STeP ช่วยสวนผลไม้แปรรูปแก้ล้นตลาด

แปรรูป - อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) รับซื้อมะม่วงจากเครือข่ายเกษตรกรในภาคเหนือมาแปรรูปทำมะม่วงอบกรอบ มะม่วงเพียวเร่ และมะม่วงในน้ำเชื่อม เพื่อแก้ปัญหาภาวะล้นตลาด

STeP เร่งเดินหน้าโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร รับซื้อผลผลิตล้นตลาดจากเกษตรกร ลุยผลิตมะม่วงอบกรอบ-มะม่วงเพียวเร่-มะม่วงในน้ำเชื่อม เผยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ส่งผลให้เอสเอ็มอี-สตาร์ตอัพชะลอการใช้ประโยชน์จากโรงงานต้นแบบ ตั้งเป้ามีผู้ใช้บริการไม่น้อยกว่าปีละ 100 ราย คาดภายใน 5 ปีสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากกว่า 2,100 ล้านบาท

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในพื้นที่ภาคเหนือทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก พบว่าส่วนใหญ่มีปัญหาด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านทรัพยากร งบประมาณในการลงทุนเครื่องมือ เครื่องจักร หรือความรู้ความสามารถในการวิจัยพัฒนา ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ผลิตออกมาไม่ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถลงทุนซื้อเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตที่มีมูลค่าสูงได้เอง รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาไม่มีคุณภาพและมาตรฐานรองรับ

ทั้งนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งได้นำแนวคิดหลักการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติ ไปพร้อมกัน (bioeconomy, circular economy, green economy : BCG model) พร้อมสนับสนุนงบประมาณผ่านรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2560 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจรกว่า 160 ล้านบาท ผ่านสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) เพื่อก่อสร้างและดำเนินการบนพื้นที่การศึกษาตำบลแม่เหียะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาของอุตสาหกรรมอาหารในพื้นที่ภาคเหนือ

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพกล่าวว่า โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (Innovative Food Fabrication Pilot Plant) เปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รูปแบบการดำเนินงานของโรงงานต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเกิดประโยชน์กับสังคมสูงสุด โดยเริ่มผลิตน้ำเกลือแร่รสลิ้นจี่วิตามินสูง และมะเขือเทศราชินีอบแห้งเพิ่มพลังงาน เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมนำร่องเพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านอาหารชะลอการใช้ประโยชน์ของโรงงานต้นแบบ และการส่งออกผลิตผลทางเกษตรหยุดชะงัก เกิดภาวะล้นตลาด ไม่ว่าจะเป็น ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีการปลูกจำนวนมากในภาคเหนือ โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงมอบหมายให้อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STeP) ดำเนินโครงการโรงงานต้นแบบช่วยการผลิต (Pilot Plant for Production) โดยรับผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาดจากชุมชน/เกษตรกร นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ด้านอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมทั้งสร้างการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับนักศึกษา บัณฑิตว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

ปัจจุบันโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร มีความพร้อมในการให้บริการ จำนวน 4 สายการผลิต ได้แก่ 1.acid food process 2.low acid food process 3.dehydration food process และ 4.advanced food process โดยมะม่วงอบกรอบเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมลำดับที่ 3 ต่อจากน้ำเกลือแร่รสลิ้นจี่และมะเขือเทศราชินีอบแห้ง

สำหรับผลผลิตมะม่วงที่นำมาใช้ในการผลิตนั้น ทางโรงงานได้รับซื้อจากเครือข่ายเกษตรกรสวนมะม่วงในเขตภาคเหนือ และได้รับการติดต่อโดยตรงจากเกษตรกร โดยขณะนี้ได้รับซื้อผลผลิตมาแล้ว จำนวน 1.2 ตัน หรือ 1,200 กิโลกรัม แบ่งการผลิตเป็น 3 แนวทาง คือ 1.ผลิตภัณฑ์ที่เริ่มทำได้ทันที คือ มะม่วงอบกรอบ ซึ่งเริ่มทำการผลิตแล้ว ใช้เครื่องอบลมร้อน (hot air oven) และเครื่องอบแห้งด้วยไมโครเวฟระบบสุญญากาศ (microwave vacuum drier) 2.ผลิตภัณฑ์ยืดอายุวัตถุดิบคือ มะม่วงแบบเพียวเร่ ใช้การปั่นแล้วเก็บและเครื่องแยกกากแยกน้ำ (juice extractor screw type) 3.ผลิตภัณฑ์มะม่วงในน้ำเชื่อม โดยผลผลิตที่รับซื้อมาล่าสุดนี้แบ่งสัดส่วนการผลิตเป็นมะม่วงอบกรอบ 50% มะม่วงเพียวเร่ 30% และมะม่วงในน้ำเชื่อม 20% โดยตั้งเป้าแผนการรับซื้อมะม่วงเพื่อการแปรรูปทั้งหมดราว 5 ตัน

“ในระยะสั้นได้วางแผนการกระจายผลิตภัณฑ์มะม่วงอบกรอบ แจกจ่ายไปยังผู้บริโภคเพื่อสำรวจความพึงพอใจ และในระยะยาวได้วางแผนให้สตาร์ตอัพภายใต้โครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทเติมเต็มการจัดการการจำหน่ายตามห่วงโซ่คุณค่า รวมทั้งหากสามารถสร้างรายได้จะส่งมอบให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ต่อไป ซึ่งแผนในระยะต่อไปคือการผลิตมะม่วงเพียวเร่และมะม่วงในน้ำเชื่อม”

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพกล่าวต่อว่า เพื่อให้เกิดการยกระดับทางด้านนวัตกรรมอาหารให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในพื้นที่ภาคเหนือได้อย่างแท้จริง โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจรมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงความต้องการของตลาดและศึกษาวิจัยทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการในการเข้ารับบริการ โดยมีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากโรงงานต้นแบบไม่น้อยกว่าปีละ 100 รายอย่างต่อเนื่องทุกปี สร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ไม่น้อยกว่า 700 ราย สร้างนวัตกรรมด้านอาหารมากขึ้นภายในระยะเวลา 5 ปี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการวิจัยพัฒนา และนำผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่าร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท ตลอดจนเกิดการจ้างงานแรงงานที่มีทักษะสูงและแรงงานการผลิตในกิจการ SMEs และ startup ไม่น้อยกว่า 1,600 ราย นำไปสู่การยกระดับการค้าการลงทุนของพื้นที่ภาคเหนือได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน