ต้นแรกในอาเซียน! สาธารณสุขประเดิมปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ มั่นใจขึ้นระดับอุตสาหกรรมมกราคม ’64

นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ต้นกัญชาที่ปลูกในครั้งนี้เป็นปลูกกัญชาทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายต้นแรกในอาเซียน โดยจะนำไปใช้เป็นวัตถุดิบของสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ เพื่อผลิตเป็นน้ำมันหยดใต้ลิ้น (Sublingual Drop) สำหรับนำไปใช้ในการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่ร่วมโครงการวิจัย

ทั้งนี้ต้นกัญชาที่ปลูกเป็นสายพันธุ์ลูกผสมคุณภาพสูงกว่าของกลางที่มีสารปนเปื้อนสูงกว่ามาตรฐานจนไม่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบได้ โดยใช้การปลูกในอาคาร แบบระบบรากลอย (Aeroponics) ซึ่งเป็นระบบหนึ่งในระบบการปลูกกัญชาเกรดมาตรฐานทางการแพทย์ บนพื้นที่ 100 ตารางเมตร ขององค์การเภสัชกรรม อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

โดยใช้ระยะเวลาปลูกประมาณ 3-4 เดือน ประมาณเดือนกรฎาคม 2562 จะสามารถนำมาสกัดและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ น้ำมันหยดใต้ลิ้น ได้ประมาณ 2,500 ขวด ขวดละ 5 มิลลิลิตร หรือประมาณ 10,000 ขวดต่อปี

ด้านนายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวเสริมว่า การปลูกกัญชาในระดับเกรดสำหรับใช้ทางการแพทย์นั้นต้องมีการควบคุมการเพาะปลูกให้เป็นไปตามมาตรฐานทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ เทคโนโลยีการปลูก การเก็บเกี่ยวเป็นวัตถุดิบกัญชาแห้ง การรักษาความปลอดภัย เพื่อให้ได้ปริมาณสารสำคัญตามสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสมสำหรับมาใช้ทางการแพทย์ และที่สำคัญจะไม่มีการปนเปื้อน โลหะหนักและยาปราบศัตรูพืช

“หากปลูกกัญชาบนดินทั่วๆไปแล้วธรรมชาติของกัญชาจะมีคุณสมบัติพิเศษที่ดูดซึมสารพิษเหล่านั้นได้ดีกว่าพืชชนิดอื่น”

Advertisment

ในขั้นต่อไปองค์การเภสัชกรรมมีโครงการการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรมระยะที่ 2 ใช้งบประมาณ 164.04 ล้านบาท ที่อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี บนพื้นที่ 1000 ตารางเมตร มีทั้งปลูกในอาคาร indoor และโรงเรือนปลูกพืชเพื่อวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์ ที่ให้สารสำคัญสูง และทนต่อโรคต่างๆ รวมถึงสามารถปลูกในโรงเรือนปลูกพืช ที่ต้นทุนถูกลงได้

ก่อนจะเริ่มระยะที่ 3 ภายในเดือนมกราคม 2564 ที่เป็นการผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรม โดยเริ่มการปลูกและผลิตสารสกัดระดับอุตสาหกรรมแบบครบวงจรที่พื้นที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี