“เถียงนา” คืออะไร ? ทำไมหมอทวีศิลป์ยกเป็นโมเดลกักตัวผู้ป่วยโควิด

เถียงนาคืออะไร ทำไมกลายเป็นโมเดลกักตัว
ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์

ชวนทำความรู้จักความหมายของคำว่า “เถียงนา” หลัง หมอทวีศิลป์ยกให้เป็นโมเดลกักตัวสำหรับผู้ป่วยโควิดอาการไม่มากในต่างจังหวัด

วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวถึงรูปแบบของการกระจายเชื้อโควิด-19 และแผนงานของรัฐบาล โดยตอนหนึ่งระบุว่า ขณะนี้ได้เกิด “เถียงนาโมเดล” ขึ้นแล้ว

เนื่องจากในภาคอีสาน ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง เมื่อคนหนุ่มคนสาวที่ป่วยโควิดแต่อาการไม่มากเดินทางกลับไป คนเหล่านั้นได้กักตัวเองอยู่ที่เถียงนา โดยมีคนส่งข้าวส่งน้ำ เป็นวิธีการจากภูมิปัญญา ที่อาศัยความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งนายแพทย์ทวีศิลป์ระบุว่า “น่ารักมาก ๆ”

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จัก “เถียงนา” ภาษาท้องถิ่นที่ถูกกล่าวถึง รวมถึงยกระดับเป็น “โมเดล” สำหรับการกักตัวของผู้ป่วยโควิดตามต่างจังหวัด ดังนี้

“เถียงนา” คืออะไร ?

บทความเรื่อง เถียงนา : รูปแบบ และการใช้งานในวัฒนธรรมข้าวของชาวนาอีสาน ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์วารสารศิลปกรรมศาสตร์ ให้ความหมายว่า เถียงนาเป็นสิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้น เพื่อใช้สอยเกี่ยวพันกับการทำนาในวัฒนธรรมข้าวของชาวนาอีสาน เป็นวัตถุวัฒนธรรมในแบบฉบับของภูมิปัญญาพื้นถิ่น ซึ่งมีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมไทย-ลาวของชาวนาในภาคอีสาน เป็นการสร้างสรรค์ที่มาจากภูมิปัญญาอันบริสุทธิ์แบบพื้นบ้านของชาวนาอีสาน ที่สืบทอดมาจากอดีต เกิดจากหลาย ๆ องค์ประกอบ

เช่น วัสดุ และทำเลที่ตั้ง ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบทางกายภาพที่สามารถมองเห็น หรือรับรู้ได้โดยตรง จากการที่เจ้าของเถียงนา ลงมือปลูกสร้างด้วยตัวเอง เป็นการปลูกสร้างที่ลงตัวกับสภาพแวดล้อมรอบข้างสามารถแบ่งรูปแบบของเถียงนาได้ 5 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ

  1. เถียงนาพื้นติดดิน แบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่ แบบใช้พื้นดินเป็นพื้นนั่ง และแบบใช้แคร่เป็นพื้นนั่ง
  2. เถียงนายกพื้นสูงจากดินระดับเดียว
  3. เถียงนายกพื้นสูงจากดิน 2 ระดับ
  4. เถียงนายกพื้นสูงจากดินหลายระดับ
  5. เถียงนาประเภทเคลื่อนที่ได้

โดยสามารถจำแนก รูปแบบการใช้งานของเถียงนาได้ 2 ลักษณะ คือ

  • ในทางพื้นที่ ใช้ประกอบกิจกรรมประเภทเดียวที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำนา
  • ในทางสังคมหรือชุมชน ใช้ประกอบกิจกรรมหลายประเภทที่เกี่ยวข้องกับคติความเชื่อ คือ “ ประเพณีฮีตสิบสอง ” ควบคู่ไปกับการทำนา

ปัจจุบันแม้สังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่วิถีชีวิตของชาวอีสาน ยังคงเกี่ยวพันอย่างเหนียวแน่นกับการทำเกษตรกรรมเช่นเดิม เป็นการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย อยู่กับการทำนา และธรรมชาติ ด้วยเหตุดังกล่าว เถียงนาจึงเป็นสถานที่สำคัญ ที่สามารถสะท้อนภาพวิถีการดำเนินชีวิตของชาวนาอีสานได้เป็นอย่างดี และเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ที่อยู่คู่กับท้องทุ่งนาของชาวอีสานมาอย่างยาวนาน

