทำการค้ามาประจำที่บริษัท ทำให้บริษัทของเราเป็นเสมือนครัวให้กับลูกค้า” นายบุญชูกล่าว

นายบุญชูกล่าวต่อไปว่า ในการดำเนินธุรกิจนั้นการผลิตของบริษัทไม่มีปัญหา สามารถเดินหน้าไปได้ เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ ไม่ต้องแบกรับภาระหนี้สินกับธนาคารมากนัก ดังนั้นจึงมีสภาพคล่องสามารถเปิดราคาสินค้าในตลาดโลกได้ค่อนข้างต่ำ จึงสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และลูกค้าให้ความสนใจ การเปิดตลาดทำได้ง่ายขึ้น ตอนนี้การผลิตเริ่มกลับมาเหมือนเดิม เพื่อให้ทันกับออร์เดอร์ที่เริ่มทะลักเข้ามา โดยมีคนงานมากกว่า 1,600 คน บางช่วงอาจถึง 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมียนมากว่า 1,000 คน ซึ่งแรงงานถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด

Advertisment

นายบุญชูกล่าวต่อไปอีกว่า ช่วงนี้ยังไม่มีโครงการอะไรเพิ่มเติม เฉพาะที่ผลิตอยู่ตอนนี้มีทั้งหมด 3 โรงงานในที่เดียวกันถือว่าเพียงพอ ขอทำให้ปีนี้รอดพ้นวิกฤตนี้ไปก่อน ดังนั้นจึงไม่มีการตั้งเป้ายอดขายแต่อย่างใด ขอเพียงไม่ขาดทุนพยุงกิจการให้สามารถทรงตัวหรือเสมอตัวได้ถือว่าเป็นกำไรมากแล้ว ไม่ได้คิดว่าจะได้กำไรหรือทำเป้าได้เท่านั้นเท่านี้ ธุรกิจประเภทนี้ไม่ขาดทุนถือว่ากำไรแล้ว ไม่เหมือนจำพวกปลากระป๋องหรือถุงมือยางอนามัย ที่ถือว่ามีการขยายตัวไปในทางที่ดี ในช่วงนี้การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดของธุรกิจขณะนี้คือการอยู่นิ่ง ๆ ดูเหตุการณ์ไปเรื่อย ๆ

“ต่อจากนี้ไปทุกธุรกิจคงต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ต้องวางแผนระยะยาวเป็นหลัก เดิมทีธุรกิจแปรรูปอาหารทะเลแช่แข็งของภาคใต้มีจำนวนมาก แต่หลายรายต้องหยุดกิจการไปด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป ทำให้เหลืออยู่ไม่มากนัก อยู่ที่ว่าใครจะมีสายป่านหรือสถานะการเงินที่มั่นคงกว่ากัน บริษัทที่สามารถฝ่าวิกฤตได้ สามารถอยู่ได้ ทั้งนี้ ครึ่งหลังของปีนี้ ทางบริษัทคาดว่าจะสามารถทำยอดขายได้ไม่ต่ำกว่าปี 2562 คือกว่า 2,000 ล้านบาท เพราะเราเป็นบริษัทที่มีโครงสร้างใหญ่ สิ้นปีนี้เอาแค่เสมอตัว แม้จะไม่มีกำไรถือว่าเก่งแล้ว” นายบุญชูกล่าว