เมนูจากไข่กำลังเป็นอาหารจานหรู ท่ามกลางวิกฤตไข้หวัดนกในญี่ปุ่น

Getty Images ไข่ต้มในเมนูอุด้งและราเมน กลายเป็นวัตถุดิบราคาแพง

คุณเคยคิดไหมว่า ไข่เจียวจะทำจากปลา แทนไข่ในญี่ปุ่น

เรื่องนี้กำลังเกิดขึ้นจริง และหลายคนในแดนปลาดิบต้องดัดแปลงวิธีประกอบอาหาร เนื่องจากกำลังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์

วิกฤตไข้หวันนก ทำให้ฟาร์มปศุสัตว์ต้องจำใจฆ่าไก่หลายล้านตัว ก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนไข่ไก่ จนราคาเมนูอาหารที่มีไข่เป็นส่วนประกอบ สูงขึ้นอย่างมาก พูดง่าย ๆ ไข่กำลังกลายเป็นเมนูหรูหราในญี่ปุ่น

และนี่คือปัญหาใหญ่ เพราะไข่ไก่เป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการประกอบอาหารของชาวญี่ปุ่นในหลากหลายเมนู ตั้งแต่ไข่ม้วนจน ข้าวห่อไข่สไตล์ญี่ปุ่น ไปถึงไข่ต้มยางมะตูมที่เสิร์ฟมาในชามราเมน

ยากจะคาดการณ์

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การระบาดของโรคไข้หวัดนกในฟาร์มปศุสัตว์และนกในธรรมชาติเกิดขึ้นมาแล้วกว่าร้อยปี แต่สำหรับการระบาดที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ อาจถือว่าเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งอาจเป็นผลจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส

ญี่ปุ่นถือว่าได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยข้อมูลจากผู้ขายไข่รายหนึ่งระบุว่า ฟาร์มปศุสัตว์ต้องฆ่าไก่มากเป็นประวัติการณ์ถึง 17 ล้านตัว หรือคิดเป็นแม่ไก่ 9% ของทั้งหมด

แม่ไก่ลดลง ปริมาณไข่ก็ลดลงไปด้วย กดดันให้ราคาไข่ไก่แบบค้าส่งสูงขึ้นกว่า 70% ในช่วงปีที่ผ่านมา

ไข่ถูกใช้เป็นวัตถุดิบในอาหารญี่ปุ่นหลายชนิด

Getty Images
ไข่ถูกใช้เป็นวัตถุดิบในอาหารญี่ปุ่นหลายชนิด

ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า ไข่ไก่ขนาดกลางที่จำหน่ายตามน้ำหนักมีราคาราว 350 เยน หรือราว 90 บาท ต่อ กิโลกรัม

แม้ภาวะช็อคด้านราคาต่อผู้บริโภคจะไม่สูงมากนัก แต่ผลกระทบที่เห็นได้ชัด เกิดจากสิ่งที่หายไปจากเมนูอาหารตามร้านต่าง ๆ

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ร้านแมคโดนัลด์ในญี่ปุ่นได้แจ้งลูกค้าว่า อาจต้องระงับการขายเมนูยอดนิยมในช่วงที่ขายดีอย่าง “เทอริทามะ เบอร์เกอร์” หรือ เบอร์เกอร์ที่เสิร์ฟพร้อม เนื้อหรือหมู โปะด้วยไข่ดาว ผักกาดแก้ว ราดด้วยซอสเทริยากิ และชีส

โจนาธาน คุชเนอร์ โฆษกของร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดสัญชาติอเมริกันนี้ บอกกับบีบีซีว่า ในตอนนี้แต่ละสาขาพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่ ด้วยการกระจายแหล่งซื้อไข่ให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาอาหารที่จำหน่ายในร้าน

เขาอธิบายว่า ปัญหา มาจากอุปทานในประเทศไม่แน่นอน และ “ยากที่จะคาดการณ์ได้ว่า สถานการณ์จะยังคงเป็นเช่นนี้ ในช่วงฤดูร้อนหรือฤดูใบไม้ร่วงหรือไม่”

Getty Images
ร้านค้าของแมคโดนัลด์แจ้งลูกค้าว่า อาจจะชะลอการขายเมนูสุดฮิตอย่าง “เทอริทามะ เบอร์เกอร์”

ร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น ก็จำต้องชะลอการขายสินค้าราว 15 รายการ นับตั้งแต่เดือน ก.พ. อีกทั้ง สาขาทั่วประเทศยังต้องปรับสูตรการทำแซนวิชและสลัดด้วยการลดปริมาณการใช้ไข่ไก่ลงอีกด้วย

ด้าน คิวพี บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายมายองเนส ที่มีไข่แดงเป็นส่วนประกอบหลัก ก็ได้ปรับราคาสินค้าขึ้นราว 21% เริ่มมีผลตั้งแต่ในเดือนนี้

