แบรนด์ดัง The North Face-VANS ซื้อยางอินทรีย์พัทลุงผลิตสินค้า

แบรนด์ดัง “แวนส์-เดอะ นอร์ทเฟส” โผล่ซื้อยางพาราอินทรีย์ ชาวสวนพัทลุง ไปผลิต “รองเท้า-กระเป๋า” ให้ราคาสูงกว่าตลาด 4 บาท/กก. ด้านชาวสวนชี้การปลูกสวนยางพาราวนเกษตรช่วยลดต้นทุนการผลิต ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี-ยาฆ่าหญ้า แถมรายได้เพิ่มจากการปลูกพืชอื่นผสมผสาน

นางช่อทิพย์ ปราบปรี เลขานุการองค์กรวนเกษตรฟื้นฟูป่า เทศบาลตำบลตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางกลุ่มได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนโครงการวนเกษตรฟื้นฟูสวนยางเพื่อป่าสมบูรณ์และสังคมเป็นสุข ระหว่างสำนักงานจังหวัดพัทลุง และ Terra Genesis International (TGI)

โดยการทำสวนยางพาราวนเกษตรเป็นการปลูกพืชผสมผสาน ปลูกยางพาราพร้อมพืช 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง ส่งผลดีทำให้ลดต้นทุนการปลูกยางพาราได้มาก เพราะไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าหญ้า ขณะที่ปริมาณน้ำยางสดมีเปอร์เซ็นต์ที่ดี และปริมาณไม่ลดลง

ปัจจุบันสมาชิกตื่นตัวมาทำสวนยางพาราวนเกษตร ประมาณ 1,000 ไร่ และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายจะรณรงค์วนเกษตรทั่วทั้ง จ.พัทลุง ทั้งนี้ ยางพาราวนเกษตรส่งออกแล้วประมาณ 700-800 ตัน มีออร์เดอร์มาเป็นลอตละ 70-80 ตัน

“สวนยางพาราวนเกษตรเป็นการผลิตยางเกรดพรีเมี่ยม มีผู้รับซื้อเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์รองเท้า กระเป๋าหนัง แบรนด์เนมดังจากต่างประเทศ”

ทางนักวิชาการชำนาญการเกษตรจังหวัดพัทลุงเปิดเผยว่า การทำสวนยางพาราวนเกษตรให้ผลผลิตดี และอายุยางพารายาวถึง 40-50 ปี ดีกว่ายางพาราที่ใช้สารเคมี เปอร์เซ็นต์น้ำยางสดก็ไม่สม่ำเสมอ ทั้งนี้มีกลุ่มบริษัทที่เข้ามารับซื้อให้ราคาสูงกว่ายางพาราทั่วไป ไม่ต่ำกว่า 4 บาท/กก. และรับซื้อยางพาราอินทรีย์ประมาณ 4,500 ตัน ภายในปี 2030 นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋า

และรองเท้า เช่น รองเท้าแบรนด์แวนส์ (VANS) และเดอะ นอร์ทเฟส (The North Face) ต่างมีนโยบายรักษ์โลก ใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งการชูแบรนด์สินค้าในการอนุรักษ์โลกเป็นจุดเด่น และจุดขายด้วย และผู้ใช้บริการสินค้าของบริษัทเหล่านี้ถือเป็นผู้ร่วมอนุรักษ์โลกด้วย

ด้านนายชวพล อ่อนเรือง เจ้าของสวนวนเกษตรบ้านชุมทอง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง อดีตผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินพัทลุง และเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการวนเกษตรได้เริ่มขับเคลื่อนเมื่อ 2545-2546 โดยมอบนโยบายให้ปลูกป่า ทำธนาคารน้ำใต้ดิน ต่อมาได้มีชาวต่างชาติเข้ามาร่วมรับฟังเรื่องวนเกษตร และกลับมาพร้อมนำผู้แทนบริษัทผู้ผลิตรองเท้าจากประเทศสหรัฐ ที่มีนโยบายรักษ์โลกมาด้วย

จากนั้นจึงได้มีโครงการรณรงค์ปลูกป่าร่วมกัน และทำเอ็มโอยูร่วมกัน โดยมีนโยบายสร้างแรงจูงใจรับซื้อยางพาราจากสวนยางพาราวนเกษตรในราคาสูงกว่าตลาด 3-4 บาท/กก. สำหรับตนเองมีพื้นที่ 20 ไร่ เมื่อปี 2548 ได้ปลูกยางพารา และป่าสมุนไพร 400-500 ชนิดที่งอกขึ้นในสวนยางพารา

ทางด้าน นายจรูญ พูลยิ้ม เจ้าของสวนวนเกษตรอินทรีย์ กรรมการสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สวนยางเกษตรอินทรีย์ และวนเกษตรจะไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และปลูกพืชอื่นร่วม เช่น พืชล้มลุก พริกไทย ผักเหมียง กล้วย สับปะรด ฯลฯ ทั้งนี้ การทำสวนยางพาราวนเกษตรประมาณ 2 ไร่ มีรายได้ค่อนข้างดีจากพืชอื่นที่ปลูกร่วมเดือนละประมาณ 15,000 20,000 บาท/ไร่ ยังไม่รวมรายได้จากยางพารา

ทางนายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน (คยปท.) เปิดเผยว่า ทาง คยปท.ได้รณรงค์การทำสวนยางพาราวนเกษตร มาตั้งแต่ปี 2556 คาดว่าอีกประมาณ 10 ปีจะเติบโตขึ้นในระดับ 30-50% ทั่วประเทศ ทั้งนี้ การทำสวนยางพาราวนเกษตรช่วยลดทุนการผลิตได้มาก โดยเฉพาะลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูงมาก 1,400 บาท/กระสอบ