“ฟาร์มสลัด” พร้อมเสิร์ฟ สด ๆ จากฟาร์มสู่ “เวนดิ้งแมชีน”

พีระพล เสลาหอม
สัมภาษณ์

ถึงวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) นั้นถือเป็นช่องทางจำหน่ายอีกช่องทางหนึ่งที่จำเป็นและช่วยเสริมช่องทางหลักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า สามารถชำระเงินด้วยบัตรเครดิต บาร์โค้ด เป็นต้น

รวมถึงสินค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากเครื่องดื่มนานาชนิด ยังมีขนมขบเคี้ยว อาหารกล่องพร้อมรับประทาน หน้ากากอนามัย แม้กระทั่งยาสามัญประจำบ้าน ฯลฯ และวันนี้ ตู้เวนดิ้งแมชีน ก็มีอาหารสดไว้เสิร์ฟแล้ว โดยเริ่มมี “ผักสลัด”จำหน่ายผ่านตู้หยอดเหรียญ ที่สามารถรักษาความสดใหม่ไว้ได้ก่อนจะถึงมือผู้บริโภค

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “พีระพล เสลาหอม” เจ้าของฟาร์มผักออร์แกนิก “ฟาร์มสลัดไทยแลนด์” ที่อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นผู้บุกเบิกในการนำ ผักสลัด มาขายผ่านเวนดิ้งแมชีน

จุดเริ่มต้นฟาร์มผักออร์แกนิก

“พีระพล” เจ้าของผักสลัด ภายใต้แบรนด์ “ฟาร์มสลัด” ย้อนเล่าถึงความเป็นมาว่า “…เริ่มแรกเรามีพื้นที่อยู่ประมาณ 10 ไร่ ที่ ต.คลองข่อย อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งหลังจากมีโควิด-19 เกิดขึ้น ช่วงนั้นผู้คนเริ่มหันมาสนใจเรื่องสุขภาพมาก จึงคิดจะนำที่ดินที่มีอยู่มาต่อยอดในเชิงธุรกิจ และเริ่มทำฟาร์มผักออร์แกนิก เมื่อสักเดือน ต.ค. 2564 เริ่มจากการสร้างโรงเรือน 2-3 โรงเรือน เพื่อเพาะปลูกผักสลัด ทั้งกรีนโอ๊ก, กรีนคอส หรือสลัดคอส บัตเตอร์เฮด ฯลฯ

ที่สำคัญคือ เป็นการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ โดยช่วงแรกที่ผลิตได้ ผักสลัดทั้งหมดเริ่มจากการขายส่งเข้าร้านอาหาร ร้านขายของชำ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

“พีระพล” ยังบอกว่า ด้วยความที่เป็นผักออร์แกนิก ที่มีแวลูในตัวมันเองอยู่แล้ว บวกกับเทรนด์ในเรื่องสุขภาพ ผักที่ปลูกจึงได้รับการตอบรับจากตลาดค่อนข้างดี จากนั้นก็ค่อย ๆ ปลูก (ผลิต) เพิ่มขึ้น จนถึงตอนนี้มีโรงเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 25 โรงเรือน และปีที่ผ่านมาสามารถปลูกผักสลัดได้ประมาณ 3-5 ตัน และทุกวันนี้ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ของ อ.คลองข่อยด้วย

นอกจากผักสลัดที่ขายส่งให้กับร้านอาหาร ร้านขายของชำต่าง ๆ แล้ว ผักที่ปลูกได้จำนวนหนึ่งก็นำมาแปรรูปและผลิตเป็นผักสลัด โดยร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาเวนดิ้งแมชีน ภายใต้แบรนด์ Advance Vending นำไปขายผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในชื่อของ Farm Salad Vending เมื่อ มิ.ย. 65 ที่ผ่านมาซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นเจ้าแรกที่ได้นำผักสลัดเข้าไปขายผ่านเวนดิ้งแมชีน สินค้าที่จำหน่ายจะมีทั้ง สลัดบ็อกซ์ สลัดเชค น้ำสมุนไพร นมถั่วแระญี่ปุ่น แซนด์วิชผักออร์แกนิก เป็นต้น ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 25-79 บาท