อย่างไรก็ดี แม้บริษัทจะปรับราคาสินค้าขึ้น แต่คาดว่ากำไรสุทธิจะลดลงเกือบครึ่ง หรือ 47% ในปีงบประมาณนี้ เพราะต้นทุนสูงขึ้นจากไข่แพง

ไม่เพียงบริษัทยักษ์ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มธุรกิจรายย่อยก็ต้องเผชิญชะตากรรมไม่ต่างกัน เพราะต้องลดต้นทุนการผลิต เมื่อเดือน ก.พ. กลุ่มธุรกิจร้านอาหารอย่าง สกายลาร์ค โฮลดิงส์ ได้ชะลอการขยายเมนูอาหารหลายรายการ เช่น ข้าวผัดไข่และแพนเค้ก

ส่วนไข่ดาวน้ำสไตล์ญี่ปุ่น จากเดิมที่บริการลูกค้าแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายเมื่อสั่งเมนูสุกี้กระทะร้อน ตอนนี้ลูกค้าต้องจ่ายเพิ่มอีก 55 เยน หรือ 14 บาท ต่อถ้วย

ข้อมูลการสำรวจจากร้านอาหารกว่า 100 แห่ง โดยบริษัทวิจัย เตโกกุ ดาตาแบงก์ ที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ พบว่า ในบรรดาธุรกิจร้านอาหารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่นราว 28% ได้ชะลอหรืออาจกำลังพิจารณาชะลอการจำหน่ายบางเมนู

เตโกกุ ดาตาแบงก์ ยังประเมินว่า อุปทานไข่ในตลาดญี่ปุ่นยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากการกำจัดแม่ไก่ขนานใหญ่ออกจากฟาร์ม

คัตสุฮิโก คิตาฮาระ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางอาหารจากสถาบัน Norinchukin Research Institute ระบุว่า แรงกดดันด้านราคายังคงจะส่งผลกระทบต่อตลาดต่อไปอีกระยะ ขณะที่การฟื้นตัวของภาคการผลิตไข่ไก่คาดว่า ยังไม่เกิดขึ้น เพราะสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกยังไม่มีสัญญาณคลี่คลาย

“เจ้าของฟาร์มไก่บางรายต้องออกจากธุรกิจ เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงสัตว์สูงขึ้น” เขาบอกกับบีบีซี

ปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้ที่ประกอบอาหารรับประทานเองที่บ้าน จำต้องหาทางเลือกอื่น ๆ แทน เช่น บริษัทอาหารทะเลยักษ์ใหญ่อย่าง นิสซุย คอร์ปอเรชั่น ทำไข่ม้วนญี่ปุ่นจากปลาอลาสก้าพอลแล็ค ซึ่งเมนูนี้ได้รับการพัฒนาและจำหน่ายในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2022 เพื่อสนองต่อความต้องการกลุ่มลูกค้าที่แพ้ไข่

โฆษกของบริษัท นิสซุยฯ บอกบีบีซีว่า สินค้านี้ไม่เคยเป็นดาวเด่นในแง่ยอดขายเลย นับตั้งแต่เปิดจำหน่ายมา แต่ว่ายอดการขายจากซูเปอร์มาร์เก็ตกลับเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่าในปีนี้

ผู้ผลิตอาหารหลายรายระบุว่า ความต้องการอาหารที่ใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนการใช้ไข่พุ่งทยานในตลาด หลังจากไข่ไก่ขาดแคลน

Getty Images
ผู้ผลิตอาหารหลายรายระบุว่า ความต้องการอาหารที่ใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนการใช้ไข่พุ่งทยานในตลาด หลังจากไข่ไก่ขาดแคลน

“ในจุดนี้ เรายอดขายพุ่งอย่างมาก” โฆษกจากบริษัทนิสซุยฯ กล่าว แต่ไม่เปิดเผยถึงยอดขายที่แท้จริง

ด้านบริษัทอาหารในญี่ปุ่นชื่อ 2foods ได้ประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่า จะขายวัตถุดินทดแทนไข่ ที่ทำมาจากพืช เช่น แครอทและถั่วแคนเนลลิลี สำหรับใช้ทำเป็นส่วนประกอบในข้าวห่อไข่สไตล์ญี่ปุ่น ในชื่อว่า “Ever Egg” ภายใต้ความร่วมมือกับบริษัทในอุตสาหกรรมอาหารยักษ์ใหญ่ อย่าง คาโกเมะ

ผู้บริหารบริษัท 2foods บอกว่า ในเดือนที่ผ่านมา ร้านค้าปลีกและร้านอาหารต่างสั่งซื้อสินค้ารายการนี้เป็นจำนวนมาก

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว