โรงหนังอเมริกา (ยัง) เหงา ยอดตั๋วหด-หนังฟอร์มยักษ์เลื่อนอีก

หลังจากเลื่อนกำหนดการฉายต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน จนถึงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในที่สุดโรงภาพยนตร์ในสหรัฐส่วนใหญ่ หรือประมาณ 60% ก็สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง พร้อมหนังฟอร์มยักษ์อย่าง “เทเน็ต” (Tenet) ของผู้กำกับมือทอง “คริสโตเฟอร์ โนแลนด์” ที่เคยทำผลงานกวาดเม็ดเงินในตลาดโลกมามากต่อมากแล้ว

อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ผู้ประกอบการโรงหนังแต่ละรายต่างคาดหวังว่าจะสามารถโกยเงินจากบรรดาแฟนภาพยนตร์ชาวอเมริกันที่ห่างหาย และไม่ได้เข้าดูหนังในโรงมานานกว่าครึ่งปี

แต่หลังผ่านมา 2 สัปดาห์ สถานการณ์กลับไม่เป็นไปตามที่คาด เมื่อโรงหนังหลายแห่งยังเงียบเหงา สะท้อนจากยอดขายตั๋วที่อยู่ในระดับไม่ถึง 20% ของช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 ที่ผ่านมา

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานถึงสถานการณ์ในธุรกิจโรงภาพยนตร์ของสหรัฐว่า บริษัทวิจัยคอมสกอร์ ได้เปิดเผยยอดบอกซ์ออฟฟิศของสหรัฐในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (12-13 กันยายน) ระบุว่า ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ 2 วัน โรงภาพยนตร์ในประเทศมียอดขายตั๋วเพียง 15 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นตัวเลขต่ำจนน่าใจหาย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งมียอดถึง 112.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

แม้แต่ภาพยนตร์ที่เป็นความหวังของวงการอย่าง “เทเน็ต” ยังมียอดขายตั๋วรวม 2 สัปดาห์เพียง 29.5 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น ต่ำกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่าจะสามารถทำยอดได้ 35-55 ล้านเหรียญสหรัฐอยู่มาก หลังจากเปิดตัวในระดับน่าผิดหวังด้วยยอดขายตั๋ว 9.4 ล้านเหรียญในช่วงสัปดาห์แรก

ทั้งนี้ แม้โรงภาพยนตร์ทั้งในนิวยอร์กและลอสแองเจลิส ซึ่งถือเป็น 2 ตลาดใหญ่ของวงการภาพยนตร์สหรัฐ และยังเป็นศูนย์รวมแฟนคลับของผู้กำกับคริสโตเฟอร์ โนแลนด์ จะยังปิดบริการอยู่ และมีมาตรการจำกัดจำนวนผู้ชมที่ระดับ 50% หรือน้อยกว่า แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ตัวเลขยอดขายตั๋วนี้ต่ำกว่าที่วงการคาดการณ์เอาไว้มาก

โดยบริษัทวิจัยการตลาดหลายแห่งให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ยอดขายตั๋วระดับต่ำติดดินนี้ สะท้อนว่าแฟนหนังชาวอเมริกันยังไม่พร้อมกลับมาดูหนังโรงอีกครั้ง

บริษัทวิจัย “มอร์นิ่ง คอนซัลต์” ได้เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นในการร่วมกิจกรรมสันทนาการ-บันเทิง เช่น ดูหนังในโรงหนัง ช็อปปิ้งในห้าง เข้ายิม ฯลฯ ของผู้บริโภคชาวอเมริกัน 2,200 คน ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนเมษายน โดยผลสำรวจรอบล่าสุดระหว่างวันที่ 10-13 กันยายนที่ผ่านมา พบว่ามีเพียง 18% ของกลุ่มตัวอย่างที่รู้สึกว่าการไปโรงหนังนั้นปลอดภัย

และตลอดการสำรวจนานกว่า 6 เดือนของจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่มั่นใจในการใช้บริการโรงหนังเคยทำสถิติสูงสุดเพียง 23% ในช่วง 9-11 มิถุนายน ซึ่งเป็นจังหวะที่มีข่าวว่าโรงหนังจะกลับมาเปิดฉาย ก่อนจะถูกเลื่อนออกไปเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในหลายรัฐ หลังวันหยุด Memorial Day การระบาดระลอกใหม่ครั้งนั้นกระตุ้นให้ชาวอเมริกันตระหนักว่า แม้รัฐบาลจะคลายการล็อกดาวน์ แต่ไวรัสไม่ได้หายไปไหน ส่งผลให้ระดับความเชื่อมั่นลดลงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

