“เทเลเมดิซีน” เอเชียโตกระฉูด จีน-ญี่ปุ่น “ดีมานด์” ทะลัก

เทเลเมดิซีน
คอลัมน์ MARKET MOVE

หลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้บริการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน ได้รับความนิยมมากขึ้นในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรก ล่าสุดกระแสความนิยมนี้ได้แพร่ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมายังฝั่งเอเชีย ซึ่งความกังวลเรื่องความแออัดในโรงพยาบาล และความไม่สมดุลของจำนวนแพทย์ต่อคนไข้กระตุ้นให้ทั้งภาครัฐ-เอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไปในประเทศขนาดใหญ่และมีประชากรจำนวนมาก อย่างจีนและญี่ปุ่นหันมาสนใจใช้งานเทเลเมดิซีนด้วยเช่นกัน

สำนักข่าว “นิกเคอิ” รายงานว่า ขณะนี้จำนวนผู้ใช้บริการเทเลเมดิซีนในจีนและญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ โดยนอกจากโรงพยาบาลและคลินิกแล้ว แม้แต่ร้านขายยายังนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ ขณะเดียวกัน ด้านแบรนด์สินค้า เช่น “ออมรอน” (Omron) ซึ่งมีสินค้าสุขภาพหลายตัว อย่างเครื่องวัดความดันเลือด เครื่องวัดอุณหภูมิ ฯลฯ เร่งพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ออกมารับกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย

โดยช่วงวันตรุษจีนที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้บริการเทเลเมดิซีนในจีนเพิ่มขึ้นถึง 30% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สะท้อนจาก “ผิงอัน กู๊ดด็อกเตอร์” (Ping An Good Doctor) หนึ่งในแอปเทเลเมดิซีนยอดนิยม มีผู้สมัครใช้บริการรวมกว่า 300 ล้านบัญชี และมียอดการให้บริการพบแพทย์ผ่านออนไลน์ประมาณ 7.3 แสนครั้งต่อวัน

ทั้งนี้เป็นผลจากความสะดวก และค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการไปพบแพทย์ที่คลินิกหรือโรงพยาบาล โดยบริการเทเลเมดิซีนอาจมีค่าใช้จ่ายเพียง 1 หยวน หรือ 4.5 บาท และใช้เวลารอประมาณ 20 นาที เทียบกับการไปโรงพยาบาลที่อาจต้องใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ปีที่แล้วรัฐบาลจีนยังประกาศให้ประกันสังคมครอบคลุมค่าใช้จ่ายของบริการเทเลเมดิซีน หวังลดปัญหาขาดแคลนแพทย์ เนื่องจากจีนมีจำนวนแพทย์ต่อประชากรต่ำมาก โดยมีแพทย์เพียง 19 คน ต่อประชากร 1 หมื่นคน ในขณะที่ญี่ปุ่นมี 24 คน และสหรัฐมี 26 คน

ด้านญี่ปุ่นนั้น แม้จะยังมีข้อจำกัดหลายด้าน แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ผลักดันให้รัฐบาลผ่อนปรนข้อจำกัดบางอย่าง เช่น เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมารัฐบาลอนุญาตให้แพทย์สามารถให้บริการผู้ป่วยรายใหม่ผ่านทางเทเลเมดิซีนได้เป็นการชั่วคราว จากเดิมที่การตรวจครั้งแรกจะต้องพบหน้ากันจริง ๆ เท่านั้น ช่วยให้การเปิดรับเริ่มขยายวงกว้างขึ้น โดย “มิชิน” (Micin) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเทเลเมดิซีนเดินหน้าติดตั้งอุปกรณ์ในสถานพยาบาลกว่า 3.2 พันแห่งทั่วประเทศ รับกับการปลดล็อกนี้

ในขณะที่ธุรกิจสุขภาพอื่นเริ่มนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ เช่น ร้านขายยาบางแห่ง เริ่มให้เภสัชกรบริการลูกค้าผ่านวิดีโอคอลในช่วงมาตรการล็อกดาวน์

ขณะเดียวกัน “ออมรอนเตรียมต่อยอดโนว์ฮาวด้านเครื่องวัดความดันเลือดสำหรับครัวเรือน ซึ่งบริษัทครองส่วนแบ่งถึง 50% ของตลาดโลก ด้วยการพัฒนาเครื่องวัดความดันเลือดสำหรับครัวเรือนที่มีฟังก์ชั่นวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ ECG ซึ่งสามารถนำไปเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัยโรคหัวใจและหลอดเลือดหลายชนิดได้ หวังรองรับการเติบโตของเทเลเมดิซีน และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของโรคหัวใจหลอดเลือด”

นอกจากนี้ ยักษ์อิเล็กทรอนิกส์ยังมองถึงอุปกรณ์ที่สามารถส่งข้อมูลผลตรวจผ่านเครือข่าย 5G และโมเดลสร้างรายได้ผ่านการเก็บค่าใช้บริการรายเดือน เพื่อรองรับการการขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดโลกอีกด้วย

“โยชิฮิโตะ ยามาดะ” ประธานของออมรอน กล่าวว่า เทเลเมดิซีนตอนนี้ยังมีข้อจำกัดในการตรวจร่างกายผู้ป่วย เนื่องจากครัวเรือนทั่วไปย่อมไม่มีเครื่องมือที่ละเอียดซับซ้อนเหมือนในโรงพยาบาล จึงเป็นช่องว่างให้บริษัทสามารถเข้าไปปักธง ด้วยการเสนอเครื่องวัดที่มีฟังก์ชั่นระดับสูงอย่างการวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ด้าน “อิซาโอะ โอกิโนะ” ประธานของออมรอน เฮลท์แคร์ ประเมินว่าเซ็กเมนต์นี้จะกลายเป็นตลาดมูลค่าถึง 188 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2568

ไม่เพียงออมรอนเท่านั้นที่มีแนวคิดนี้ เมื่อปีที่แล้วคู่แข่งอย่าง “อไลฟ์คอร์” (AliveCor) บริษัทสัญชาติสหรัฐ เปิดตัวเครื่องวัดความดันเลือดสำหรับครัวเรือน พร้อมฟังก์ชั่นการวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และยังสามารถตรวจจับอาการหัวใจเต้นผิดปกติได้ด้วย โดยสามารถทำยอดขายได้ถึง 8,000 เครื่อง และเตรียมรุกตลาดญี่ปุ่นภายในปีนี้

จากความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนถึงโอกาสเติบโตของบริการเทเลเมดิซีน รวมถึงโอกาสของบรรดาผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่จะเข้าชิงเม็ดเงินในช่วงตลาดเริ่มเติบโต