ภูเก็ตจี้ศุลกากรปลดล็อกธุรกิจมารีน่า ขอเรือยอซต์เทียบท่าได้ 2 ปี

ติดหล่ม - อุตสาหกรรมมารีน่า จ.ภูเก็ตถือว่าเผชิญชะตากรรมมาอย่างยาวนาน เพราะกฎระเบียบของรัฐไม่เอื้อ โดยเฉพาะเวลาการจอดเทียบท่าได้เพียง 6 เดือน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านจอดเสรี เป็นการลดขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ

ภูเก็ตดันกรมศุลกากรปลดล็อกกฎหมายคุมอุตสาหกรรมมารีน่า เปิดทางให้เรือยอชต์จอดเทียบท่าจาก 6 เดือนเป็น 2 ปี หวังสร้างรายได้จากอู่ซ่อมเรือกำลังซื้อคนบนเรือ เผยที่ผ่านมาไทยสูญรายได้กว่า 500 ล้านบาทต่อปี เหตุเรือไปจอดมาเลย์-สิงคโปร์ เปิดเสรีให้จอดได้ไม่จำกัดเวลา จี้เร่งรัฐปรับผังเมืองจากสีเขียวเป็นม่วง เปิดทางตั้งอู่ซ่อมเรือ พร้อมเร่งรัฐ-เอกชนทำความเข้าใจมวลชนในพื้นที่

นางสาวเชิญพร กาญจนสายะ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางองค์กรภาคเอกชนภูเก็ตได้ยื่นหนังสือถึงคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือและพาณิชยนาวี ในคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่ได้ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และกระบี่ เพื่อผลักดันเรื่องยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมมารีน่า โดยอยากให้ภาครัฐแก้ปัญหา 2 ข้อ ในการพัฒนาการท่องเที่ยวทางทะเลโดยเรือสำราญ ได้แก่

เชิญพร กาญจนสายะ
เชิญพร กาญจนสายะ

1.แก้ประกาศกรมศุลกากรจังหวัดภูเก็ต ให้เรือสำราญพำนักอยู่ในประเทศไทย สามารถจอดเรือได้เป็นระยะเวลา 2 ปี จากปัจจุบันจอดได้ 6 เดือน ต่อได้อีก 6 เดือนและ 2.แก้ประกาศกรมศุลกากรจังหวัดภูเก็ตให้เรือที่เจ้าของเรือไม่ได้เข้ามาด้วย สามารถจอดเรือได้เป็นระยะเวลา 2 ปีเช่นกัน เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทย มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาของคนต่างชาติที่มากับเรือ และระยะเวลาการจอดเรือ ทำให้สูญเสียโอกาสที่จะสร้างรายได้จากค่าซ่อมเรือ และรายได้จากคนบนเรือมาจับจ่ายใช้สอย และท่องเที่ยวบนฝั่ง

“อุตสาหกรรมมารีน่าถูกกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และระบุอยู่ในยุทธศาสตร์กลุ่มอันดามัน 6 จังหวัด (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล)และยุทธศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ต แต่ไม่คืบหน้า ก่อนหน้านี้ ยื่นหนังสือไปหลายหน่วยงานก็เงียบ เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาเคยมีเรือเข้ามาในน่านน้ำจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 2,000 ลำ สร้างรายได้ให้กับภูเก็ตเฉลี่ย 100,000-500,000 บาทต่อลำ

แต่ปัจจุบันปัญหาเรื่องระยะเวลาของการจอดเรือส่งผลให้เรือเข้ามาจอดลดลงเหลือประมาณ 1,000 ลำ ทำให้สูญเงินเข้าไทยประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น หากทางรัฐบาลเห็นความสำคัญและดำเนินการแก้ไขตามข้อเสนอดังกล่าว จะส่งผลดีทั้งในด้านเศรษฐกิจของการท่องเที่ยวทางทะเลที่อาจสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 40% โดยคิดเป็นจำนวนเรือที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้นประมาณ 1,400 ลำ ซึ่งจะสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาทต่อปี”

นางสาวเชิญพรกล่าวต่อไปว่า ปกติเรือยอชต์ขนาดกลาง 4,000 ตันกรอส และขนาดใหญ่มากกว่า 4,000 ตันกรอสเป็นซูเปอร์ยอชต์ หากจะเข้ามาท่องเที่ยว และเอาเรือมาจอดซ่อมต้องใช้ระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 8-15 เดือน แต่เรือเหล่านี้จะจอดในไทยได้เพียง 6 เดือนต่อได้ไม่เกินอีก 6 เดือน ขณะที่ท่าเทียบเรือและอู่ซ่อมของประเทศเพื่อนบ้าน

โดยเฉพาะมาเลเซีย และสิงคโปร์ ไม่จำกัดระยะเวลาที่เรือจอด ส่วนอินโดนีเซีย มีระยะเวลาจอดได้ 3 ปี ฟิลิปปินส์ มีระยะเวลาจอดได้ 1 ปี ออสเตรเลีย มีระยะเวลาที่เรือจอดได้ 1-2 ปี และนิวซีแลนด์มีระยะเวลาจอดเรือได้ 2 ปี ซึ่งจูงใจต่างชาติไปใช้บริการมากกว่า

