“ดร.สมชาย” แตกไลน์ธุรกิจ เล็งหาพันธมิตรตั้งบ.ผลิตยา

“ดร.สมชาย” ชูนวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ เล็ง spin off บริษัทใหม่บุกตลาดยาชีวภาพ-ลุยจดสิทธิบัตรยารักษามะเร็ง พร้อมเพิ่มน้ำหนักรุกสินค้า “เอจจิ้ง” ขยายฐานลูกค้าวัยทำงาน หวังต่อยอดยารักษาสิวหลังตลาดความงาม 1.7 แสนล้านแข่งเดือด ส่อแววชะลอตัวยาวถึงปีหน้า ก่อนเดินหน้าปั้นแบรนด์โกอินเตอร์ กวาดรายได้ ตปท.เสริมทัพ คาดดันยอดขายเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% สิ้นปี

แพทย์หญิงอรอินท์ เรืองวัฒนสุข กรรมการบริหาร บริษัท เอส.เอส.แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ผู้ผลิตเวชสำอางแบรนด์ ดร.สมชาย กล่าวว่า ตลาดความงาม มูลค่า 1.7 แสนล้านบาท มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะลากยาวไปถึงต้นปีหน้า จากสภาวะการแข่งขัน เศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ฯลฯ บริษัทจึงปรับโครงสร้างการทำงานใหม่เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างพื้นฐานรองรับการเติบโตของธุรกิจในระยะ 100 ปี

จากจุดแข็งของบริษัทในด้านการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาสินค้า ทำให้มีทีม R&D (Research & Development) ซึ่งประกอบไปด้วยแพทย์และนักวิจัยที่จบปริญญาเอกอยู่ทั้งสิ้น 10 คน และในจำนวนนี้มีผู้ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพ (biotech) จำนวนหลายคน จึงเล็งเห็นโอกาสที่จะต่อยอดไปยังธุรกิจใหม่

โดยบริษัทอยู่ระหว่างการหาพาร์ตเนอร์เพื่อที่จะแตกธุรกิจ (spin off) ผลิตยาออกมาเป็นบริษัทใหม่ โดยจะโฟกัสไปที่การผลิตยาจากเทคโนโลยีชีวภาพเป็นหลัก หลังจากเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้เข้าไปลงทุนตั้งบริษัทวิจัยด้านไบโอเทคที่สิงคโปร์ เพื่อพัฒนาตัวยาชนิดใหม่ “รีคอมบิแนนต์โปรตีน” โดยใช้เทคนิค CRISPR เพื่อพัฒนากระบวนการใหม่ในการสร้างโปรตีนรักษาโรค อาทิ มะเร็ง รูมาตอยด์ ฯลฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับกลุ่มทุนที่สนใจอย่างบราซิล ดูไบ สหรัฐอเมริกา

“ตลาดของยาแบบรีคอมบิแนนต์โปรตีนทั่วโลก มีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน และในอีก 6 ปีคาดการณ์ว่า มูลค่าของตลาดจะเติบโตกว่าเท่าตัว หรือคิดเป็น 7.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2569 อย่างไรก็ตาม ด้วยกฎระเบียบที่เคร่งครัด ทำให้การจดทะเบียนยาลักษณะนี้ ในประเทศไทยยังไม่สามารถทำได้ บริษัทจึงมองหาการร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์เพื่อพัฒนายาในต่างประเทศแทน นอกจากนี้ บริษัทยังเดินหน้าจดสิทธิบัตรยาเพิ่มเติมอีก 5 ตัว ภายใน 5 ปี หลังจากที่จดสิทธิบัตรยาสำหรับฆ่าเซลล์มะเร็งในสหรัฐอเมริกาไปแล้ว 2 ตัว”

แพทย์หญิงอรอินท์ระบุต่อไปว่า สำหรับธุรกิจหลักอย่างเวชสำอาง บริษัทมีแผนที่จะต่อยอดความเชี่ยวชาญจากกลุ่มรักษาสิว ที่ปัจจุบันมีมาร์เก็ตแชร์เป็น top 3 ของตลาดอยู่ที่ราว 30% ไปสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อาทิ ไวเทนนิ่ง, ครีมกันแดด ฯลฯ โดยเฉพาะกลุ่มแอนติเอจจิ้ง หรือรักษาริ้วรอย เพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนทำงาน รวมถึงผู้ใหญ่มากขึ้น โดยในปีนี้มีแผนที่จะเปิดตัวสินค้าใหม่มากกว่า 10 รายการ และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแอนตี้เอจจิ้ง ซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 500-700 บาทต่อชิ้น

รับกับโอกาสที่ตลาดดังกล่าวมีขนาดใหญ่และมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงอย่างต่อเนื่อง จากการเข้าสู่สังคมสูงอายุในประเทศไทย และเทรนด์ของสาวยุคใหม่ที่ใส่ใจเรื่องริ้วรอย จากเดิมจะเป็นกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันคนที่อายุ 20-30 ปีก็เริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว

สำหรับธุรกิจต่างประเทศ หลังจากที่ปัจจุบันได้เข้าไปจำหน่ายในอาเซียนเกือบทุกประเทศแล้ว ยกเว้นมาเลเซียและอินโดนีเซียจะเพิ่มน้ำหนักในการทำตลาดมากขึ้น เพื่อผลักดันยอดขายต่างประเทศให้โตเป็น 20% ในปีหน้า โดยมีแผนจะส่งสินค้าแคทิกอรี่ใหม่ ๆ อย่างครีมกันแดดเข้าไปทำตลาดเพิ่มเติม

ทั้งนี้ คาดว่าการปรับตัวดังกล่าวโดยเฉพาะการต่อยอดไปสู่สินค้าใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ จะทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้ 15% จากปีที่ผ่านมาตามแผนที่วางเอาไว้ได้