คีย์ซักเซส “ทาซากิ” แอร์ไทยหัวใจนวัตกรรม

คอลัมน์ BIZ ว้าวววว

แม้สมรภูมิแอร์ในเมืองไทยจะดุเดือดเลือดพล่านและเต็มไปด้วยผู้เล่นจากทั่วโลก แต่ยังมีแอร์แบรนด์ไทยหลายค่ายที่ร่วมแข่งขันอยู่ในตลาดนี้ ด้วยคุณภาพและนวัตกรรมที่ไม่น้อยหน้าคู่แข่งต่างชาติ

หนึ่งในนั้นคือบิทไว้ส์ผู้ผลิตแอร์แบรนด์ ทาซากิ (Tasaki) รวมถึงรับผลิตออกแบบให้กับแบรนด์ระดับโลกหลายราย ด้วยจุดแข็งที่มีโรงงานผลิตชิ้นส่วน และห้องทดสอบประสิทธิภาพเป็นของตนเอง พร้อมเป้าที่จะเป็นแบรนด์เจ้าเทคโนโลยีสัญชาติไทย 

สมยศ กีรติชีวนันท์กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท บิทไว้ส์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าถึงความเป็นมาและทิศทางในอนาคตของบิทไว้ส์และทาซากิให้กับประชาชาติธุรกิจว่า การก่อตั้งบิทไว้ส์นั้นเริ่มหลังจากที่ตนเรียนจบด้านวิศวกรรมเครื่องกลและไปฝึกงานในโรงงานเครื่องเย็นที่สิงคโปร์ช่วงปี 2520 ก่อนจะกลับมาตั้งบริษัทและโรงงานที่อำเภอบางพลี สมุทรปราการ เมื่อปี 2531 เพื่อรับผลิตแอร์ทั้งแบบรับจ้างผลิต (OEM) และรับออกแบบ (ODM) ให้กับลูกค้า ทั้งที่เป็นแบรนด์ไทยและต่างชาติ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา รวมถึงยุโรป จนปัจจุบันมีกำลังผลิตแอร์ขนาด 1,000-4,000 ตัน ที่ 400,000 ชุดต่อปี

Advertisment

จากความสนใจด้านเทคโนโลยีในฐานะวิศวกร สร้างจุดแข็งด้วยการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ อาทิ ระบบฟอกอากาศด้วยพลาสมาร์ และแอร์อินเวอร์เตอร์ ช่วยให้มีออร์เดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแอร์ชนิดพิเศษ เช่น สำหรับห้องเซิฟเวอร์หรือห้องผ่าตัดที่สำคัญ โรงงานของบิทไว้ส์ เป็นโรงงานแรกในไทยที่มีห้องทดสอบซึ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มาตั้งแต่ปี 2548

แนวคิดหลักของเราคือ ต้องไม่ให้ต่างชาติมาดูถูกได้ว่าคนไทยดีแต่ก๊อบปี้ จึงต้องมีทั้งฝ่ายวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมและห้องทดสอบเพื่อยืนยันคุณภาพสินค้าแบบครบวงจรจะยั่งยืนต้องสร้างเอง

อย่างไรก็ตาม วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เนื่องจากขณะนั้นลูกค้าโออีเอ็มและโอดีเอ็มหลายรายลดหรือระงับออร์เดอร์ ส่งผลกับรายได้ของบริษัทอย่างรุนแรง นำไปสู่แนวคิดแตกโมเดลธุรกิจไปสู่การสร้างแบรนด์ของตนเอง ซึ่งก็คือทาซากิมาจากชื่อพี่น้อง 3 คน ที่เข้ามาร่วมทุนตั้งบิทไว้ส์ 

พร้อมตั้งบริษัท ไทย ทาซากิ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท เพื่อดูแลการผลิตและจัดจำหน่าย โดยยังเน้นจุดขายเรื่องนวัตกรรมและคุณภาพเช่นเดิม เสริมด้วยข้อได้เปรียบด้านราคาและบริการหลังการขายเนื่องจากมีโรงงานของตนเอง 

Advertisment

ขณะเดียวกัน ยังได้ขยายธุรกิจออกไปสู่การผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อควบคุมต้นทุนและคุณภาพ อาทิ โรงงานแผงวงจรในปี 2535 ต่อด้วยโรงงานมอเตอร์ เช่นเดียวกับโรงงานคอยล์ร้อนเย็น ในปี 2536 และยังมีศูนย์ฝึกอบรมช่างแอร์แบบครบวงจรอีกด้วย

เติมจุดแข็งสินค้า

เพื่อสร้างการรับรู้และความเชื่อมั่นให้กับทาซากิพร้อมกับเลี่ยงการแข่งขันกับผู้จ้างผลิตโออีเอ็มเดิม ช่วงแรกจึงเน้นงานโครงการกลุ่มสถานที่ราชการ มหาวิทยาลัย และโรงงานอุตสาหกรรม ด้วยไลน์อัพสินค้าตั้งแต่แอร์ครัวเรือนไปจนถึงพาณิชย์ระดับกลางขนาด 50-100 ตัน ชูเรื่องคืนทุนใน 3 ปี และค่าดูแลรักษาถูกลง 30-40% รวมถึงพาลูกค้าชมโรงงานเพื่อสร้างความเชื่อมั่น

เร่งขยายฐานไทยเทศ

จนปี 2560 นี้จึงเริ่มรุกตลาดผู้บริโภคทั่วไปอย่างจริงจังทั้งในและต่างประเทศ ชูเรื่องราคาที่ต่ำกว่าแบรนด์ญี่ปุ่น 20% แต่มีนวัตกรรมทัดเทียมกัน รวมถึงรับประกันคอมเพรสเซอร์ 12 ปี พร้อมขยายช่องทางทั้งเทรดิชั่นนอลและโมเดิร์นเทรดเน้นต่างจังหวัดที่เปิดรับแบรนด์ไทยมากกว่า โดยคาดว่าจะสามารถขยายช่องทางจาก 100 จุด เป็น 200 จุดในปีนี้ พร้อมกับตั้งสาขาและศูนย์ฝึกอบรมในหัวเมืองแต่ละภาคเพื่อรองรับการขยายตัว 

ส่วนต่างประเทศได้ตั้งบริษัทในกัมพูชา และเตรียมร่วมทุนกับพันธมิตรในเมียนมา เน้นตลาดแอร์พาณิชย์ รับดีมานด์โรงแรม 4 ดาวที่กำลังเติบโต

ทั้งนี้ เชื่อว่าจะสามารถสร้างโพซิชั่นเป็นแอร์แบรนด์ไทยที่เด่นด้านเทคโนโลยีได้ภายใน 3 ปี