สอดคล้องกับความเห็นของ “ไมเคิล แพชเชอร์” นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์เว็ดบุช ที่กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่เลือกรอให้มีวัคซีน หรืออย่างน้อยรอจนกว่าให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงไปก่อนที่จะออกไปใช้บริการโรงหนัง ทำให้เชื่อว่ากว่าตัวเลขผู้ชมจะกลับมาเป็นปกติน่าจะต้องรออย่างน้อยถึงช่วงสิ้นปีนี้

ส่วน “เจฟ บล็อก” นักวิเคราะห์ด้านธุรกิจภาพยนตร์ ย้ำว่า ตอนนี้ชาวอเมริกันยังไม่พร้อมจะกลับไปดูหนังในโรง ไปในทิศทางเดียวกับฝั่งสตูดิโอภาพยนตร์-ผู้จัดจำหน่าย โดยสำนักข่าวเดอะนิวยอร์ก ไทมส์ รายงานว่า หลายรายเริ่มกลับลำเลื่อนวันฉายหนังใหม่ออกไปก่อน หนึ่งในนั้นคือ “วอร์เนอร์ บราเธอร์ส” ที่ประกาศเลื่อนฉาย “Wonder Woman 1984” ออกไป จากกำหนดเดิม 2 ตุลาคม เป็น 25 ธันวาคม 2563 แทน

และการประกาศนี้ส่งผลต่อเนื่องให้สตูดิโออื่น ๆ นัดประชุมด่วนเมื่อวันที่ 14 กันยายน เพื่อถกกันเรื่องปรับกำหนดฉายภาพยนตร์ โดยปัจจุบันมีภาพยนตร์ที่เลื่อนฉายไปแล้ว 2 เรื่อง คือ “แคนดี้ แมน” หนังแนวฆาตกรต่อเนื่องของยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ เลื่อนไปฉายปี 2564 และ “กรีนแลนด์” หนังแนวภัยพิบัติของค่ายเอสทีเอ็กซ์ เลื่อนจากกันยายนเป็นปลายปีนี้

ขณะที่ “แบล็กวิโดว์” ของมาร์เวล และ “สายลับ 007” ภาคใหม่ของเมโทร รวมถึง “โซล” ของพิกซาร์ ซึ่งเดิมมีกำหนดฉายเดือนพฤศจิกายนก็เริ่มไม่แน่เสียแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากช่วงที่ผ่านมาสตูดิโอ-ผู้จัดจำหน่ายบางรายตัดสินใจนำภาพยนตร์ใหม่ไปฉายบนสตรีมมิ่ง หรือบริการเช่าออนไลน์ เช่น มู่หลาน และเกรย์ฮาวนด์ หากมีการเลื่อนกำหนดฉาย หรือนำไปเผยแพร่บนออนไลน์เพิ่มอีกจะส่งผลให้โรงหนังในสหรัฐแทบไม่เหลือแม็กเนตมาดึงดูดลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงหนังก็เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่น เพื่อรับมือเช่นกัน “มาร์ก โซราดิ” กรรมการผู้จัดการของซีเนมาร์ก ผู้บริหารโรงหนังกว่า 6,000 สาขาในสหรัฐและละตินอเมริกา อธิบายว่า บริษัททุ่มเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐในมาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งเริ่มเห็นผลแล้ว หลังผลสำรวจผู้ใช้บริการช่วงที่ผ่านมา ลูกค้า 97% ระบุว่า พอใจในมาตรการความปลอดภัย เชื่อว่าหากไม่มีการระบาดระลอกใหม่ บริษัทจะเริ่มตั้งหลักได้ในไตรมาส 4 นี้ และกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้งได้ในปี 2565

สถานการณ์เหล่านี้ทำให้ชะตาของวงการโรงภาพยนตร์สหรัฐอยู่ในภาวะที่ต้องลุ้นระทึกไม่ต่างจากภาพยนตร์ดังเลยทีเดียว