“ในแง่ของโปรดักต์เรามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ออกเมนูใหม่ขายในตู้ เป็นสลัดบ็อกซ์ส้มตำไทย ส้มตำปลาร้า ที่เป็นการใช้ผักสลัดแทนมะละกอ และน้ำสลัดส้มตำไทย น้ำสลัดปลาร้าหมูยอ”

คีย์แมน ฟาร์มสลัด ยังระบุด้วยว่า แม้โปรดักต์ของฟาร์มสลัดฯ จะเป็นสินค้าที่ shelf life หรืออายุการเก็บรักษาสั้น แต่เนื่องจากตู้ของ Advance Vending เป็นตู้ที่สามารถปรับอุณหภูมิได้ และมีการเซตอุณหภูมิไว้ที่ 3-5 องศา เพื่อให้ผักมีความสดอยู่เสมอ นอกจากนี้ สินค้าของฟาร์มสลัด ได้รับเครื่องหมาย อย. ในรูปแบบของอาหารพร้อมทาน ปีที่ผ่านมา ฟาร์มสลัด ส่งสินค้าไปวางขายในตู้ประมาณ 50,000 ชิ้นต่อปี

นอกจากนี้ในทุก ๆ ไตรมาสก็จะมีการพัฒนาโปรดักต์ใหม่ ๆ เข้าไปเสริม เน้นเป็นสลัดหรือผักผลไม้ตามฤดูกาล เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้ผู้บริโภค แต่ละไตรมาสจะไม่ซ้ำกัน

ปัจจุบันมีตู้ Farm Salad Vending อยู่ประมาณ 30 ตู้ ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ อาทิ รพ.ธรรมศาสตร์ รังสิต, เปาโล พหลโยธิน, เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์ รวมถึงคอนโดฯ ที่ตอนนี้มีตู้ติดตั้งอยู่ในลุมพินี คอนโดฯ ปีนี้มีแผนขยายเพิ่มเป็น 100 ตู้

ดึงสินค้าโอท็อปต่อยอด

“พีระพล” เล่าต่อไปว่า หลังจากการขายผักสลัดผ่านตู้เวนดิ้งได้รับการตอบรับดี จึงได้ต่อยอดมาเป็น Farm Salad OTOP ตู้จำหน่ายสินค้าชุมชน หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ภายใต้แนวคิด “ภูมิปัญญาไทย ใจกลางเมือง” ที่เป็นการนำสินค้า OTOP จากชุมชนทั่วประเทศมาจำหน่ายผ่านตู้ โดยสินค้าโอท็อปหลัก ๆ ก็จะเป็นประเภทแบบของทานเล่น จำพวก แคปวัว หมูเส้นกรอบ แครกเกอร์ทุเรียน แห้วอบกรอบ ข้าวพองธัญพืช และอื่น ๆ ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 49-69 บาท

โดยเริ่มติดตั้งตู้จำหน่ายสินค้าโอท็อปไปเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา 4-5 ตู้ และต้องติดตามผลตอบรับและปัจจัยหลาย ๆ อย่างก่อน อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นตั้งเป้าว่า ภายในครึ่งปีจะขยายตู้ให้ได้ 30 ตู้

ข้อดีของการขายสินค้าโอท็อปผ่านตู้ก็คือ สินค้ามีอายุการเก็บรักษาที่นาน ทำให้ไม่ต้องคอยส่งสินค้าทุก ๆ อาทิตย์ อีกด้านหนึ่งก็เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้ชุมชนต่าง ๆ ด้วย

“ตอนนี้เราอยู่ระหว่างการทำน้ำเอเนอร์จี้ดริงก์ เพื่อวางขายในเวนดิ้งฯ คาดว่าจะเริ่มวางขายภายใน 2 เดือนนี้ และอีกโปรเจ็กต์หนึ่งก็คือ การเปิดร้านอาหารเพื่อสุขภาพที่ฟาร์มสลัดไทยแลนด์ เน้นเมนูอาหารไทยสไตล์ฟิวชั่น คาดว่าจะเปิดภายในเดือน พ.ค.นี้” “พีระพล” กล่าวทิ้งท้าย