“บอลลีวูด” โตสวนเศรษฐกิจ คนอินเดียหนีเครียด แห่เข้าโรงหนัง

แม้ที่ผ่านมาอินเดียจะถูกคาดหวังว่าจะเป็นตลาดที่เติบโตเร็วอันดับต้น ๆ ของโลกต่อจากจีน แต่ขณะนี้แดนภารตกำลังเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจตกต่ำไม่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ จนชาวอินเดียต้องรัดเข็มขัดกันอย่างเต็มที่

รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติอินเดีย เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดีย (จีดีพี) ขยายตัวเพียง 4.5% ในไตรมาส 3 ทำสถิติช้าที่สุดในรอบ 6 ปี

โดยลดลงจากระดับ 5% ในไตรมาส 2 และต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.7% ในขณะที่ ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ “เอดีบี” ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียในปี 2562 นี้ ลงจาก 6.5% เหลือ 5.1% ส่วนในปีหน้า 2563 ปรับลดจาก 7.2% เหลือ 6.5% เนื่องจากปัญหาสภาพคล่องของสถาบันการเงิน รวมถึงปัญหาการว่างงานและภัยธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่ชาวอินเดียชะลอการซื้อทุกอย่าง ตั้งแต่กางเกงชั้นในไปจนถึงรถยนต์ แต่อีกด้านหนึ่งกลับพบว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดีย ที่ปัจจุบันครองตำแหน่งเบอร์ 1 ของโลกด้านจำนวนภาพยนตร์เฉลี่ยกว่า 1,800 เรื่องต่อปี นำโดย ค่าย “บอลลีวูด” (Bollywood) กลับเฟื้องฟูเป็นพิเศษสวนทางกับเศรษฐกิจแบบสุดขั้ว

ขณะที่สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานถึงปรากฏการณ์นี้ว่า ช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ยอดขายตั๋วภาพยนตร์ของ “พีวีอาร์” เชนโรงภาพยนตร์รายใหญ่ที่สุดของอินเดีย เติบโตถึง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และไตรมาส 4 นี้ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลงง่าย ๆ ด้วยแรงหนุนจากไลน์อัพภาพยนตร์ดัง อาทิ “เฟียเลส 3” (Fearless 3) ที่นำแสดงโดยหนึ่งในดาราดังแห่งแดนภารต “ซัลมาน ข่าน”

“คามาน เกียรติจันทร์ดานี” ซีอีโอของพีวีอาร์ กล่าวว่า ในอินเดียนั้น ภาพยนตร์ถือเป็นความบันเทิงราคาถูกที่ผู้คนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงได้ โดยแม้แต่ในเมืองใหญ่ค่าครองชีพสูง อย่างมุมไบ ราคาตั๋วภาพยนตร์ 1 ใบ มีราคาเพียง 75 รูปี (ประมาณ 30 บาท) เท่านั้น

ทำให้ธุรกิจนี้ยังครองความนิยมและสร้างการเติบโตได้ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจ และการรุกคืบของบริการสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น “เน็ตฟลิกซ์” หรือ “อเมซอนไพรม” เห็นได้ชัดจากรายได้ของพีวีอาร์เองที่รายได้ปี 2561 เพิ่มขึ้นเกือบ 1 ใน 3 เป็น 435 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2562 นี้คาดว่าจะเติบโตสูงขึ้นอีก

“ผู้บริโภคสามารถมาดูภาพยนตร์ในโรงที่มีเครื่องปรับอากาศ พร้อมลืมปัญหาต่าง ๆ ไปได้นาน 2-3 ชั่วโมง ด้วยเงิน 75 รูปี ซึ่งยังถูกกว่าค่าอาหาร 1 มื้อ ในร้านระดับทั่ว ๆ ไปเสียอีก”

สอดคล้องกับความเห็นของหนึ่งในผู้บริโภคชาวอินเดีย อย่าง “อังคิตา มาเนกส์” วัย 29 ปี ที่กล่าวว่า ในช่วงตกงานเมื่อ 1 ปีก่อนภาพยนตร์เป็นความบันเทิงเพียงอย่างเดียวที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดในการหางานและดูแลครอบครัว โดยช่วยให้ลืมปัญหาต่าง ๆ ได้แม้จะเป็นเวลาสั้น ๆ

นอกจากจะเติบโตได้ดีในช่วงเศรษฐกิจตกสะเก็ดแล้วอย่างในปัจจุบันและช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551 ซึ่งรายได้เฉลี่ยของภาพยนตร์แต่ละเรื่องเพิ่มขึ้นเกือบ 19% ระหว่างปี 2549-2552 แล้ว วงการภาพยนตร์อินเดียยังมีรายได้ลดลงในช่วงที่เศรษฐกิจดีอีกด้วย โดยช่วงปี 2557 ซึ่งเศรษฐกิจอินเดียเริ่มฟื้นตัวจากการชนะเลือกตั้งของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี รายได้ของวงการปรับตัวลดลงจาก 525 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีก่อนเหลือ 511 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ได้พยายามอธิบายเรื่องนี้ โดยเทียบเคียงกับ “ดัชนีลิปสติก” ของ “เวียวนาด ลอเดอร์” ประธานของเอสเต้ ลอเดอร์ ยักษ์ความงามสัญชาติสหรัฐ ที่อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า “ลิปสติกจะขายดีช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะแม้กำลังซื้อจะไม่ดี แต่ผู้บริโภคยังต้องการช็อปปิ้งอยู่ จึงหันมาจับจ่ายกับสินค้าชิ้นเล็กราคาจับต้องง่าย แทนการซื้อสินค้าราคาแพง

เป็นที่รู้กันดีในวงการว่า สำหรับในอินเดียนั้นราคาตั๋วภาพยนตร์นั้นมีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลยุทธ์การเน้นจำนวนหรือปริมาณของผู้บริหารโรงภาพยนตร์ ซึ่งก็ไม่น่าจะต่างจากดัชนีลิปสติก ที่ประธานเอสเต้ ลอเดอร์ ฟันธงเอาไว้

ด้วยลักษณะพิเศษนี้ และแนวโน้มสภาพเศรษฐกิจโลกที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ดูเหมือนว่วงการภาพยนตร์อินเดียน่าจะเติบโตต่อเนื่องไปได้อีกนานทีเดียว