ด่านหนองคายคึกคักต่อเนื่อง ศุลกากรคุมเข้มค้าน้ำมันข้ามแดน

ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จังหวัดหนองคาย คึกคักอย่างต่อเนื่องหลังจาก สปป.ลาว และจังหวัดหนองคายประกาศเปิดจุดผ่านแดนถาวรทั้ง 3 ด่าน ให้บุคคล ยานพาหนะ และสิ่งของ สามารถเดินทางเข้า-ออก ได้ ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 65 ที่ผ่านมา

วันที่ 15 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิทูร ศรีอินทร์งาม ผอ.ส่วนบริการทางศุลกากร ด่านศุลกากรหนองคาย เปิดเผยว่า หลังจากทางการ สปป.ลาว และจังหวัดหนองคาย ประกาศเปิดจุดผ่านแดนถาวรทั้ง 3 ด่าน ให้บุคคล ยานพาหนะ และสิ่งของ สามารถเดินทางเข้า-ออก ได้ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 65 ที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศการผ่านเข้า-ออกที่ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จังหวัดหนองคาย เริ่มคึกคักอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลของด่านศุลกากรหนองคายในเดือนพฤษภาคม 2565 มีรถยนต์ส่วนบุคคลเข้ามา จำนวน 7,136 คัน และรถยนต์ส่วนบุคคลออกไป จำนวน 6,744 คัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น หากการดำเนินการในเรื่องเอกสารของรถของชาวลาวที่จะนำรถข้ามมายังฝั่งไทยมีการดำเนินการได้เพิ่มคนจะข้ามแดนได้มากขึ้น

นายพิทูร กล่าวว่า ชาวลาวที่นำรถยนต์ส่วนบุคคลเข้ามาส่วนใหญ่เดินทางมาเช้า-เย็นกลับ จะไปจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งในจังหวัดหนองคายและจังหวัดอุดรธานี ส่วนคนไทยที่เดินทางข้ามไป สปป.ลาว ส่วนใหญ่ก็จะไปติดต่อธุรกิจหรือไปท่องเที่ยวระยะสั้น ๆ

ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรหนองคายพร้อมอำนวยความสะดวก และพร้อมรองรับกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นเต็มกำลัง เพราะก่อนหน้าเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการผ่านเข้า-ออกมากกว่านี้อยู่แล้ว

สำหรับข้อแนะนำของผู้ที่ผ่านเข้า-ออกด่านพรมแดนฯทางศุลกากรจะมาตรการควบคุมสินค้าที่ติดตัวเข้า-ออก เช่น สุรา 1 ขวดหรือ 1 ลิตร บุหรี่ 200 มวนหรือ 1 แท่ง หากมีปริมาณเกินกว่าที่กำหนดก็ต้องมีการเสียภาษี จึงขอประชาสัมพันธ์ให้มีการนำเข้า-ออกตามที่กฎหมายกำหนด

รวมไปถึงเรื่องเงินตราด้วย ซึ่งทางด่านศุลกากรหนองคายได้ทำป้ายประกาศแจ้งเตือนไว้ตามจุดต่าง ๆ ภายในด่านพรมแดน โดยเฉพาะฝั่งขาเข้าและขาออก สามารถสอบถามข้อมูลต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่ได้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงที่ฝั่งไทยกับ สปป.ลาว มีสถานการณ์แตกต่างกัน อาจจะทำให้เกิดการลักลอบนำน้ำมันจากฝั่งไทยไปขายในฝั่ง สปป.ลาว โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรหนองคายค่อนข้างเป็นกังวล เพราะความเดือดร้อนของประชาชนชาวลาวมีอยู่มาก มีการจับกุมผู้ลักลอบค้าน้ำมันได้เป็นระยะ

ซึ่งส่วนนี้ไม่ได้มีข้อห้ามค้าน้ำมันแต่การค้าน้ำมันจะต้องทำอย่างถูกต้อง ผู้ประกอบการและตัวแทนผู้ประกอบการรวมไปถึงคนขับรถขนส่งสินค้าก็ทราบอยู่แล้ว และเมื่อมีการกระทำผิดก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ความผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น กรมศุลกากรได้มีเกณฑ์ระงับคดีคือ กรณีลักลอบขนน้ำมันเชื้อเพลิงออกไม่เกิน 5,000 ลิตร มีโทษปรับ 2 เท่าของราคา รวมค่าอากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมภาษีสรรพสามิต และต้องยกของกลางให้เป็นของแผ่นดิน แต่หากมีการลักลอบขนน้ำมันเชื้อเพลิงออกเกิน 5,000 ลิตร จะต้องถูกปรับ 4 เท่าของราคา รวมค่าอากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมภาษีสรรพสามิต และต้องยกของกลางให้เป็นของแผ่นดิน