500 สปาพัทยาอ่วมพิษโควิด จี้รัฐคุม “หมอนวดฟรีแลนซ์”

โควิด ระลอก 3 ทำ “ธุรกิจสปา-ร้านอาหารพัทยา” วิกฤตหนัก สปา 500 แห่งตั้งแต่พัทยาเหนือจดใต้ ปิดกิจการไปกว่า 80% บางส่วนปิดกิจการถาวร ด้านร้านอาหารปิดกิจการชั่วคราวกว่า 90% จี้รัฐเยียวยาพร้อมชี้ให้รัฐออกกฎหมายควบคุม “หมอนวดฟรีแลนซ์” เปิดแพลตฟอร์มเซ็นเตอร์ให้บริการตามบ้านทั่วประเทศ เสี่ยงแพร่โควิด-19

นายชัยรัตน์ รัตโนภาส นายกสมาคมสปาและเวลเนสภาคตะวันออก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจสปาหรือนวดในเมืองพัทยามีการปิดกิจการชั่วคราวตามประกาศของรัฐบาล

เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสและการแพร่เชื้อระบาดของโรคโควิด-19 แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือตอนนี้มีการเปิดกลุ่มหมอนวดฟรีแลนซ์ รับงานบริการตามบ้านทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

เพราะมีบางแพลตฟอร์มเปิดเป็นเซ็นเตอร์และให้บริการทั่วประเทศ ซึ่งเสี่ยงอันตรายมากในการแพร่เชื้อโควิด-19 เข้าไปให้คนในบ้าน แต่ไม่มีใครพูดถึงประเด็นนี้ ทั้งนี้ หากกล่าวถึงการปรับตัวเพื่อสร้างรายได้ของตัวหมอนวดเองก็ไม่ปฏิเสธ

แต่ถ้ามองในแง่ของกฎหมายควรจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปกำกับดูแล เพราะกรณีนี้อยู่นอกเหนือกฎหมายในการดูแลควบคุม ซึ่งภาครัฐควรนำเรื่องนี้ไปพิจารณาว่าจะเป็นจุดอ่อนหรือจุดด้อย

“ภาพรวมของธุรกิจสปาและร้านนวดได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก จากเดิมธุรกิจร้านนวดทั่วพัทยาเปิดให้บริการประมาณ 400-500 แห่ง โดยส่วนใหญ่จะอยู่โซนถนนเลียบชายหาดพัทยา, ถนนพัทยาสาย 2 และตามซอยต่าง ๆ

ตั้งแต่พัทยาเหนือถึงพัทยาใต้ แต่ปัจจุบันปิดกิจการถาวรไปกว่า 80% ส่วนใหญ่เป็นร้านนวดที่ไม่ได้อยู่ในโรงแรม ส่วนสปาที่ตั้งอยู่ในโรงแรม หรือติดสัญญาเช่าอยู่ ตอนนี้ร้านที่อยู่ปิดกิจการชั่วคราวตามคำสั่งของภาครัฐ”

ตอนนี้พนักงานส่วนใหญ่เดินทางกลับต่างจังหวัด หรือเปลี่ยนอาชีพไปทำงานอื่น ๆ เช่น ทำงานดูแลผู้สูงอายุ ทำงานโรงงาน ที่ผ่านมาได้คุยกับภาครัฐและชี้ให้เห็นปัญหาก่อนจะมีการระบาดรอบ 2 ว่า

หากไม่มีการเยียวยาและปล่อยให้ผู้ประกอบการปิดกิจการลงไปเรื่อย ๆ จะเป็นจุดอ่อนและจุดพลิกผันของงานบริการประเทศไทย เพราะธุรกิจสปาหรือนวดต้องเป็นบุคคลที่ผ่านการเรียนรู้ มีประสบการณ์และทักษะในเรื่องการให้บริการ เช่น ธุรกิจสปา

พนักงานต้องมีความสามารถเฉพาะทางและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการถูกต้องตามกฎหมาย จึงอยากให้ภาครัฐเห็นความสำคัญ และชะลอการเลิกจ้างงาน เพราะภาคบริการและท่องเที่ยวเป็นภาคธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ อยากให้ภาครัฐประคองธุรกิจให้อยู่ได้เพื่อรักษาการจ้างงาน

ทั้งนี้ การที่ผู้ประกอบการจะฟื้นธุรกิจกลับมาเปิดร้านใหม่อีกครั้งไม่ยาก ขอเพียงนโยบายของภาครัฐมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โดยเฉพาะวัคซีนซึ่งเป็นกุญแจสำคัญตัวเดียวที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ไปต่อได้

หากภาครัฐไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ตามไทม์ไลน์ที่กำหนด แผนการเปิดประเทศก็คงเป็นไปไม่ได้ หากยังมีการกักตัวอยู่นักท่องเที่ยวต่างชาติคงไม่มา เพราะมีทางเลือกไปประเทศอื่น

“ภูเก็ตได้เริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่ไม่เป็นไปตามแผน ซึ่งมีข่าวว่าจะนำวัคซีนมาฉีดที่คลองเตยก่อนซึ่งมันก็สำคัญ แต่ที่วางแผนไว้แล้วจะดำเนินการอย่างไร ไม่ใช่ไปหยุดแผนภูเก็ต

เพราะงานต่าง ๆ จะหยุดชะงักไปด้วย รวมถึงส่งผลต่อรายได้ของประเทศ ภาครัฐจะเอาเงินที่ไหนมาดูแลและเยียวยาประชาชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อ รวมถึงทำให้ธุรกิจยืนได้ด้วยตนเอง”

ช่วงระยะเวลา 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา เฉพาะเมืองพัทยาสูญเสียรายได้ไปกว่า30,000-40,000 ล้านบาท และหากมองเม็ดเงินดังกล่าวที่ไปหมุนเวียนต่อในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งสมุนไพร โรงเรียนสอนนวด ร้านรับซักผ้า คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียสูงถึงกว่า 60,000-1 แสนล้านบาท

ด้านนายนริศ เพชรรัตน์ นายกสมาคมผู้ประกอบการร้านวอล์คกิ้งสตรีทพัทยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหารในวอล์คกิ้งสตรีท

รวมถึงร้านค้าในเมืองพัทยาเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยว ทุกคนเลี่ยงสถานที่แออัด จากเดิมเคยมีร้านค้า ร้านอาหารอยู่ประมาณ 100 กว่าร้านค้า ปัจจุบันเปิดให้บริการเพียง 1-2 ร้านเท่านั้น

และมีการปิดกิจการชั่วคราวกว่า 90% จากผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้เลย ตอนนี้เศรษฐกิจในเมืองพัทยาเงียบสนิท รอบนี้ถือว่าหนักกว่าทุกรอบที่ผ่านมา นอกจากร้านอาหารแล้ว สถานบันเทิง ผับ บาร์ต่าง ๆ ต้องปิดกิจการชั่วคราวกันหมด ผู้ประกอบการที่เหลืออยู่ทำได้เพียงประคับประคองธุรกิจของตนเอง