เบียร์ด ปาป้าส์ สยายปีกลงทุนสาขาทั่วเอเชีย

คอลัมน์ Market Move

แม้กระแสสุขภาพและการลดน้ำตาลในอาเซียนจะแรงไม่แพ้ส่วนอื่น ๆ ของโลก แต่ดูเหมือนเรื่องนี้ไม่ทำให้บรรดาผู้ประกอบการร้านขนม-ของหวานอย่าง บิงซู หรือเฟรนซ์โทส ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านหวั่นไหว เห็นได้จากการผุดสาขาและลอนช์สินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงคิวยาวเหยียดที่กลายเป็นภาพคุ้นตาหน้าร้านดัง สะท้อนถึงดีมานด์ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด “เบียร์ด ปาป้าส์” (Beard Papa”s) เชนร้านครีมพัฟจากญี่ปุ่น ได้ประกาศเป้าขยายสาขาต่างประเทศในโมเดลแฟรนไชส์เพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 15 สาขา ในหลายภูมิภาคไล่ตั้งแต่มาเก๊า ไทย ฟิลิปปินส์ อินเดีย ศรีลังกา ไปจนถึงตะวันออกกลาง ตามเป้าที่จะมีสาขานอกประเทศมากกว่า 150 สาขา ให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบัน 141 สาขา ใน 14 ประเทศ รวมถึง 5 สาขาในไทย

สำนักข่าวนิกเคอิรายงานว่า “มุกิโนะโฮะ” (Muginoho) ผู้บริหารเชนร้านอาหารญี่ปุ่นหลายแบรนด์ รวมถึง “เบียร์ดปาป้าส์” นอกประเทศญี่ปุ่น กำลังอยู่ระหว่างเจรจาขายแฟรนไชส์ร้านครีมพัฟนี้ในหลายประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ อินเดีย และตะวันออกกลาง รวมถึงเตรียมขยายสาขาในประเทศที่เข้าทำตลาดอยู่แล้ว เช่น ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย หลังจากหลายสาขาสามารถทำยอดขายดีกว่าที่คาด โดยเฉพาะสาขาในสนามบินทั้งสนามบินดอนเมืองของไทย และสาขาสนามบินโซอิคาร์โน-ฮัตตา ของอินโดนีเซีย ซึ่งมียอดขายเฉลี่ยถึง 90,400 เหรียญสหรัฐต่อเดือน แม้จะเป็นร้านขนาดเล็กเพียง 16 ตร.ม.เท่านั้น

“เค อิโนะอุเอะ” เอ็มดีของมุกิโนะโฮะ อธิบายว่า ความสำเร็จนี้เป็นผลจากกลยุทธ์เน้นชูคุณภาพสินค้า พร้อมกับลอนช์สินค้าใหม่ต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้บริโภคและรักษากระแสการรับรู้ จึงช่วยให้สามารถสร้างยอดขายได้อย่างสม่ำเสมอแม้จะพ้นช่วงเปิดร้านไปแล้วในส่วนหลังบ้านเองก็เน้นประสิทธิภาพเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องจักรแทนแรงงานมนุษย์เพื่อคุมค่าใช้จ่ายในโรงงาน พร้อมพัฒนากระบวนการเตรียมสินค้าหน้าร้านให้ง่ายที่สุด โดยปัจจุบันพนักงานใหม่สามารถฝึกจนชำนาญภายในเวลาแค่ 1 สัปดาห์ ช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการขยายสาขาต่างประเทศที่มีอุปสรรคทางภาษาถือเป็นความท้าทายสำคัญในการฝึกพนักงานและควบคุมคุณภาพสินค้า

โดยมีโรงงานในสิงคโปร์ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2557 เป็นตัวจักรสำคัญที่ช่วยเสริมศักยภาพการขยายสาขาในภูมิภาคเอเชีย ด้วยจุดแข็งด้านวัตถุดิบคุณภาพดี ราคาถูก และหาง่าย อาทิ แป้ง ซึ่งราคาถูกกว่าในญี่ปุ่น 20-25% เนื่องจากความเปิดกว้างของนโยบายการค้าและนำเข้า ส่วนปัญหาค่าแรงที่ได้ชื่อว่าสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นก็สามารถรับมือได้ด้วยระบบอัตโนมัติต่าง ๆ นอกจากลดต้นทุนแล้วยังมีประสิทธิภาพสูงกว่าแรงงานมนุษย์

“ปัจจุบันประสิทธิภาพของโรงงานในสิงคโปร์ แซงโรงงานเดิมที่โอซากา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งยังใช้แรงงานคนเป็นหลักไปเรียบร้อยแล้ว”

นอกจากฐานการผลิตแล้ว โรงงานแห่งนี้ยังเป็นศูนย์พัฒนากลยุทธ์การตลาด ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผู้บริโภคในภูมิภาค โดย 3 ปีที่ผ่านมาส่งเมนูใหม่ออกมา 6 เมนูแล้ว รวมถึงเป็นศูนย์ฝึกพนักงานจากประเทศต่าง ๆ เมื่อมีสินค้าใหม่ออกมา และเดือน ก.ย.นี้เตรียมเปิดสาขาที่บริษัทบริหารเองเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นพื้นที่ทดสอบกลยุทธ์การตลาดและสินค้าในสถานการณ์จริง

ทั้งนี้ที่ผ่านมา เบียร์ด ปาป้าส์ ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจในตลาดโลก โดยทั้งรุกและถอนตัวออกจากหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นปากีสถาน เอลซัลวาดอร์ และซาอุดีอาระเบีย รวมถึงลดสาขาในจีนจาก 100 สาขาเหลือ 40 สาขา แต่ “นากะทาเนียน โฮลดิ้ง” บริษัทแม่ในญี่ปุ่นยังมั่นใจว่า “มุกิโนะโฮะ” จะทำให้เบียร์ด ปาป้าส์ ประสบความสำเร็จในต่างประเทศได้แน่นอน