ดัชนีเชื่อมั่นใต้เพิ่ม-ราคายางพุ่ง

Photo by TENGKU BAHAR / AFP
ดาต้าภูธร

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกันยายน 2563 โดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2563 แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 47.90%

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคายางพาราปรับตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี 2 เดือน โดยราคายางแผ่นรมควันปรับราคาสูงถึง 60.50 บาท/กก. และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะความต้องการของตลาดโลกและจีนเพิ่มขึ้น รวมถึงผู้บริโภคในจีนยังมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคลออกมาใช้แทนรถโดยสารสาธารณะ เป็นผลให้ล้อยางจำหน่ายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 4-7 ก.ย. 2563 ช่วงหยุดยาวทำให้การท่องเที่ยวภาคใต้เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น

เมื่อพิจารณาถึงดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ย. มองว่าเรื่องนี้เป็นจุดอ่อนของรัฐบาล พร้อมมีข้อเสนอแนะต่าง ๆ ดังนี้ 1.ประชาชนกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ตามแนวชายแดน เนื่องจากแรงงานพยายามลักลอบเข้าไทยเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกักตัว เพราะค่าใช้จ่ายสูง ภาครัฐควรมีแพ็กเกจราคาประหยัด

2.โครงการ “คนละครึ่ง” จะเริ่มในวันที่ 23 ต.ค. 2563 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานราก โดยเฉพาะกลุ่มหาบเร่ แผงลอย ซึ่งไม่มีความรู้ในการลงทะเบียน จึงเสนอภาครัฐดังนี้ (1) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปพบปะลงทะเบียนให้ผู้ประกอบการ (2) ควรกำหนดให้สามารถใช้ได้เฉพาะกลุ่มหาบเร่ แผงลอย และร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมเท่านั้น (3) เพื่อให้เงินหมุนเวียนมากขึ้นควรกำหนดให้ใช้ได้ไม่เกิน 150 บาท/คน/วัน หรือควรเพิ่มวงเงินในการใช้ต่อวันให้มากขึ้น

3.เสนอให้ภาครัฐทำ big data เก็บรวบรวมข้อมูลของประชาชนแต่ละอาชีพที่มีความเดือดร้อน เพื่อแก้ไขปัญหา

Advertisment

4.ภาครัฐควรสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบ “ไทยเที่ยวไทย” โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ร่วมกับเอกชนจัดแคมเปญราคาพิเศษ

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 32.80 และ 35.60 ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 36.50 และ 34.10 ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 35.40 30.30 และ 32.10

ปัจจัยส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 27.60 รองลงมา คือราคาสินค้าสูง และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ คิดเป็นร้อยละ 24.40 และ 15.20 ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง

Advertisment