ทั้งนี้ ปัจจุบันท่าเทียบเรือในจังหวัดภูเก็ตมีทั้งหมด 9 แห่ง แบ่งเป็นท่าเทียบเรือยอชต์ 4 แห่ง ได้แก่ 1.ภูเก็ต โบ๊ทลากูน รองรับเรือได้จำนวน 300 ลำ 2.รอยัลภูเก็ตมารีน่า รองรับเรือได้จำนวน 95 ลำ 3.อ่าวปอแกรนด์มารีน่า รองรับเรือได้จำนวน 320 ลำ 4.ยอชต์เฮเว่นมารีน่า รองรับเรือได้จำนวน 300 ลำ, อุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ 3 แห่ง ได้แก่ 1.ภูเก็ตพรีเมียร์โบ๊ทยาร์ด รองรับเรือได้ 200 ลำ 2.คานเรือสิกิจ รองรับเรือได้ 100 ลำ 3.คานเรือรัตนชัย รองรับเรือได้ 100 ลำ และท่าเทียบเรือสาธารณะ ได้แก่ 1.ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง เป็นท่าเรือสาธารณะขนาดใหญ่ ที่มีเรือทั้งเรือสาธารณะและเรือเช่าเหมาลำมาจอด รองรับเรือได้จำนวน 240 ลำ 2.ท่าเทียบเรือขนาดเล็กรอบเกาะ รองรับเรือได้ 300 ลำ

นายบุญ ยงสกุล ประธานกรรมการ บริษัท โบ๊ทพัฒนา จำกัด และบริษัท โบ๊ท แอสเซท แมนเนจเมนท์ จำกัด ในเครือภูเก็ต โบ๊ท ลากูน ผู้ประกอบการธุรกิจมารีน่า โรงแรม และอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ จ.ภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันการทำอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือและซ่อมเรือของจังหวัดภูเก็ตยังติดปัญหาเรื่องผังเมือง

เนื่องจากช่วง 10 ปีจังหวัดภูเก็ตสนับสนุนด้านท่องเที่ยว ไม่ได้ส่งเสริมด้านอุตสาหกรรม ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกปรับผังเป็นสีเขียว ดังนั้น หากจะสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือและซ่อมเรือจะต้องเร่งปรับแก้สีผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วงบริเวณที่ติดทะเลตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 เพื่อให้ทำอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือและซ่อมเรือได้

“เท่าที่ทราบตอนนี้มีเอกชน 3 ราย มีแผนลงทุนทำมารีน่า 2 ราย และอู่ซ่อมเรืออีก 1 ราย ปกติเงินลงทุนมารีน่าแต่ละแห่งประมาณ 1,000 ล้านบาท ดังนั้น ภาครัฐและผู้ประกอบการที่จะสร้างอู่ต่อเรือและซ่อมเรือ ต้องเร่งทำความเข้าใจกับชาวบ้านและท้องถิ่นว่า มลพิษที่จะมาจากการต่อเรือไม่ได้มีมากมาย เพราะมีมาตรฐานควบคุม หากไม่มีการทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง

บุญ ยงสกุล
บุญ ยงสกุล

ผมเกรงว่าถึงจะผ่านการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่หากชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมืออาจติดปัญหามวลชนได้ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการบางรายที่ต้องการลงทุนทำอู่ซ่อมเรือและทำมารีน่า อาจจะยังทำความเข้าใจกับชาวบ้านไม่เพียงพอ ส่วนตัวผมคิดว่าถ้าทำความเข้าใจกับชาวบ้านเพียงพอน่าจะเดินหน้าต่อไปได้”

รายงานข่าวจากจังหวัดภูเก็ตเปิดเผยว่า ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีเอกชน 3 ราย ได้ยื่นขอลงทุนโครงการมารีน่า และอู่ต่อเรือ ได้แก่ 1.บริษัท กรีนพอร์ท มารีน่า จำกัด ผู้ดำเนินโครงการท่าเทียบเรือสำราญกีฬากรีนพอร์ท มารีน่า ต.ไม้ขาว อ.ถลาง เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลแห่งใหม่ที่มีมารีน่าสำหรับให้บริการเรือสำราญกีฬา และเรือประเภทอื่น ๆ รองรับเรือได้ตั้งแต่ 50 ลำขึ้นไป หรือมีพื้นที่ท่าเทียบเรือรวมตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำ EIA ซึ่งล่าสุดบริษัท เอ็นทิค จำกัด บริษัทที่ปรึกษาโครงการได้รับมอบหมายให้เปิดรับฟังความคิดเห็นรอบแรกไป เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563

2.บริษัท ซี วิว แลนด์ จำกัด ผู้ดำเนินโครงการท่าเทียบเรือสำราญและการกีฬาอ่าวกุ้งเบย์มารีน่า ต.ป่าคลอก อ.ถลาง มีพื้นที่ทั้งหมด30 ไร่ อยู่ระหว่างทำ EIA และเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 2 ครั้ง และกำลังถูกชาวบ้านและกลุ่มอนุรักษ์ต่อต้านหวั่นผลกระทบต่อแนวปะการัง และป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำ

3.บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) มีแผนลงทุนประกอบกิจการต่อและซ่อมแซมเรือ บนที่ดินขององค์การสะพานปลา ต.รัษฎา อ.เมือง กำลังถูกชาวประมงต่อต้านหวั่นจะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ฝุ่นละอองจำนวนมาก การปนเปื้อนมลพิษทางน้ำ