สกินแคร์-ขนมขบเคี้ยวดันโฆษณาดิจิทัลพุ่ง

แรงไม่หยุด…สมาคมโฆษณาดิจิทัลฯ คาดตัวเลขการใช้งบฯสื่อดิจิทัลปีนี้พุ่ง 2 หมื่นล้านบาท “สกินแคร์-ขนมขบเคี้ยว” แรงส่งสำคัญ ขณะที่ “อสังหาริมทรัพย์-การสื่อสาร” แผ่วลง จากปัญหาเศรษฐกิจและไม่มีบริการใหม่ออกมากระตุ้นกำลังซื้อ

นายศิวัตร เชาวรีย์วงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT กล่าวว่า แนวโน้มการใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลทั่วโลกเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดคิดเป็นสัดส่วน 50% ของตลาดโฆษณารวม ขณะที่ประเทศไทยตลาดนี้ก็มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี คาดว่าภาพรวมการใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลปีนี้จะโต 19% เมื่อเทียบกับปีก่อนหรือมีมูลค่าประมาณ 20,163 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน สิ่งที่สำคัญของนักการตลาดในปีนี้ คือ data driven marketing as a core เพราะไทยได้ปรับตัวเข้าสู่ยุคการทำตลาดโดยมีดาต้า (data) เป็นฐานสำคัญ จนทำให้เกิด 3 แนวโน้มหลัก ได้แก่ อีคอมเมิร์ซ ถือเป็นช่องทางในการซื้อขายสินค้าของทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ตามด้วยการเพิ่มประสบการณ์ให้แก่ผู้บริโภคผ่านการใช้ดาต้าเข้ามาร่วมวางแผนทางการตลาด และการทำ tailor-made content ควบคู่กับการวางเซ็กเมนต์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด

นายราชศักดิ์ อัศวศุภชัย กรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวเสริมว่า สำหรับปีนี้คาดว่ากลุ่มสินค้าที่ใช้งบฯโฆษณาสูงสุด 5 อันดับแรกยังเป็นกลุ่มเดิม ได้แก่ รถยนต์ 2,596 ล้านบาท สกินแคร์ 1,900 ล้านบาท การสื่อสาร 1,584 ล้านบาท เครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ 1,436 ล้านบาท และธนาคาร 1,197 ล้านบาท

ขณะเดียวกันกลุ่มสินค้าที่มีการใช้เม็ดเงินเพิ่มขึ้นในปีนี้อย่างโดดเด่น คือ กลุ่มสกินแคร์ ที่มีแนวโน้มการเติบโต 31% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยขยับจากกลุ่มที่ใช้งบฯอันดับ 3 ขึ้นมาอยู่อันดับ 2 เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้โยกงบฯ

มาใช้กับแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้น เพราะอุตสาหกรรมสื่อเปลี่ยนไปจากเดิม สินค้ากลุ่มนี้ใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลัก แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาสื่อสิ่งพิมพ์ลดลงเรื่อย ๆ และขยับตัวมาเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้งบฯจากสินค้ากลุ่มนี้ก็ย้ายตามไปด้วย

เช่นเดียวกับกลุ่มขนมขบเคี้ยวก็เป็นอีกกลุ่มสินค้าที่แนวโน้มการใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์สูงขึ้น หรือโตถึง 109% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ วัยรุ่นที่รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อออนไลน์เป็นหลัก ดังนั้นสินค้ากลุ่มนี้ก็ให้น้ำหนักกับการทำตลาดผ่านสื่อดิจิทัลสูงขึ้น

ส่วนกลุ่มที่มีแนวโน้มการเติบโตลดลง คือ อสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวลงและเกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย ทำให้การใช้งบฯก็ตกลงไปด้วย รวมถึงกลุ่มสื่อสารที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนจากเทคโนโลยี 2G เป็น 3G และยังไม่ได้ลอนช์เทคโนโลยี 5G รวมถึงไม่มีการลอนช์สินค้าหรือบริการใหม่ ๆ ก็ทำให้ภาพรวมการใช้งบฯของกลุ่มนี้ลดลงตามไปด้วย

ด้านนางสาวพัชรี เพิ่มวงษ์อัศวะ กรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในส่วนของรูปแบบการสื่อสารของสื่อดิจิทัลผ่านช่องทางต่าง ๆ นั้น พบว่า กลุ่มโซเชียล

เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ เป็นต้น ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มเสิร์ชเอ็นจิ้นหรือการค้นหาข้อมูลมีการเติบโตลดลง ขณะที่กลุ่มครีเอทีฟและดิสเพลย์กลับมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เพราะเข้ามามีบทบาทในการทำการตลาดของสินค้ามากขึ้น ซึ่งสอดรับกับพฤติกรรมการรับสื่อของผู้บริโภคในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม รูปแบบการเลือกใช้ช่องทางการสื่อสารก็ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับวัถตุประสงค์ที่ต้องการจะสื่อสารและสอดรับกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ด้วย