เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ต้นเหตุ…มู้ดจับจ่ายสะดุด

AP Photo/Richard Drew
คอลัมน์ market move

ด้วยการที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2020 นี้มีทีท่าว่าจะกลายเป็นการเลือกตั้งที่กินเวลายาวนานที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เนื่องจากความขัดแย้งเรื่องการยอมรับบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ซึ่งอาจทำให้ต้องใช้เวลานานนับเดือนกว่าจะสามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้

สถานการณ์นี้ส่งผลให้เริ่มเกิดความกังวลว่าสภาพความไม่แน่นอนนี้ อาจทำให้นักช็อปชาวอเมริกันลุ้นตัวโก่งจนลืมหรือไม่มีอารมณ์มาช็อปปิ้งช่วงปลายปีกัน และทำให้เม็ดเงินที่เคยคาดว่าจะสะพัดในช่วงนี้หดหายไป

สำนักข่าว “ซีเอ็นบีซี” รายงานถึงการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์หลายราย รวมถึงสถิติที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งก่อน ๆ โดย “เกรก พอเทล” หุ้นส่วนของบริษัทที่ปรึกษาการวางแผนและบริหารธุรกิจ เคียนีย์ กล่าวว่า ความไม่ชัดเจนของศึกเลือกตั้งครั้งนี้จะส่งผลกับการจับจ่ายของชาวอเมริกันแน่นอน

เพราะศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ชาวอเมริกันไม่ว่าจะฝั่งผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน หรือผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต ต่างรู้สึกมีส่วนร่วมหรืออินกับการเลือกตั้งมากเป็นพิเศษ โดยบางส่วนอาจถึงกับรู้สึกหลังชนฝาหากฝ่ายที่ตนสนับสนุนแพ้การเลือกตั้ง สะท้อนจากกระแสความกังวลว่าอาจเกิดเหตุจลาจลขึ้นหลังประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

“ถ้าเรื่องลุกลามจนเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น การจับจ่ายก็ต้องหยุดชะงักแน่นอน และคงกลายเป็นหยุดยาวท้ายปีที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์”

Advertisment

นอกจากนี้ แม้จะรู้ผลเลือกตั้งแล้ว แต่มู้ดการจับจ่ายอาจยังไม่กลับมาง่าย ๆ เพราะผลสะท้อนที่จะตามมา

“มาร์ก โคเฮน” ผู้อำนวยการภาควิชาค้าปลีก โคลอมเบีย บิสซิเนส สกูล อธิบายว่า มู้ดการจับจ่ายนั้นจะมีได้ก็ต่อเมื่อผู้บริโภครู้สึกสบายใจ พร้อมสนุกสนานกับเทศกาลวันหยุด แต่ตอนนี้ชาวอเมริกัน 100% หากไม่อยู่ในภาวะวิตกกังวล ก็กำลังลุ้นระทึกจนตัวโก่งกับผลเลือกตั้งที่กำลังจะออกมา

และเมื่อผลออกมาแล้วโดยไม่ว่าฝ่ายไหนจะชนะ ก็จะมีชาวอเมริกัน 50% หรือครึ่งหนึ่งที่จะรู้สึกโกรธแค้นกับผลที่ผิดจากที่ตนคาดหวังไว้ จนไม่น่าจะมีอารมณ์ไปจับจ่ายใช้สอยแน่

และแม้จะมีประธานาธิบดีแล้ว แต่สภาพการเมืองที่แต่ละฝ่ายในสภาไม่กินเส้นกันสุดขีดนี้ ทำให้การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปได้ยากอีกด้วย

Advertisment

ขณะเดียวกัน แม้จะถูกข่าวเลือกตั้งกลบไปชั่วคราว แต่โรคโควิด-19 ยังคงระบาดอย่างรุนแรง โดยวันอังคารที่ 3 มีผู้ป่วยรายใหม่ถึง 9.15 หมื่นคน และสถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่ช่วง 7 วันอยู่ที่ 8.36 หมื่นคน/วัน สูงกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าถึง 20% ซึ่งเมื่อกระแสเลือกตั้งจางลง เรื่องนี้น่าจะกลับมาส่งผลกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอีกครั้ง

สอดคล้องกับผลวิจัยของบริษัทวิจัยอะโดบีอนาไลติกส์ที่รวบรวมข้อมูลจากอีคอมเมิร์ซ 80 รายจาก 100 รายหลักในสหรัฐ ซึ่งพบว่า ในช่วงวันเลือกตั้งแต่ละครั้งยอดขายอีคอมเมิร์ซลดลงอย่างชัดเจน เช่น เมื่อปี 2559 ยอดขายหลังวันเลือกตั้งลดลง 14% และลดลง 6% ในวันเลือกตั้งมิดเทอมปี 2561 ขณะเดียวกันผู้บริโภค 26% จากกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คน ระบุว่าผลการเลือกตั้ง
ครั้งนี้จะส่งผลกับจำนวนเงินที่ตนใช้ช็อปปิ้งในช่วงปลายปีนี้

“หากการเลือกตั้งลากยาวกว่าปกติ เช่น เกินช่วงเช้าของวันที่ 4 แล้วยังไม่รู้ผล ผู้บริโภคบางส่วนน่าจะเริ่มชะลอการจับจ่ายแล้ว” เจสัน วู้ดเลย์ รองประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์และแพลตฟอร์มเพื่อการค้าของอะโดบีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจนี้ ฝั่งผู้ประกอบการจำนวน 63% ยังเชื่อมั่นว่ากำลังซื้อจะกลับมาหลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว

ไปในทิศทางเดียวกับความเห็นของ “แมต เช” ประธาน และซีอีโอของสมาพันธ์ค้าปลีกสหรัฐ ที่ยังเชื่อว่าตลาดค้าปลีกสหรัฐจะสามารถรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคมเอาไว้ได้ เนื่องจากมั่นใจว่าผู้บริโภคน่าจะสามารถแยกแยะไม่ปล่อยให้เหตุการณ์ทางการเมือง มาส่งผลกับชีวิตประจำวันของตน ขณะเดียวกันบรรดาสมาชิกสมาพันธ์เองต่างตั้งใจผนึกกำลังทุ่มเต็มกำลังเพื่อปลุกการจับจ่ายในช่วงโค้งท้ายนี้

แม้ผลสำรวจการจับจ่ายของผู้บริโภคที่สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 7,660 คนเมื่อเดือนตุลาคมของทางสมาพันธ์จะพบว่า กลุ่มตัวอย่างวางแผนใช้เงินช็อปปิ้งของขวัญ อาหารและของตกแต่งบ้านช่วงท้ายปี 2564 นี้ประมาณ 997.79 เหรียญสหรัฐ ลดลงเกือบ 50 เหรียญสหรัฐจากปีที่แล้ว

รวมถึงท่าทีของค้าปลีกรายใหญ่อย่างวอลมาร์ต ซึ่งถือว่าเป็นรายที่มีผลงานดีในปีนี้ ที่ปฏิเสธไม่เปิดเผยคาดการณ์ผลประกอบการก็ตาม