เขย่า “ค้าปลีก” รอบใหม่ เซเว่นฯ-แม็คโคร…สยายปีกไม่หยุด

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสเรียกเสียงฮือฮาในวงการ “ค้าปลีก” เป็นความเคลื่อนไหวที่ร้อนแรงของกลุ่ม “ซีพี ออลล์” ที่ขยับทัพ 2 กลุ่มค้าปลีกค้าส่งหัวหอก ร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” และร้านค้าส่ง “แม็คโคร” ที่ต่างเดินหน้าลงทุนไม่หยุด

โดย “แม็คโคร” เปิดแนวรบบุกตลาดต่างประเทศเต็มรูปแบบ ตั้งเป้าบุกทั้งในอินเดีย-จีน และซีแอลเอ็มวี เพื่อรับกระแสการเติบโตแบบก้าวกระโดดของตลาด

“เกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า สยาม แม็คโคร อยู่ระหว่างศึกษาโอกาสทางธุรกิจในอินเดียและจีน รวมถึงการเปิดสาขาเมียนมาต่อเนื่อง หลังจากได้เปิดให้บริการไปแล้วในกัมพูชา โดยเป็นไปตามแผนรุกต่างประเทศเพื่อสร้างการเติบโตหลังจากประเทศไทยเริ่มถึงจุดอิ่มตัว

ทั้งนี้ เมื่อช่วงต้นปีแม็คโครได้ตั้งธุรกิจค้าส่ง LOTS Wholesale Solutions ในอินเดีย โดยเป็นการลงทุนเอง 100% และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบริษัทแม่ในประเทศไทย พร้อมแผนลงทุน 1 หมื่นล้านรูปี หรือประมาณ 145 ล้านเหรียญสหรัฐภายในเวลา 5 ปี รวมถึงเปิดศูนย์กระจายสินค้า 15 แห่งในภาคเหนือของอินเดียภายใน 3 ปี

คาดว่าจะเปิดสาขา 2 แห่งในปีนี้ที่กรุงเดลี และเขตปริมณฑล หรือ national capital region ที่อยู่โดยรอบ ขณะเดียวกันตลาดในย่านซีแอลเอ็มวี แม็คโครยังมีแผนเปิดสาขาที่ 2 ในกัมพูชาหลังประสบความสำเร็จจากสาขาแรกเช่นเดียวกับการสร้างแรงกระเพื่อมรอบใหม่ของร้านสะดวกซื้อ “7-11” ที่เตรียมเขย่าตลาดรอบใหม่ด้วยการพร้อมเปิดให้บริการเป็นตัวแทนธนาคารพาณิชย์ในเมืองไทย ซึ่งปัจจุบันร้าน “เซเว่นอีเลฟเว่น” มีกว่า 1 หมื่นสาขา

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า “ธานินทร์ บูรณมานิต” กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินการเชนร้านสะดวกซื้อ 7-11 ในประเทศไทย ประกาศเตรียมเพิ่มบริการทางการเงิน ด้วยการตั้งตัวเป็นตัวแทนธนาคารพาณิชย์ ในกว่า 1 หมื่นสาขาร้านสะดวกซื้อ 7-11 ทั่วประเทศ

“ธานินทร์” ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันบริษัทกำลังรออนุมัติไลเซนส์เพื่อเป็นตัวแทน (เอเย่นต์) ของธนาคาร โดยอยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อนำเสนอบริการใหม่ในตลาด

“เตรียมเป็นตัวแทนของ 1-2 ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอยู่ในช่วงของการดำเนินการธุรกรรมทางการเงิน”

ทั้งนี้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แก้ไขข้อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์สามารถแต่งตั้งนิติบุคคลหรือบรรษัทเป็นตัวแทนในการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น การฝาก ถอน โอนเงิน และโอนเช็คได้ โดยก่อนหน้านี้สามารถแต่งตั้งได้เพียงสถาบันการเงินหรือไปรษณีย์ไทยเท่านั้น

สำหรับธุรกรรมการเงินผ่านร้านสะดวกซื้อ 7-11 นั้น ผู้ใช้บริการจะสามารถถอนเงินได้วันละไม่เกิน 20,000 บาท อย่างไรก็ตาม จะยังไม่ให้บริการเงินกู้ซึ่งทาง “ซีพี ออลล์” คาดว่าการขยายบริการในครั้งนี้จะเป็นอานิสงส์สำหรับผู้คนในพื้นที่ห่างไกลหรือชนบท ด้วย 7-11 มีการขยายสาขาอยู่แล้วในไทยถึง 10,268 สาขา (ผลสำรวจถึงสิ้นปี 2017) โดย 56% ของสาขาอยู่นอกกรุงเทพฯ และทางซีพี ออลล์เล็งขยายสาขาเพิ่มปีละ 700 แห่ง เพื่อให้ถึงเป้า 13,000 สาขาภายในปี 2021

สอดคล้องกับ “ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การขยายตัวของเทคโนโลยีและดิจิทัลที่เกิดขึ้น ทำให้ธุรกิจค้าปลีกต้องปรับรูปแบบการทำงานตามไปด้วย เพื่อช่วยให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตอนนี้ร้านเซเว่นฯมีหลากหลายโมเดลมากขึ้น ซึ่งปลายปีนี้ก็จะมีโมเดลใหม่ ๆ ออกมาอีก เพื่อเพิ่มสีสัน ทำให้ร้านทันสมัย ไม่ดูล้าหลัง ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ล้ำสมัยจนเกินไป เพราะท้ายที่สุดก็คือ การขายของ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ คนต้องการซื้อของ ต้องการความสะดวก ซึ่งเราต้องตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัทไม่เคยหยุดนิ่งที่จะพัฒนาธุรกิจในทุกด้าน โดยมีการวางแผนกลยุทธ์ ทั้งแผนแบบระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสร้างรากฐานการดำเนินธุรกิจให้มีความมั่นคง พัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ การเสาะแสวงหาช่องทางทางการตลาดใหม่ ๆ หรือการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและการคาดหวังของผู้บริโภค

สำหรับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวม 128,046 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน จากการขายสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นจากร้านเซเว่นฯ รวมถึงจากธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชำระเงินสดและบริการตนเอง “สยามแม็คโคร”

การเดินหน้าบุกไม่หยุดของเจ้าตลาด ย่อมทำให้ทุกวินาทีของสมรภูมิค้าปลีก…ดุเดือดและร้อนแรง