MARKET MOVE
เหลือเวลาอีกเพียงเดือนเศษจะถึงพิธีเปิดมหกรรมโอลิมปิก 2020 แต่ชะตากรรมของมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ดูจะเลือนรางยิ่งขึ้นเมื่อสปอนเซอร์รายใหญ่ต่างออกมายื่นข้อเรียกร้องให้เลื่อนการแข่งขันออกไปเป็นช่วงปลายปี 2564 เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะมีผู้ชมจำนวนมากจากทั่วโลกเดินทางเข้ามา และทำให้เม็ดเงินค่าสปอนเซอร์และการตลาดที่ลงไปคุ้มค่ามากที่สุด หลังหลายประเทศกำลังเดินหน้าฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วนในช่วงนี้
สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดกับกลุ่มสปอนเซอร์ว่า ตลอดช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สปอนเซอร์บางรายยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมการจัดงานให้เลื่อนการแข่งขันออกไปเป็นเดือนกันยายนหรือเดือนตุลาคม หวังรอให้สถานการณ์การระบาดคลี่คลายและผู้ชมสามารถเข้าชมการแข่งขันได้
หลังเกิดกระแสความไม่พอใจคุกรุ่นในหมู่สปอนเซอร์จำนวน 47 ราย ที่ทุ่มเม็ดเงินรวมกันไปแล้วกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9.3 หมื่นล้านบาท เพื่อหนุนการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก แต่ผลสำรวจความเห็นของชาวญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา กลับพบว่าประชาชนจำนวนถึง 80% ต้องการให้ยกเลิกหรือระงับการจัดงานไว้ก่อน
ผู้บริหารอาวุโสของหนึ่งในสปอนเซอร์กล่าวว่า ในมุมมองของสปอนเซอร์นั้นการเลื่อนการแข่งขันออกไปจะสมเหตุสมผลมากกว่า เพราะ ณ เวลานั้นผู้คนจำนวนมหาศาลทั่วโลกจะได้รับวัคซีนแล้ว อีกทั้งกระแสต่อต้านจากในประเทศอาจจะเบาบางลง
ในขณะที่สปอนเซอร์อีกรายย้ำชัดว่า บริษัทจะไม่ลงทุนเพิ่มสำหรับการแข่งขันนี้แล้ว ยกเว้นคณะกรรมการจะตัดสินใจเลื่อนการแข่งขันไปเป็นช่วงปลายปี บริษัทจึงจะพิจารณาลงทุนเพิ่มให้
“แค่เลื่อนการจัดออกไปไม่กี่เดือน จำนวนผู้ได้รับวัคซีนทั่วประเทศจะสูงขึ้นมหาศาล ทำให้ความเสี่ยงของงานลดลงตามไปด้วย แต่หากเป็นตอนนี้แค่การนำชื่อบริษัทไปผูกพันกับการแข่งขันก็ยังอาจเสี่ยงเกิน เพราะอาจเกิดคลัสเตอร์การระบาดขึ้นในงาน”
สอดคล้องกับการเปิดเผยของแหล่งข่าวอีกรายที่เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการซึ่งระบุว่า ตอนนี้สปอนเซอร์บางรายตัดใจและจัดให้เม็ดเงินที่ลงทุนกับการแข่งขันครั้งนี้เป็นการลงทุนที่สูญเปล่าไปแล้ว
ทั้งนี้ แต่เดิมโตเกียวโอลิมปิก 2020 ถูกวางให้เป็นมหกรรมกีฬาที่มีเม็ดเงินสปอนเซอร์สูงสุดในประวัติศาสตร์ ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ในญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นธนาคาร, บริษัทประกัน, โบรกเกอร์ และอื่น ๆ ต่างเตรียมจัดแคมเปญการตลาดล้อไปกับการแข่งขัน อาทิ การแจกตั๋วเข้าชม การจัดอีเวนต์โปรโมชั่นในบริเวณสนามแข่งขัน
แต่คณะกรรมการกลับไม่สามารถให้ความชัดเจนได้ว่า จะอนุญาตให้ผู้ชมเข้าชมการแข่งขันหรือไม่ โดยการตัดสินใจเรื่องนี้ต้องรอจนนาทีสุดท้าย ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าจะเป็น 24 มิถุนายน หรือเพียง 1 เดือนก่อนพิธีเปิดการแข่งขัน
ทำให้เกิดภาวะเสียงแตกในหมู่สปอนเซอร์ว่า ควรหนุนให้จัดการแข่งขันตามกำหนดหรือเลื่อนออกไปก่อน โดยหัวเรือใหญ่ของกลุ่มคัดค้านประกอบด้วย “มาซาโยชิ ซอน” ผู้ก่อตั้ง ซอฟต์แบงก์ ยักษ์ธุรกิจโทรคมนาคม และ “ฮิโรชิ มิคิทานิ” ผู้บริหารใหญ่ของยักษ์อีคอมเมิร์ซราคูเท็น
จึงต้องรอลุ้นกันในช่วงเวลาอีกไม่ถึง 50 วันจากนี้ว่าชะตากรรมของโตเกียวโอลิมปิก 2020 จะเป็นอย่างไร และเสียงของบรรดาสปอนเซอร์จะดังแค่ไหน