คำเรียก “เถียงนา” ในแต่ละท้องถิ่น

เว็บไซต์ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันเถียงนาเป็นสถานที่ที่ถูกใช้งานหลายอย่าง บางแห่งพัฒนาเปลี่ยนเป็นบ้านเรือน และขยายเป็นชุมชน

  • เถียงนา เป็นชื่อเรียกงานช่างสิ่งปลูกสร้างอย่างง่าย ๆ ที่มีขนาดเล็ก
  • เถียงนา วัฒนธรรมไทย-ลาว หมายถึง โรงเรือนที่ปลูกสร้างไว้สำหรับพักอาศัยในลักษณะชั่วคราวเพื่อเฝ้าพืชผลในไร่นา เถียง ถ้าปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่นา เรียกว่า เถียงนา เถียง ถ้าปลูกสร้างไว้ในป่า เรียกว่า เถียงไร่ หรือ เถียงไฮ่ เถียงนา บางครั้งเรียกเพี้ยนเป็น เสียงนา หรือ เขียงนา
  • เถียงนา วัฒนธรรมล้านนา นิยมเรียกว่า ห้างนา
  • เถียงนา ภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา เรียกว่า โรงนา
  • เถียงนา ภาคใต้เรียกว่า ขนำนา
  • เถียงนา ถ้าสร้างอยู่ในไร่บนภูเขา เรียกว่าทับ ใช้สำหรับเป็นที่พักตอนออกไปทำไร่ เลี้ยงควาย และใช้เป็นที่พักในเวลาออกไปดักจับสัตว์เวลาค่ำคืน

ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับ “เถียงนา”

เรื่อง ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับเถียงนา เว็บไซต์ประตูสู่อีสาน เผยว่า ก่อนการสร้างเถียงนาบางแห่งมีการทําพิธีบนบาน บอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง เพื่อขออนุญาตปลูกสร้างเถียงนา และบางพื้นที่ก็อาจมีการสมมติเหตุการณ์ เพื่อเป็นการถือเคล็ด โดยให้คน 2 คนออกไปในนา บริเวณตรงที่จะปลูกสร้างเถียง แล้วให้ทั้งสองคนถกเถียงกันอย่างรุนแรง ทำให้เกิดเสียงดังมาก ๆ หรืออาจจจะทำให้ถึงขั้นลงมือชกต่อยกัน เพื่อให้ดูสมจริงมากขึ้น

จะได้เป็นการรบกวนไปถึงผีป่าหรือวิญญาณที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น เกิดความรำคาญหรือความกลัว จนต้องหลบหนีไปอยู่ที่อื่น ซึ่งเชื่อกันว่า จะทำให้พื้นที่ปลูกสร้างนั้นเกิดความสงบร่มเย็น ปราศจากภัยอันตรายต่าง ๆ จากนั้นจึงเริ่มลงมือปลูกสร้างเถียงนา

โดยในการสร้างเถียงนานี้ บางพื้นที่จะไม่สร้างเถียงนาหันไปทางทิศตะวันตก เพราะถือว่าเป็น “ทิศผีตาย” และยังมีการกล่าวถึงความเชื่อเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าบ้านใดไม่มีเถียงนาเป็นของตนเอง คนนั้นจะยากจนและไม่ได้เป็นที่ยอมรับในสังคม นอกจากนี้ การเลือกที่ตั้งยังต้องสังเกตว่า เป็นที่อากาศปลอดโปร่ง สะดวกต่อการเดินทาง การลําเลียงผลผลิต และสามารถมองเห็นโดยรอบ เพื่อให้ง่ายในการดูแลนาข้าว ซึ่งการเลือกทําเลที่ตั้งนี้ ถือเป็นภูมิปัญญาที่มีการสืบทอดกันต่อมา

ทั้งหมดนี้คือคำจำกัดความของคำว่า “เถียงนา” ซึ่งขณะนี้ถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคระบาด