ความท้าทายใหม่ “บีเจ ยีนส์” อีคอมเมิร์ซ-OEM

เมื่อการทำธุรกิจเสื้อผ้ายีนส์ในวันนี้ ไม่ได้แข่งขันกันแค่ในกลุ่มแบรนด์ยีนส์ด้วยกันอีกต่อไป แต่ยังแข่งกับฟาสต์แฟชั่น ที่เข้ามาทำตลาดในบ้านเรามากขึ้น มีสเกลการผลิตขนาดยักษ์ เพื่อป้อนตลาดทั่วโลก ทำให้แบรนด์เหล่านี้อีโคโนมีออฟสเกล คุมต้นทุนการผลิตได้ค่อนข้างดี ตลอดจนแบรนด์เล็กแบรนด์น้อย ที่เกิดขึ้นอย่างนับไม่ถ้วน จากคนรุ่นใหม่ที่มีไฟ มีไอเดียอยากเป็นเจ้าของธุรกิจเอง

เค้กก้อนเดิม แต่มีคนเข้ามาแชร์มากขึ้น จะต้องทำอย่างไรถึงจะรักษาเค้กของตัวเองเอาไว้ได้ กลายเป็นโจทย์สำคัญของการบริหารธุรกิจในวันนี้

ท่ามกลางความท้าทายอีกหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ กำลังซื้อในปัจจุบัน และการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี ที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป

ประชาชาติธุรกิจ มีโอกาสสัมภาษณ์ “ธิติธรรม กมลวิศิษฎ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีเจ ยีนส์ (ไทยแลนด์)  จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย บีเจ ยีนส์ ถึงมุมมองการทำธุรกิจ ตลอดจนไอเดียใหม่ ๆ ที่จะมาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และความต้องการของตลาดต่อจากนี้ เพื่อผลักดันให้บริษัทสามารถก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

“ธิติธรรม”  ฉายภาพว่า บีเจ ยีนส์ เป็นแบรนด์ยีนส์สัญชาติไทย ที่มีราคาเข้าถึงง่าย แต่เข้มไปด้วยคุณภาพ ด้วยวัตถุดิบที่นำเข้ามาจากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย ปากีสถาน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ฯลฯ จึงมีฐานลูกค้าที่ค่อนข้างกว้างทั้งชาย หญิง และเด็ก จากจำนวนสาขาที่กระจายอยู่กว่า 100 แห่งทั่วประเทศ

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงที่ผ่านมา การแข่งขันของตลาดยีนส์ดุเดือดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคมีชอยซ์ที่หลากหลาย การปรับตัวของบีเจ ยีนส์ จึงต้องพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการ และเทรนด์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของบริษัท จากความคล่องตัวของไลน์ผลิต และสเกลของโรงงานที่ไม่ได้ใหญ่มาก จึงสามารถทำได้อย่างยืดหยุ่น รวดเร็วกว่าแบรนด์ใหญ่

ล่าสุด ได้แตกไลน์สินค้าในกลุ่มสปอร์ตแวร์ ที่สามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวัน รวมถึงใส่ไปออกกำลังกายในชุดเดียวกัน อาทิ กางเกงขายาว, กางขาสั้น, เสื้อครอปมีฮู้ด, เสื้อกล้าม เป็นต้น เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนรักการออกกำลังกายทุกเพศทุกวัย ไปจนถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการแต่งตัวสปอร์ตแฟชั่นตลอดจนการนำเสนอความแตกต่าง ผ่านนวัตกรรมของเนื้อผ้า ไม่ว่าจะเป็นยีนส์ UV protection ที่ทำมาจากจากเส้นใยที่ป้องกันรังสียูวี หรือยีนส์คูลแอนด์ดราย ที่มีเทคโนโลยีของเนื้อผ้าแห้งเร็วกว่าปกติ 4 เท่า ระบายความชื้นได้ดี มาตอบโจทย์การสวมใส่ในฤดูฝน หรือภูมิอากาศของประเทศที่ร้อนชื้น เป็นต้น

ทั้งนี้ สินค้าใหม่ ๆ ของบีเจ ยีนส์ จะมีเข้ามาทุกเดือนในช่องทางร้านค้า รวมถึงช่องทางออนไลน์ ที่บริษัทเริ่มทำตลาดอย่างจริงจังเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

“เทรนด์ของการช็อปออนไลน์เติบโตขึ้นทุกขณะ และพื้นที่ในออนไลน์ก็สามารถทำอะไรได้อย่างคล่องตัว ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม โปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย หรืออยากจะใส่สินค้าเข้าไป 100 รุ่นก็ทำได้ ขณะที่หน้าร้านมีพื้นที่วางสินค้าจำกัด และเทรนด์คนเดินห้างสรรพสินค้าก็ลดลงเรื่อย ๆ รวมถึงห้างท้องถิ่นที่ทยอยปิดตัวไป”

“ธิติธรรม” ระบุว่า แม้รายได้จากออนไลน์จะยังเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับหน้าร้าน แต่ในอนาคตช่องทางนี้จะมีบทบาทมากขึ้น จากเทรนด์ของตลาดที่เปลี่ยนไป โดยภารกิจของเขาในช่วง 1-3 ปีนี้ คือ การฟอร์มทีมออนไลน์ให้พร้อมรับมือกับการแข่งขันและโอกาสจากช่องทางดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ก็ไม่หยุดมองหาโอกาสใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโออีเอ็ม หรือรับจ้างผลิต เพื่อใช้ประโยชน์จากโรงงานที่มีอยู่เดิม ที่สามารถผลิตสินค้าจำพวกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายได้หลากหลาย ทุกเนื้อผ้า ไม่เฉพาะแค่ยีนส์เท่านั้น โดยจะรองรับทั้งการผลิต เสื้อ กางเกง ชุดยูนิฟอร์ม การทำของพรีเมี่ยม

“เราเริ่มทำเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เริ่มจากกลุ่มเพื่อน คนรู้จักก่อน แต่หลังจากนี้จะเริ่มโปรโมตให้คนภายนอกรับรู้มากขึ้น แม้ว่าธุรกิจรับจ้างผลิตเสื้อผ้าในไทยจะมีหลายเจ้าที่ทำตลาดอยู่แล้ว แต่เรามองว่าศักยภาพที่เราผลิตสินค้าขึ้นห้าง จะการันตีคุณภาพ และความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าได้”

การทำธุรกิจในยุคนี้ไม่ง่าย และการทำโปรโมชั่นอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ การสู้ด้วยความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรม หรือดีไซน์ พร้อม ๆ กับการขยายกิ่งก้านสาขาออกไปรับโอกาสใหม่ ๆ ทั้งออนไลน์ ทั้งโออีเอ็ม จึงเป็นคำตอบของบีเจ ยีนส์ ในตอนนี้