ตลาดพลอยจันท์ น่วมพิษโควิด เสียหาย 2 พันล้าน ลุ้นจัดอีเวนต์สิ้นปี

พลอยเมืองจันท์ป่วน

โควิดทุบตลาดพลอยเมืองจันท์น่วม คลัสเตอร์ใหม่ชาวแอฟริกันซ้ำเติม สั่งปิดตลาดศรีจันท์ ค้าขายหายวับ 2,000 ล้าน หอการค้า-ส.ผู้ค้าอัญมณีฯ อ้อนรัฐออก 3 มาตรการฟื้นตลาดเปิดรับนักธุรกิจต่างชาติที่มีวัคซีนพาสปอร์ต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์โควิดกระทบต่อธุรกิจการค้าพลอยซึ่งเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนของจันทบุรี เคยสร้างรายได้ปีละ 20,000-30,000 ล้านบาท ตอนนี้มูลค่าตลาดค้าพลอยหดตัวรุนแรงเหลือ 20-30% เทียบกับยุคก่อนโควิด

ล่าสุดมีคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี (นายสุธี ทองแย้ม) สั่งปิดตลาดพลอยศรีจันทน์ 7-23 พฤษภาคม 2564 โดยให้กลับมาเปิดได้อีกครั้ง 28 พฤษภาคม 2564 คิดเป็นมูลค่าตลาด 2,000 ล้านบาทที่หายไป สาเหตุจากพบผู้ติดเชื้อโควิด
คลัสเตอร์ใหม่ชาวแอฟริกันที่เข้ามาค้าขายในพื้นที่ มีทั้งผู้ค้าพลอยจากประเทศกินี แกมเบีย ไอวอรีโคสต์ มาลี รวมทั้งแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยกำลังเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ซึ่งต้องฉีดให้กับประชากร 70% ในพื้นที่ โดยมีความหวังว่าภายในครึ่งปีหลัง จะสามารถเปิดประเทศเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

ดีมานด์ต่างชาติรอซื้อเพียบ

นายชายพงษ์ นิยมกิจ ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี และอุปนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์โควิดตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบันส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดค้าพลอยและอัญมณีจันทบุรี ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิดระลอก 3 มีแนวโน้มตลาดเริ่มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป การซื้อขายเริ่มกลับมา 50-60% แต่ก็ต้องลงเหลือ 20-30%

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว แต่พบว่ากลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูงในตลาดต่างประเทศ ทั้งอังกฤษ อเมริกา ยุโรปมีความต้องการซื้ออัญมณีจำนวนมาก ดังนั้น ถ้าตลาดพลอยสามารถเปิดรับชาวต่างประเทศได้ภายในไตรมาส 4/64 มั่นใจว่าจะทำให้ธุรกิจอัญมณีฟื้นตัวขึ้นมาได้

ลุ้นจัดบิ๊กอีเวนต์ ไตรมาส 4/64

สำหรับชาวจันทบุรีจะมีบิ๊กอีเวนต์เดือนธันวาคม 2564 งานพลอยและเครื่องประดับอัญมณี รูปแบบจัดเป็นเทศกาลนานาชาติ เจ้าภาพจังหวัดจันทบุรีร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เป็นตัวช่วยเพิ่มยอดขาย 3 ช่องทาง ได้แก่ ขายคนไทย, ลูกค้าต่างชาติในไทย และส่งออก

ดังนั้น เพื่อสร้างโอกาสให้สามารถจัดเทศกาลพลอยฯช่วงปลายปีได้ ทางหอการค้าจันทบุรีและสมาคมผู้ค้าอัญมณีฯจันทบุรีจึงมีข้อเสนอ ดังนี้ 1.เปิดให้ลูกค้าต่างประเทศที่ถือวัคซีนพาสปอร์ตเพื่อยืนยันว่ามีการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว สามารถเดินทางเข้าไทยได้ 2.ขอให้รัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนให้ผู้ประกอบการตลาดพลอยทั้งระบบ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในจันทบุรีแบบจำเป็นเร่งด่วน

“ในช่วงโควิดพลอยไม่สามารถค้าขายเป็นล่ำเป็นสันบนระบบออนไลน์ได้ เนื่องจากเป็นสินค้ามูลค่าสูง ลูกค้าต่างประเทศที่สนใจซื้อต้องเดินทางเข้ามาตรวจสอบพลอยด้วยตนเองเป็นหลัก แต่ช่วงโควิดที่มีการปิดน่านฟ้า ตลาดจึงหดตัวอย่างที่เห็น โอกาสจะฟื้นตลาดพลอยจึงต้องเปิดรับลูกค้าต่างประเทศให้ได้มากที่สุด”

จัดระเบียบผู้ค้าแอฟริกัน

3.เสนอให้จัดระเบียบผู้ค้าพลอยชาวแอฟริกันให้ทำอาชีพในเมืองไทยได้ถูกกฎหมาย เช่น วีซ่า ใบอนุญาตทำงาน หรือ work permit การจัดตั้งบริษัทควรแสดงหลักฐานการเงิน ตลอดจนมีการสื่อสารสร้างความเข้าใจและความร่วมมือกับผู้ประกอบการไทย เหตุผลเพราะตลาดค้าพลอยจันทบุรีมีการพึ่งพาพลอยวัตถุดิบจากแอฟริกันเป็นหลักในปัจจุบันจึงมีการเดินทางค้าขายระหว่างกันของชาวแอฟริกันและกลายเป็นกลไกสำคัญส่วนหนึ่งของตลาดพลอย

“ตลาดพลอยจันทบุรีเรามีชื่อเสียงในด้านช่างเจียระไนพลอยฝีมือดีที่สุดในโลก ในขณะที่พลอยแอฟริกันที่นำเข้ามาซื้อขายเป็นวัตถุดิบหลักที่นำมาเจียระไนสร้างรายได้ให้กับคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยและมีอยู่จำนวนมาก อีกทั้งมีนโยบายพัฒนาให้จันทบุรีเป็นตลาดพลอยอาเซียน จึงอยากให้รัฐบาลเพิ่มความสำคัญให้กลับมาเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนได้อีกครั้ง”

กลุ้มใจเข้าไม่ถึงซอฟต์โลน

นายภูเก็ต คุณประภาคาร ที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าอัญมณีฯ จันทบุรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดพลอยจันทบุรี 80-90% เป็นการค้าส่ง ลูกค้าต้องมาตรวจสอบสินค้าด้วยตัวเอง มีการเลือกสี สเป็กที่ต้องชัดเจน ยุคโควิดผู้ประกอบการไทยส่งสินค้าตัวอย่างให้ดูและเลือกสั่งจึงไม่ได้รับความนิยม มูลค่าตลาดเหลือ 20-30% ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ

“โควิดทำให้ทุกอย่างติดขัดไปหมด พึ่งพาพลอยดิบจากแอฟริกัน รองลงมาคือเมียนมา แต่ตอนนี้ก็เดินทางไม่สะดวก แม้แต่คนจันท์ที่ไปซื้อพลอยในแอฟริกา 200-300 คนก็ต้องกลับมา”

จากสภาพที่ตลาดนิ่งเป็นเวลานานเกือบ 2 ปีตั้งแต่โควิดเมื่อต้นปี 2563 ทำให้ผู้ประกอบการบรายย่อยถึงรายใหญ่มีปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียน เพราะอัญมณีไม่ใช่สินทรัพย์ที่นำไปค้ำประกันการกู้ยืมได้ รัฐบาลมีโครงการสินเชื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือซอฟต์โลนแต่ผู้ประกอบการจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงซอฟต์โลนได้ จึงอยากให้รัฐบาลเยียวยาด้านการเงินเพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจไปได้

หวั่นรายเล็กปิดกิจการ

ด้านนายเมธี จึงสงวนสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท เวิลด์ แซฟไฟร์เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า โควิดรอบ 3 ลูกค้าที่มีเหลืออยู่เป็นลูกค้าประจำ อาทิ โรงงานจิวเวลรี่, ลูกค้าอินเดีย ฮ่องกง ยุโรป และคนไทย สัดส่วน 20-30% โดยนโยบายรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันโรคระบาดจึงใช้วิธีติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ ไลน์ และใช้วิธีจัดส่งพลอยสำเร็จรูป (พลอยเจียระไน) ที่มีการรับรองมาตรฐานให้ดู

ส่วนลูกค้าขาจรหายไป 100% ส่งผลกระทบต่อผู้ค้าพลอยรายย่อยเพราะไม่มีลูกค้า หากรัฐบาลไม่มีโปรแกรมอะไรออกมาช่วยเหลือเยียวยาคาดว่าอาจทำให้เลิกกิจการหรือสูญหายไปจากระบบ ซึ่งถือเป็นประเด็นอ่อนไหวเพราะบริษัทพลอยรายเล็กมีการจ้างงานช่างเจียระไนพลอยที่เป็นแรงงานฝีมือหาตัวจับยาก