กรมวิทย์ฯ พบไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) ระบาดมากสุดในไทย ยันวัคซีนป้องกันได้

กรมวิทย์
ภาพจาก สำนักงานสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

กรมวิทย์ฯ เผยผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ พบไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) มากที่สุดในไทย พร้อมยืนยันวัคซีนยังมีประสิทธิภาพป้องกัน แนะประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการฉีดวัคซีน

วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566-ปัจจุบันว่า ทั่วโลกพบไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pdm09 และไข้หวัดใหญ่ชนิด B (Victoria lineage) เป็นสาเหตุของการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

ขณะที่สถานการณ์การระบาดในประเทศไทย ปัจจุบันพบไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 41.14% รองลงมาคือไข้หวัดใหญ่ชนิด B (Victoria) 39.64% ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H1N1 (pdm09) มีสัดส่วน 19.22%

ซึ่งเมื่อวิเคราะห์สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย (1 ตุลาคม 2566-เมษายน 2567) ด้วยเทคนิค Whole genome sequencing วิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมทั้งจีโนม และประเมินความสอดคล้องกับสายพันธุ์วัคซีนที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศใช้ในการผลิตวัคซีนทางซีกโลกเหนือ และซีกโลกใต้ ประจำปี 2567 พบว่าสายพันธุ์ A(H3N2) และ B มีความใกล้เคียงกับสายพันธุ์วัคซีนทั้งจากซีกโลกเหนือ และซีกโลกใต้

สำหรับวัคซีนที่ใช้ทางซีกโลกเหนือจะผลิตและจำหน่ายในตลาดโลก ประมาณเดือนสิงหาคม และจะนำเข้ามาในประเทศไทยประมาณเดือนกันยายน ดังนั้น ผู้ที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งแนะนำฉีดก่อนเข้าฤดูฝน จึงต้องใช้วัคซีนทางซีกโลกใต้ซึ่งผลิตและจำหน่ายในตลาดโลกก่อน

Advertisment

ซึ่งยังมีผลต่อการป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบในประเทศไทยถึง 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ A(H3N2) และ influenza B ส่วน A(H1N1) อาจมีภูมิคุ้มกันป้องกันข้ามสายพันธุ์ได้บ้าง

ไข้หวัดใหญ่
ภาพจาก สำนักงานสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

นายแพทย์ยงยศกล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์ตำแหน่งการกลายพันธุ์บนยีน ของเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบในประเทศไทยช่วงเดือนตุลาคม 2566-เมษายน 2567 จำนวน 1,332 ตัวอย่าง โดยอ้างอิงข้อมูลตำแหน่งยีนดื้อยาจากองค์การอนามัยโลกวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ไม่พบยีนบ่งชี้การดื้อยาของเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H3 และ ชนิด B

ส่วนเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pdm09 พบยีนบ่งชี้การดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ที่ตำแหน่ง H275Y จำนวน 1 สายพันธุ์ คิดเป็นอัตราการดื้อยาร้อยละ 0.39 ทั้งนี้ ยังไม่พบยีนบ่งชี้การดื้อยากลุ่ม Neuraminidase Inhibitor ชนิดอื่น

อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังคงเฝ้าระวังและติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง การตรวจพบยีนดื้อยาที่รวดเร็ว จะเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ในการวางแผนการใช้ยาต้านไวรัสที่เหมาะสม ตลอดจนวางมาตรการการควบคุมและป้องกันโรคได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์

Advertisment

และขอให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี ควบคู่กับการป้องกันตนเองด้วยการล้างมือบ่อย ๆ ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดและหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดี เป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น หากสงสัยป่วย แนะนำให้สวมหน้ากากทุกครั้ง